แม้จะถูกค่อนขอดและตัดส่วนแบ่งรายได้ไปจากผู้ประกอบการหน้าเดิมๆ อยู่บ้าง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าทุกวันนี้ ธุรกิจ Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปันกำลังกลายเป็นเทรนด์ธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมมากๆ โดยเฉพาะในไทย
ด้วยประโยชน์ที่ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนเเต่ก็ได้รับสินค้าและบริการในราคาที่จับต้องได้ ธุรกิจจำพวกบริการขนส่งอย่าง Uber และ Grab บริการที่พักอาศัย Airbnb หรือบริการพื้นที่ทำงานแบบ Coworking Space จึงแผ่ขยายอาณาจักรตัวเองออกไปได้อย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาอันสั้น
ล่าสุด อีกหนึ่ง Sharing Economy ที่กำลังจะเข้ามารุกคืบตีตลาดในไทยอย่างหนักคือธุรกิจ ‘Bike Sharing’ หรือบริการให้เช่าจักรยานสาธารณะ โดยตอนนี้มีผู้ประกอบการถึง 3 รายหลักๆ แล้วที่พร้อมพุ่งกระโจนเข้ามาเป็นผู้เล่นในศึกนี้ได้แก่ โมไบค์ (Mobike), โอโฟ (ofo) และโอไบค์ (oBike) ซึ่งแต่ละรายก็มีวิธีจับกลุ่มผู้บริโภคที่ใกล้เคียงกันซะด้วย
‘เน้นจับกลุ่มแคมปัสมหาวิทยาลัย และเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก’ กลยุทธ์เดินหมากของผู้ให้บริการแต่ละเจ้า
เริ่มต้นที่โมไบค์ ผู้ให้บริการจากจีนรายนี้เข้ามาบุกประเทศไทยด้วยการจับมือเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเอไอเอส (แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน), ซีพีเอ็น (เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด มหาชน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจะเริ่มให้บริการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนเป็นที่แรก ตามด้วยห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และจะขยายพื้นที่ให้บริการในวงกว้างตามเมืองต่างๆ รวมถึงละเเวกห้างสรรพสินค้าเครือเซ็นทรัลในอนาคต
จุดเด่นของโมโบค์คือบริการที่เน้นความสบายของผู้บริโภคเป็นหลัก ผู้ใช้จะสามารถใช้จักรยานได้เมื่อปลดล็อกจักรยานด้วยบลูทูธ (Bluetooth) และการสแกน QR Code ที่อยู่บนจักรยานแต่ละคันด้วยแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน คิดค่าบริการ 10 บาท / 30 นาที (ให้บริการฟรี 2 เดือนแรก กันยายน-ตุลาคม) โดยชำระผ่าน mPay ได้
ส่วนตัวจักรยานใช้เทคโนโลยี GPS ติดตามสถานะและตำแหน่งของจักรยานแต่ละคัน มีนวัตกรรมยางไร้ลมแบน, เฟรมอะลูมิเนียมกันสนิม, ระบบการขับเคลื่อนไร้โซ่ โดยเน้นความสำคัญของการไม่ต้องบำรุงรักษา ซึ่งทุกๆ คันจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 4 ปีแบบไม่ต้องซ่อม เนื่องจากเคลมว่าสามารถผลิตจักรยานใหม่ได้ถึง 100,000 คันต่อวัน
ฝั่งโอโฟก็เป็นผู้ให้บริการอีกเจ้าที่มาจากจีนเช่นเดียวกับโมไบค์ และเพิ่งเปิดให้บริการที่แรกในตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาโดยมีจำนวนจักรยานอยู่ที่ประมาณ 2,000 คัน ก่อนเปิดให้บริการที่จังหวัดภูเก็ตในละเเวกตัวเมืองและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ด้วยจำนวนราว 1,000 คันในเดือนถัดมา
ตัวจักรยานใช้ GPS ติดตามสถานะและตำแหน่งในกรณีที่เกิดปัญหาหรือต้องการการซ่อมแซม ใช้ยางตันเพื่อตัดปัญหาการดูแลลมยางและติดตั้งไฟส่องนำทางพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งตรวจจับการเคลื่อนไหวและติดสว่างแบบอัตโนมัติ
บริการของโอโฟเป็นแบบ IoT (Internet of Things) ปลดล็อกจักรยานด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและแสกน QR Code บนตัวจักรยาน คิดค่าบริการอยู่ที่ 5 บาท / 30 นาที มีค่ามัดจำการใช้บริการ 99 บาท (ขอเงินคืนได้เมื่อยกเลิกการใช้บริการ) ชำระค่าบริการได้ผ่านบัตรเครดิต เดบิต และ BluePay โดยตอนนี้มีโปรโมชันทดลองใช้ฟรีตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงธันวาคม และในอนาคตจะมีฟีเจอร์การสะสมคะเเนนจากการจอดจักรยานตามจุดที่กำหนดเพื่อแลกรับของรางวัลต่างๆ เพิ่มขึ้นมา
ฝั่งผู้ให้บริการรายสุดท้ายอย่างโอไบค์เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากประเทศสิงคโปร์ นำร่องเปิดให้บริการในไทยแล้วในหลายๆ แห่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่จุดสัญจรตามแนวสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ในกรุงเทพฯ ก่อนขยายขอบเขตพื้นที่ให้บริการตามสถานศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต (200 คัน), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เเละล่าสุดในจังหวัดภูเก็ต
โอไบค์คิดค่าบริการ 10 บาท / 15 นาที เปิดใช้บริการได้ด้วยการจองผ่านแอปพลิเคชันและปลดล็อกด้วยการแสกน QR Code เช่นเดียวกับโอโฟและโมไบค์ และใช้เทคโนโลยีการติดตาม GPS เหมือนๆ กัน
ตีตลาดประเทศไทยจะหวังผลได้มากน้อยแค่ไหน?
ท่ามกลางผู้ให้บริการ Bike Sharing ทั้ง 3 เจ้าที่มาเจาะตลาดไทยในปีนี้ สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดที่สุดคือการที่พวกเขาเน้นจับกลุ่มเป้าหมายอย่างนักเรียนนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรตามสถานศึกษาเป็นหลัก เพราะมองว่าน่าจะมีไลฟ์สไตล์ที่ต้องพึ่งพาการขี่จักรยานสูง
เช่นเดียวกับการเลือกภูเก็ตเป็นที่ตั้งหลักในการให้บริการเนื่องจากเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และมีศักยภาพจะกลายเป็น ‘เมืองอัจฉริยะ (Smart City)’ ในเร็ววันนี้
ซึ่งการที่ทั้งโอโฟและโมไบค์ไม่เน้นให้บริการในตัวเมืองกรุงเทพฯ ตั้งแต่แรก (โอไบค์ มีให้บริการตามสถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT บ้าง ส่วนโอโฟเล็งจะเปิดให้บริการรอบเกาะรัตนโกสินทร์เนื่องจากมีเลนจักรยานที่ต่อเนื่อง) คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน เพราะระบบนิเวศในเมืองหลวงของเราไม่เอื้อประโยชน์ต่อการขับขี่จักรยานสักเท่าไหร่
แม้กรุงเทพฯ จะตีเลนขับขี่จักรยานจริงจังในเมืองมาตั้งแต่เมื่อประมาณปี 2551 แต่สุดท้ายไบค์เลน (Bike Lane) ก็ไม่เป็นที่นิยมแม้จะถูกปรับปรุงให้ไฉไลกว่าเดิมอีกครั้งในปี 2558 ขณะเดียวกันเมื่อปี 2554 มูลนิธิโลกสีเขียวก็เคยทำผลสำรวจปัญหาที่ทำให้คนไม่เลือกขี่จักรยานโดยพบว่า 86% ของผู้ที่ทำแบบสอบถามลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจะไม่ขี่จักรยานเด็ดขาดหากรู้สึกว่ายังไม่ปลอดภัย
ด้าน พล.ต.ท. อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม. (ตำแหน่งในช่วงเวลาดังกล่าว) เคยให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ เมื่อช่วงปลายปี 2559 ว่ากรุงเทพมหานครมีเเผนการจะศึกษาความเป็นไปได้ในการยกเลิกเลนจักรยานบางเส้นทาง เนื่องจากมองว่าไม่มีผู้ใช้งานจักรยาน
ส่วน ‘ปั่นปั่น’ โครงการให้บริการจักรยานสาธารณะของกรุงเทพมหานครก็มีผู้ใช้อยู่บ้างในช่วงแรก แต่ปัญหาจุดให้บริการที่กระจายไม่มากพอและทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จต้องจอดคืนที่จุดจอดก็ทำให้โมเดลนี้ดูไม่เวิร์กเท่าที่ควร
ด้วยปัญหาเส้นทางขี่จักรยานที่ไม่ต่อเนื่อง จุดจอดตามสถานที่ต่างๆ ในตัวเมืองที่ขาดแคลน ความอันตราย และการนำขึ้นลงระบบขนส่งสาธารณะที่แสนลำบาก ท้ายที่สุดแล้วเลนจักรยานจึงกลายเป็นเลนจอดรถมอเตอร์ไซค์และที่ตั้งวางร้านค้าแผงลอย
กลยุทธ์ในช่วงนี้ของผู้ให้บริการ Bike Sharing หน้าใหม่ๆ จากต่างประเทศจึงเลี่ยงไปเปิดให้บริการตามแคมปัส สถานที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน และมีโอกาสจะได้ใช้งานจักรยานบ่อยครั้ง เน้นความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคโดยจอดที่ไหนก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าเมื่อใช้งานเสร็จต้องทำการล็อกล้อเพื่อเป็นการสิ้นสุดการคำนวณค่าบริการ และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ได้ปลดล็อกเพื่อเปิดใช้งานต่อ
นอกจากนี้เพื่อป้องกันการสูญหาย จักรยานทุกคันจึงมีการติดตั้งระบบ GPS ที่ใช้ในการติดตามไว้ด้วย โดยแบรนด์ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ชัดเจนที่สุดก็หนีไม่พ้นโมไบค์ เพราะเน้นการไม่ต้องบำรุงรักษา ขณะที่จักรยานทุกคันก็มีอายุใช้งานเต็มที่แค่ 4 ปีเท่านั้น
สุดท้ายแล้วธุรกิจ Bike Sharing จะได้รับความนิยมแค่ไหนและไปได้ดีหรือไม่ในประเทศไทย เราคงต้องติดตามผลกันแบบยาวๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบริการที่คำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้บริโภคเป็นสำคัญมีส่วนช่วยให้คนหันมาใช้บริการจักรยานสาธารณะแบบนี้มากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะในประเทศที่พิสูจน์มาแล้วอย่างจีน
จีนกลายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจบริการจักรยานสาธารณะรายยักษ์ของโลกได้อย่างไร?
ต้องยอมรับว่าจีนเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อมากๆ ในเรื่องของธุรกิจ Bike Sharing ครั้งหนึ่ง The Guardian เคยเปิดข้อมูลสถิติการยืมคืนจักรยานในเมืองหางโจว (Hangzhou) และพบว่าในทุกๆ 1 วินาทีจะมีอัตราการยืม-คืนจักรยานจากธุรกิจ Bike Sharing มากกว่า 278,883 คัน
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Forbes เผยว่าปัจจุบัน 2 ยักษ์ใหญ่ในหมวดหมู่ธุรกิจนี้จากจีนอย่างโมไบค์และโอโฟ มีมูลค่าทางการทำธุรกิจสูงถึงบริษัทละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ซึ่งโอโฟถือเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพรายแรกในธุรกิจบริการจักรยานสาธารณะ (สตาร์ทอัพได้รับตำแหน่ง Unicorn ต่อเมื่อมีรายได้มากถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
โดยปัจจัยสำคัญลำดับแรกสุดที่ทำให้จีนกลายเป็นผู้ประการธุรกิจบริการจักรยานสาธารณะรายยักษ์ของโลกได้นั้นมาจาก ‘ปัญหาการจราจรที่แออัด’
TomTom บริษัทพัฒนาระบบนำทางด้วย GPS ในเนเธอร์แลนด์ที่รวบรวมและเก็บข้อมูลดัชนีการจราจรทั่วโลกระบุว่า จาก 50 อันดับเมืองที่มีปัญหาการจราจรสะสมหนาแน่นสูงสุดของโลกในปี 2017 มีเมืองของประเทศจีนแห่กันติดในลิสต์นี้มากถึง 16 เมือง! (กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 2: อัพเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2017)
เพราะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องปัญหาการจราจรคับคั่งมาแต่ไหนแต่ไร เมื่อมองถึงทางเลือกอื่นที่เลี่ยงการใช้รถส่วนตัวและระบบขนส่งสาธารณะ ‘จักรยาน’ จึงกลายเป็นทางออกที่ดีที่สุดของพวกเขานั่นเอง
ส่วนปัจจัยลำดับที่ 2 คือ ธุรกิจ Bike Sharing จำพวกนี้ถูกดีไซน์รูปแบบบริการออกมาโดยยึดเอาความสบายของผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง ผู้ใช้จะจอดจักรยานที่ไหนก็ได้ตามที่พวกเขาสะดวก ทำให้คนหันมาขี่จักรยานสาธารณะกันมากขึ้น เพราะไม่ต้องหิ้วภาระติดตัวไปทุกๆ ที่เหมือนกับการใช้จักรยานหรือรถยนต์ส่วนตัว
แจ็คกี้ ฮี (Jacky He) หนึ่งในผู้ใช้บริการ Bike Sharing ในจีนให้สัมภาษณ์กับ Forbes ไว้ว่า “ผมหาจักรยานขี่ได้ทุกที่ตามที่ผมต้องการ และผมก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการจอดมันเลยด้วยซ้ำ”
และปัจจัยสุดท้ายคือการได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ร่วมทุนชั้นนำหลายๆ รายทั้งในและนอกประเทศ อาทิ โอโฟที่ได้รับการลงทุนจาก Xiaomi และ Ant Financial ฟินเทคในเครือ Alibaba รวมถึง Huawei บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ในจีนที่ให้ความช่วยเหลือพวกเขาด้านการพัฒนาเทคโนโลยี Internet of Things ใช้ติดตามจักรยาน
เช่นเดียวกับโมไบค์ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจำนวนมหาศาลกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2016 จากบริษัททั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น Panda Capital (แคนาดา), Warburg Pincus (สหรัฐอเมริกา), Hillhouse Capital และ Tencent (จีน), Temasek (สิงคโปร์) และ Foxconn (ไต้หวัน) เป็นต้น
บริษัทรับให้คำปรึกษาด้านธุรกิจอย่าง ‘iiMedia’ ในประเทศจีนได้วิจัยทิศทางการเติบโตของธุรกิจ Bike Sharing โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2017 นี้ ตลาดบริการจักรยานสาธารณะในจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 49,680 ล้านบาท แต่ในอีก 2 ปีข้างหน้าหรือช่วงปลายปี 2019 ตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าเดิมเท่าตัวที่ 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 116,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีแล้วไม่มีข้อบกพร่องเลย เพราะภายใต้รูปแบบบริการที่สะดวกเน้นการใช้จักรยานแล้วจอดที่ไหนก็ได้ก็เป็นการทำลายทัศนียภาพของตัวเมืองของจีนในเวลาเดียวกัน โดยผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือทะเลจักรยานหลายร้อยพันคันที่ถูกจอดทิ้งเรียงรายเป็นจำนวนมากตามสถานที่ต่างๆ
อีริค เหมา (Eric Mao) ผู้จัดการแผนกการตลาดของบริษัท GST อีกหนึ่งบริษัทเจ้าของธุรกิจ Bike Sharing ในประเทศจีนให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่า “มันเป็นปัญหาใหญ่นะกับการที่คุณได้เห็นจักรยานหลายพันคันถูกจอดทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ ในตัวเมืองโดยไม่ได้ใช้งาน เพราะไม่มีใครสนใจจะดูแลมัน ทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามของเมืองถูกทำลาย”
สุดท้ายแล้วเเม้โอกาสและศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจ Bike Sharing ในประเทศจีนจะสดใส แต่พวกเขาก็ต้องเร่งหาวิธีจัดการกับปัญหาที่ตามมาด้วยเช่นกัน แต่หากประเทศไทยสามารถนำโมเดลของบริษัทที่รุ่งเรืองด้าน Bike Sharing ในจีนมาต่อยอดพัฒนาให้สมบูรณ์แบบขึ้นได้ในทุกๆ ด้าน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีงามต่อสิ่งเเวดล้อมและเศรษฐกิจแน่นอน
อ้างอิง
- www.tomtom.com/en_gb/trafficindex/list?citySize=LARGE&continent=ALL&country=ALL
- www.theguardian.com/cities/2017/mar/22/bike-wars-dockless-china-millions-bicycles-hangzhou
- www.ft.com/content/5efe95f6-0aeb-11e7-97d1-5e720a26771b
- www.bbc.com/news/business-40351409
- www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1421332148
- www.web.greenworld.or.th/greenworld/local/1516
- www.punpunbikeshare.com/?page_id=27
- www.bangkokbiznews.com/news/detail/730917
- www.forbes.com/sites/ywang/2017/06/20/worth-1-billion-but-whats-really-driving-chinas-bike-sharing-boom/#3e181a2427e5
- www.citylab.com/transportation/2016/04/why-bike-share-is-really-very-safe/476316
- www.engadget.com/2017/09/21/mobike-dockless-app-bike-sharing-washington-dc
- โมไบค์ เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2559 นับจนถึงตอนนี้ พวกเขาให้บริการครอบคลุม 160 เมืองทั่วโลกได้แก่ จีน, สิงคโปร์, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และไทย มีจำนวนจักรยานกว่า 7 ล้านคน และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 25 ล้านครั้งต่อวัน
- โอโฟ เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2557 ณ ขณะนี้ให้บริการแล้วใน 170 เมืองทั่วโลกได้แก่ จีน, สิงคโปร์, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และไทย มีจำนวนจักรยานกว่า 8 ล้านคัน และมีผู้ใช้บริการมากกว่า 25 ล้านครั้งต่อวัน
- โอไบค์ เปิดตัวในช่วงต้นปี 2560 โดยปัจจุบันมีพื้นที่บริการ 30 เมืองใน 10 ประเทศ เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, ออสเตรเลีย, เยอรมัน, เนเธอรเเลนด์, สเปน, ไต้หวัน และสหราชอาณาจักร และมียอดผู้ใช้บริการในกลุ่มประเทศอาเซียนมากกว่า 2 ล้านคน