×

ไทยเป็นศูนย์กลางขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลก? ขยะโยกจากจีนมาไทย 4 เดือน เกือบ 40,000 ตัน

06.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • จีนเคยเป็นศูนย์กลางขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลก แต่เมื่อจีนมีนโยบายไม่รับขยะเหล่านี้อีกต่อไป ขยะพิษพวกนี้ส่วนหนึ่งจึงมุ่งมาสู่ไทย
  • กระบวนการลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทยจะใช้วิธีแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับวัตถุจริง หรือการสำแดงเท็จ
  • กระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะได้สารที่มีค่าออกมา เช่น ทองแดง เหล็ก ซิลิกอน นิกเกิล และทองคำ

ไทยเป็นศูนย์กลางการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลก?

คำถามนี้ดังขึ้นหลัง พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. นำกำลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบุกจับโรงงานรีไซเคิลขยะอุตสาหกรรมบริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด (สำนักงานใหญ่) จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดเดียวกัน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานแยกขยะ 18 แห่ง แต่มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีการอนุญาตตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเบื้องหลังเป็นนักธุรกิจชาวจีน ร่วมมือกับคนไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับวัตถุจริง หรือการสำแดงเท็จ

 

เมื่อขยะอิเล็กทรอนิกส์มีค่าดั่งทอง

ข้อมูลจากกรีนพีซ (Greenpeace) เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ว่าในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลของประเทศในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และบางรัฐในสหรัฐฯ จัดตั้งระบบ ‘รีไซเคิล’ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา แต่หลายประเทศไม่มีศักยภาพมากพอที่จะจัดการขยะเหล่านี้ ดังนั้นเป้าหมายปลายทางของเศษซากที่เหลือทิ้งจากเทคโนโลยีคือประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งกฎหมายคุ้มครองคนงานและสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ

 

ความต้องการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียเริ่มมีมากขึ้น เนื่องจากคนงานในแหล่งทิ้งขยะต่างๆ พบว่าพวกเขาสามารถคัดแยกสารที่มีค่าออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นทองแดง เหล็ก ซิลิกอน นิกเกิล และทองคำ ในระหว่างกระบวนการรีไซเคิล

 

ข้อมูลจากรายงานเฝ้าระวังขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกประจำปี 2560 ระบุว่า วัสดุที่ใช้ในขยะจำพวกอุปกรณ์สื่อสารจำนวน 435,000 ตัน คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 9.4 พันล้านยูโร (ราว 3.51 แสนล้านบาท)

 

 

Photo: AFP

 

เมื่อศูนย์กลางขยะอิเล็กทรอนิกส์โลกอย่างจีนปิดประตู ขยะจึงมุ่งสู่ไทย

จีน คือแหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเมืองกุ้ยยวี่ (Guiyu) จังหวัดกวางตุ้ง ถือเป็นแหล่งรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประชากรกว่า 150,000 คน ทำอาชีพเดียวกันคือคนงานคัดแยกและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในเมืองเป็นอย่างมาก

 

 

Photo: AFP

 

แต่แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลจีนสั่งยุติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์สู่เมืองกุ้ยยวี่ นโยบายดังกล่าวส่งผลให้เกิดการย้ายอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะสกปรกไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแน่นอนว่าประเทศไทยคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ

 

สำหรับประเทศไทย จากการประเมินของกรมควบคุมโรค คาดว่าไทยมีแหล่งชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กระจายอยู่เกือบ 100 แห่ง ทั้งในจังหวัดกระบี่ กาฬสินธุ์ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครปฐม นนทบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว และอำนาจเจริญ ขณะที่กรุงเทพมหานคร พบพื้นที่คัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนเสือใหญ่อุทิศ เขตจตุจักร

 

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 4 หมื่นตัน ไหลสู่ไทยภายใน 4 เดือน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า เฉพาะช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ไทยนำเข้าขยะพิษเหล่านี้กว่า 37,000 ตัน

 

ขณะที่ช่วงปี 2560 ทั้งปี มีจำนวน 53,000 ตัน รวม 1 ปีกับ 4 เดือน ไทยนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้วกว่า 90,000 ตัน

 

ขยะพิษนำเข้าเหล่านี้ ยังไม่นับรวมขยะพิษที่เกิดขึ้นเองในประเทศไทยซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนน่ากังวลไม่แพ้กัน

 

รายงานเฝ้าระวังขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกประจำปี 2560 ระบุว่า ประชากรประเทศไทย 1 คน ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 7.4 กิโลกรัมต่อปี

 

ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปี 2559 มีขยะอันตรายจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน ซึ่งคาดการณ์ว่าปัจจุบันจะมีซากขยะพิษเหล่านี้ทะลุ 4 แสนตันต่อปี

 

ลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไทย ใช้วิธีสำแดงเท็จ คาดมีเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 61 พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบุกตรวจค้นโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาแปรรูป ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

 

ผลการตรวจค้นพบตู้คอนเทนเนอร์ 4 ตู้ ของ บริษัท ลองลัค พลาสติก แอนด์ เมทัล จำกัด ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรสาคร เบื้องต้นเป็นขยะถุงพลาสติก อัดเป็นแท่งขนาด 1×1 เมตร รวมจำนวน 58 ตัน

 

 

พล.ต.อ. วิระชัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเอกสารนำเข้า พบว่าใช้วิธีการสำแดงเท็จว่าเป็นเศษพลาสติก ทั้งนี้พบว่าขยะพลาสติกเหล่านี้มาจาก ฮ่องกง สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย เยอรมนี เกาหลี เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน ไนจีเนรีย อิหร่าน สเปน เวียดนาม ตุรกี ฝรั่งเศส ปากีสถาน ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ   รวม 35 ประเทศ ส่งมาลงที่ประเทศไทย

 

 

พล.ต.อ. วิระชัย กล่าวว่า จากการหารือกับอธิบดีกรมศุลกากร เชื่อว่าน่าจะมีขบวนการในการลักลอบนำเข้าเศษซากขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายแสนตันเข้ามาในประเทศไทย และอยู่ระหว่างการสอบสวนขยายผลว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือลักลอบนำเข้าหรือไม่ เพราะเท่าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ พบหลายโรงงาน มีการแจ้งสำแดงนำเข้าสินค้าอันเป็นเท็จ และจงใจหลีกเลี่ยงภาษีอากรเข้ารัฐ จึงอยู่ระหว่างการขยายผลว่ายังมีกลุ่มใดอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

 

ไทยเป็นศูนย์กลางการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลก?

 

จากประโยคคำถาม อาจกลายเป็นประโยคบอกเล่า หากไม่เร่งแก้ปัญหาและนำตัวขบวนการลักลอบขนขยะพิษข้ามชาติทั้งหมดมาลงโทษตามกฎหมาย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising