×

เศรษฐกิจไทยในวิกฤต ยิ่งกู้ยิ่งต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี แต่ต้องเริ่มเมื่อไร?

11.03.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทยในวิกฤต ยิ่งกู้ยิ่งต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี แต่ต้องเริ่มเมื่อไร?

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ปี 2563 ที่ผ่านมา รัฐบาลต้องกู้เงินหลายล้านล้านบาท เพื่อออกมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่เบิกจ่ายทั้งหมด แต่หากดูงบประมาณรัฐที่ขาดดุลมาหลายปี ยิ่งทำให้ไทยต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างรายได้ภาษีในเร็ววัน
  • โครงสร้างรายได้ภาษีไทยยังกระจุกตัวในภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฯลฯ แต่ยังไม่สามารถขยายฐานภาษีอย่างมีคุณภาพ เพราะยังกระจุกตัวในคนบางกลุ่มที่รัฐเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายเท่านั้น ส่วนภาษีที่คาดว่าจะออกมาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีมรดก ยังจัดเก็บได้น้อยมากเมื่อเทียบกับภาษีอื่นๆ
  • ขณะที่การขยายฐานภาษีของไทย คลังต้องหาสมดุลระหว่างภาษีที่ไม่สร้างภาระต่อการดำรงชีพ ต้นทุนในการบริหารจัดการภาษีต้องไม่สูง และต้องสร้างความเป็นธรรมทางสังคมด้วย

‘ภาษี’ เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และเป็นที่กำหนดในหลายประเทศว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต้องเสียภาษีให้รัฐ เพื่อนำไปบริหารจัดการและกระจายกลับสู่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ยิ่งช่วงที่ผ่านมา วิกฤตโควิด-19 ยิ่งสะท้อนว่า เม็ดเงินของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ ดังนั้นลองมาเปิดแหล่งรายได้หลักของประเทศ และแผนการหาเงินที่ประชาชนไทยทุกคนต้องหามาใช้หนี้ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะนำสู่แผน ‘ปฏิรูปภาษี’ ของไทยที่กระทรวงการคลังพยายามทำมาหลายปี

 

เมื่อคลังย้ำว่า ไทยต้องปฏิรูปภาษี แต่ต้องเริ่มเมื่อไร? 

ช่วงที่ผ่านมา แม้นโยบายการคลังจะต้องออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้ง พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จนนำมาสู่คำถามว่า สถานะและภาระการคลังในระยะยาวจะเป็นอย่างไร 

 

จนมีคำตอบจาก อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวไว้หลายครั้งว่า ไทยต้องปฏิรูปภาษี แม้วิกฤตโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุดลง แต่คลังก็มีการศึกษาแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีแล้ว 

 

แน่นอนว่าแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คลังที่มีหน้าที่ดูแลการเงินของประเทศคิดมาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหา ความท้าทายต่างๆ ของประเทศที่กำลังเกิดขึ้น เช่น สังคมสูงวัย การพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รัฐย่อมต้องใช้เงินมหาศาล (อย่างตรงจุด) และแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลไทยในปัจจุบันกว่า 80-90% มาจากภาษี  

 

ด้าน เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เล่าให้ THE STANDARD WEALTH ฟังว่า การปฏิรูปภาษีไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำวันนี้ พรุ่งนี้ แต่ก็สำคัญมาก เพราะงบประมาณของภาครัฐขาดดุลมาหลายปี และตั้งแต่เกิดโควิด-19 รายจ่ายพิเศษก็สูงมาก และหากไม่มีการปรับโครงสร้างรายได้ของไทย การคลังจะยิ่งบริหารจัดการยากขึ้นในปีถัดๆ ไป 

 

ทั้งจากปัญหาสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นแล้วในไทย และการเพิ่มฐานภาษีเป็นโจทย์ที่จำเป็นในระยะกลางและยาว ตอนนี้คลังมาถูกทาง แต่รายละเอียดในการหารายได้ยังต้องดูว่าคลังจะขยายฐานอย่างไร

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

รายได้ของภาครัฐที่ใช้ในไทยส่วนใหญ่มาจากไหน?

ถ้าย้อนดูปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา จะเห็นว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลง 6.2% จากปี 2562 ที่อยู่ราว 2.56 ล้านล้านบาท สาเหตุที่ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งไว้เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ที่รัฐจำเป็นต้องออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนเร่งด่วน แต่ถ้าย้อนดูช่วงที่ผ่านมามีหลายปีที่เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา รายได้ของรัฐก็ลดลงด้วย เช่นปี 2557 และ 2560 ที่การเก็บรายได้ยังลดลง

 

  • ปี 2557 รายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2.07 ล้านล้านบาท ลดลง 4.02% จากปี 2556 ที่อยู่ 2.16 ล้านล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้รัฐบาลสุทธิอยู่ที่ 2.35 ล้านล้านบาท ลดลง 1.6% จากปี 2559 ที่อยู่ 2.39 ล้านล้านบาท

 

ที่ผ่านมาโครงสร้างรายได้หลักเกือบ 90% ของภาครัฐมาจากภาษีใน 3 กรม ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกรมสรรพากร (ข้อมูลในปี 2562) ในปี 2563 จัดเก็บรายได้รวม 1.83 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รองลงมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฯลฯ

 

 

แน่นอนว่าภาษีถือเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการกระจายทรัพยากรที่มีจำกัดให้หลายคน จนเป็นที่มาถึงการปฏิรูปภาษีที่ภาครัฐพยายามมากหลายปี ทั้งข่าวความตั้งใจที่จะขึ้นภาษี VAT (ที่ยังไม่ได้ปรับขึ้นเพราะเศรษฐกิจยังชะลอในหลายปีที่ผ่านมา) รวมถึงการขยายฐานภาษีรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก (ที่ยังจัดเก็บได้น้อยมาก)

 

 

จะแก้ปัญหาภาษีไทย กระดุมเม็ดแรกต้องกลัดให้ตรงจุดอย่างไร? 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เล่าว่า ปัจจุบันการเก็บรายได้ภาษีจาก VAT เป็นหลัก อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ

 

นอกจากนี้การเก็บภาษีของรัฐควรเป็นการเก็บภาษีเพื่อป้องกันการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในบางจุด ซึ่งการปฏิรูปภาษียังต้องดูถึงมิติภาษีที่เป็นเครื่องมือในการลงทุนด้วย เช่น เรื่อง BOI สิทธิทางภาษี เป็นต้น

 

เชาว์ เก่งชน เล่าต่อว่า ปัจจุบันถ้าดูเศรษฐกิจไทยแล้ว แรงงานราว 30% อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งไม่น่าจะอยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงเป็นปัญหาหลักของไทย เพราะตอนนี้เห็นมีส่วนจากแรงงานในภาคบริการ อุตสาหกรรมที่มีนายจ้างและมีเงินเดือนเท่านั้นที่มีรายรับและภาษีหัก ณ ที่จ่ายชัดเจน (ทำให้ระบบการเก็บภาษีง่ายกว่า)

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

แต่ไทยไม่สามารถเก็บรายได้ภาษีได้อย่างชัดเจนนี้ เพราะยังขาดข้อมูลส่วนภาคเกษตรกร หรือกรณีการรับจ้างปลูก ฯลฯ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีเงินได้ แม้ว่าสัดส่วนจะทยอยลดลง แต่ยังมีอยู่จำนวนมาก เหมือนที่เห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาด้านแรงงานมันจะเกิดขึ้นกับภาคเกษตรก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องเสียภาษีทางอ้อม ผ่าน VAT อยู่แล้ว 

 

ช่วงที่ผ่านมาคลังพยายามติดตามในหลายจุด เช่น การซื้อขายออนไลน์ ว่ามีการค้าขายอย่างไร ซึ่งต้องติดตามดูในรายละเอียดว่าคลังจะเดินเรื่องนี้อย่างไร กับใคร และเก็บภาษีเท่าไร โดยต้องไม่เป็นภาระต่อคนที่จ่ายภาษี การจัดเก็บภาษีต้องมีความพอดี

 

“แต่ในหลักการ คลังต้องขยายฐานรายได้ให้มากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้นในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ แม้ในช่วงระยะสั้นจะจัดการได้ เพราะสภาพคล่องยังมีอยู่มาก (ผ่านการตั้งงบฯ กู้ในปีถัดไป) แต่ในระยะข้างหน้าปัญหาการบริหารการคลังอาจจะมากขึ้นและต้องเจอกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย”

 

สุดท้ายแล้วแม้จะเห็นคลังออกมาตรการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ๆ อย่าง ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ตอนนี้ยังน้อยมาก อาจไม่เพียงพอ จึงอาจต้องดูที่ภาคแรงงานที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบ ซึ่งหัวใจสำคัญคือคลังต้องหาสมดุลระหว่างภาษีที่ไม่สร้างภาระต่อการดำรงชีพ ต้นทุนในการบริหารจัดการภาษีต้องไม่สูง และต้องสร้างความเป็นธรรมทางสังคมด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising