วันนี้ (30 มกราคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิดว่า สถานการณ์โรคโควิดของประเทศไทยในสัปดาห์ที่ 4 (22-28 มกราคม 2566) มีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 472 ราย เฉลี่ย 67 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 160 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 99 ราย และผู้เสียชีวิต 29 ราย เฉลี่ย 4 รายต่อวัน ถือว่ามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ผู้เสียชีวิตทั้งหมดยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับเพียง 1 เข็ม ดังนั้นขอให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 มารับวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม เพื่อช่วยลดการป่วยอาการหนักและการเสียชีวิต
สำหรับการเฝ้าระวังโรคยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในสถานพยาบาลและสถานที่เสี่ยง รวมทั้งเตรียมพร้อมรับผู้เดินทางจากต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยประสานภาคการท่องเที่ยวให้มีการตรวจคัดกรองด้วย ATK ในกลุ่มผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกสัปดาห์ และแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ กรณีพบการระบาดในลักษณะคลัสเตอร์ โดยผลการตรวจ RT-PCR ในผู้เดินทางก่อนออกนอกประเทศ ระหว่างวันที่ 8-21 มกราคม 2566 จำนวน 828 ราย พบผู้ติดเชื้อ 33 ราย คิดเป็น 3.99% เป็นคนจีน 12 ราย คนไทย 9 ราย และสัญชาติอื่นๆ 12 ราย
นพ.โอภาส กล่าวต่อไปว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดที่พบในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ยังเป็นสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.75 ถึง 90% ซึ่งภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ชนิดยาว (LAAB) ยังใช้ได้ผลดี เพราะสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัส BA.2.75 ได้ จึงมีการปรับแนวทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึงในกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาก่อน และกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ทั้งในสถานพยาบาลและสถานดูแลผู้สูงอายุ สำหรับประชาชนทั่วไปยังแนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ได้แก่ การฉีดวัคซีนให้ครบ 4 เข็ม หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น รวมทั้งสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และขนส่งสาธารณะ
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า การให้บริการวัคซีนป้องกันโควิดแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติขณะนี้เปิดจุดบริการใน 31 จังหวัด รวม 128 แห่ง แยกเป็น ภาคกลาง 5 จังหวัด, ภาคเหนือ 8 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด, ภาคใต้ 8 จังหวัด, ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคตะวันตก 2 จังหวัด
โดยหน่วยบริการภาครัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ประสงค์จะเปิดให้บริการวัคซีนโควิดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถแจ้งกรมควบคุมโรคและทำเรื่องขอสนับสนุนวัคซีนผ่านต้นสังกัดได้ ส่วนหน่วยบริการภาคเอกชนอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางและรายละเอียดการดำเนินการ ขณะนี้จึงยังไม่มีการอนุมัติให้เปิดบริการ