×

‘ไทยติดกับดักสังคมผู้สูงอายุ กฎหมายล้าหลัง คอร์รัปชัน GDP โตต่ำกว่าเพื่อนบ้าน’ จุดอ่อนที่บิ๊กเทคเลือกไปลงทุนเวียดนาม-มาเลเซีย

16.12.2024
  • LOADING...
thailand-aging-society-gdp-lagging

สนั่น ประธานหอการค้า ประเมินผลงาน 90 วัน รัฐบาลแพทองธาร ‘สอบผ่าน’ แม้เจอโจทย์หิน ชี้ไทยยังเผชิญวิกฤตหนี้ กับดักสังคมผู้สูงอายุ กฎระเบียบที่ล้าหลัง คอร์รัปชัน GDP ไทยยังโตต่ำมาก มองปี 2568 เศรษฐกิจของไทยอาจไม่โดดเด่นไปมากกว่าปีนี้ คาด GDP ปีหน้าโตกรอบ 2.8-3.2% ชี้ไทยต้องเร่งแก้ปัญหาปากท้อง สร้างจุดแข็งดึงดูดการลงทุน พัฒนาขีดความสามารถแข่งขัน รักษาเสถียรภาพการเมือง ห่วง FDI ไหลไปเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย 

 

วันนี้ (16 ธันวาคม) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประเมินผลงาน 90 วันของรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ที่ประกาศแผน 11 นโยบาย เพื่อ ‘โอกาส’ ของคนไทย โดยแบ่งเป็น 5 นโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันทีในปีหน้า ประกอบด้วย 

  1. โครงการ SML 
  2. หนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน 
  3. ดิจิทัลวอลเล็ต 
  4. การแก้หนี้ครัวเรือน 
  5. บ้านเพื่อคนไทย

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ผนวกกับ 6 นโยบายเชิงโครงสร้างระยะยาว ประกอบด้วย 

  1. การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง 
  2. การแก้ปัญหาหมอกควันและ PM2.5 
  3. ปัญหายาเสพติด 
  4. การทลายการผูกขาด 
  5. การแก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบ 
  6. นโยบายการลงทุน 

 

ส่วนนี้หอการค้าฯ เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน โดยที่ผ่านมา 90 วันถือว่า “สอบผ่านและได้คะแนนสูง” 

 

ในฐานะภาคเอกชนก็เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจของรัฐบาลแพทองธาร ท่ามกลางความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ตามที่ประกาศนโยบายก็ถือว่าเห็นถึงต้นตอของปัญหา โดยเฉพาะไทยที่ติดกับดักหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ มีหลายเรื่องที่ทำสำเร็จเป็นรูปธรรม ที่เห็นชัดคือด้านการท่องเที่ยวและการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ 

 

“ขอชื่นชมรัฐบาลที่พยายามผลักดันหลายมาตรการ เพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกวีซ่าเข้าไทยกับหลายประเทศทั่วโลก การปรับขั้นตอนและอำนวยความสะดวกคนเข้าเมือง ขณะเดียวกันภายในประเทศก็มีการจัดบิ๊กอีเวนต์และเฟสติวัล ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยเทศกาลสำคัญๆ ของประเทศ”

 

สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี จึงเห็นว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแล้วกว่า 32 ล้านคน หากมีการวางแผนและเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เช่น ในอนาคตจะจัดมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ควรต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้รับข่าวสาร เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เชื่อว่าปีหน้ายอดนักท่องเที่ยวจะกลับมาแตะ 40 ล้านคนแน่นอน

 

ขณะเดียวกัน นโยบายการดึงดูดการลงทุนก็ถือว่ารัฐบาลมีความพยายามดึงบิ๊กคอร์ปเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะโครงการ Data Center, Cloud Service, อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน EV, อุตสาหกรรมใหม่ และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีตัวเลขคำขอการเข้ามาลงทุน ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีและมาถูกทาง

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบางบริษัทมีแผนและการประกาศลงทุนในไทย แต่ตัวเลขการลงทุนจริงกลับเป็นการลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย

 

“ต้องยอมรับว่าเพื่อนบ้านมีข้อได้เปรียบที่อาจจะดึงดูดนักลงทุนไปได้มากกว่า อย่างเช่นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกเลือกไปลงทุนที่เวียดนาม มาเลเซีย จากปัจจัยหลักๆ คือไทยยังขาดแคลนคนที่มีทักษะป้อนตลาดอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งยังมีไม่มากพอ ติดกับดักสังคมผู้สูงอายุ กฎระเบียบที่ล้าหลัง ที่สำคัญคือเวียดนามมีการปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง ราคาค่าไฟฟ้าไทยที่สูง เวียดนาม 2 บาท แต่ไทย 4 บาทกว่า และที่น่าห่วงคือนักลงทุนมองว่าในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียน GDP ไทยยังโตต่ำอยู่มาก สิ่งเหล่านี้คือจุดอ่อนที่ไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถแข่งขัน ต้องรักษาเสถียรภาพการเมืองให้ดี 

 

“ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปี 2568 รัฐบาลต้องเร่งทำ 3 ข้อ คือ 1. ระยะสั้น ต้องวางนโยบายการลงทุนให้ชัดเจน จะทำอย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและกระจายรายได้ออกไปให้เร็วที่สุด 2. แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน 3. ช่วยเหลือภาค SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น

 

“ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือธุรกิจใหญ่ ผมมองว่าปีนี้ภาคธุรกิจเหนื่อยเหมือนกันหมด โดยเฉพาะ SME ยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ สถาบันการเงินไม่ปล่อย กลุ่มเปราะบางลำบากมาก”

 

นอกจากนี้ เราต้องแยกออกเป็น 3 กลุ่มที่ต้องเร่งช่วยเหลือ คือ 1. รัฐบาลต้องหามาตรการจ่ายเป็นเงินสด ไม่ควรรอเพียงแค่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 2. รัฐบาลควรมีมาตรการอื่นๆ เพื่อเร่งกระตุ้นการจับจ่าย เช่น โครงการจ่ายคนละครึ่ง มาตรการนี้ถือว่าครอบคลุมทั้งกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง 3. กลุ่มคนที่มีเงิน เช่น Easy e-Receipt คนมีเงินซื้อแล้วนำไปหักภาษี ตรงนี้จะกระตุ้นได้เร็วและตรงจุด

 

“หอการค้าฯ ขอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า คือการเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีศักยภาพหรือจังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้และความเจริญให้ทั่วถึง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น”

 

ปี 2568 เศรษฐกิจไทยอาจไม่โดดเด่น เห็นด้วยรัฐลดภาษีนิติบุคคล

 

สำหรับปี 2568 หอการค้าฯ ยังประเมินเบื้องต้นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่โดดเด่นไปมากกว่าปีนี้มากนัก 

 

“เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปัญหาสงครามในหลายภูมิภาค การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งยังขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีอิมแพ็กต์ต่อระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ” สนั่นย้ำ

 

ดังนั้น เพื่อเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในช่วงต้นปีแรกของปี 2568 เอกชนจึงอยากฝากให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคี

 

โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงรุก ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวปีหน้าให้เติบโตได้ก้าวกระโดด ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่อย่างการแก้ไขปัญหาหนี้ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการเฉพาะในหนี้แต่ละประเภท ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน 

 

สำหรับภาคการส่งออก ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ขณะเดียวกันก็ต้องขอชื่นชมภาครัฐที่สามารถเจรจาความตกลงการค้าเสรีภายใต้ FTA-EFTA ระหว่างประเทศไทยและสมาคมการค้าเสรียุโรปได้สำเร็จ ซึ่งส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการค้า

 

นอกจากนี้ ภาคเอกชนเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศได้ โดยดูแลการค้าให้เป็นธรรม ไม่เป็นตลาดที่ดัมป์สินค้าไร้คุณภาพ ซึ่งจะทำลายตลาดระยะยาวของประเทศ ทั้งนี้ หอการค้าฯ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า GDP ปี 2568 อาจเติบโตได้ในกรอบ 2.8-3.2%

 

สนั่นกล่าวอีกว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลควรลดภาษีนิติบุคคลให้ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ OECD ภายใต้แนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15% ตามหลักสากล และประกาศใช้กฎหมายไปแล้วกว่า 20-30 ประเทศ 

 

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่เหมาะสมที่ไทยจะขยับภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 15% ซึ่งส่วนนี้จะได้ประโยชน์ ทั้งภาคธุรกิจภายในที่เสียภาษีต่ำจะจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ และมีต้นทุนต่ำ ทำให้สามารถควบคุมการขึ้นราคาสินค้าไม่ให้สูงจนเกินไป นอกจากจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยเชื่อว่าเม็ดเงินที่หายไปจากการลดภาษีจะมีการลงทุนมากขึ้น หากไทยสามารถนำบริษัทที่อยู่นอกระบบภาษีเข้าสู่ระบบได้ 

 

ภาพ: Kanchisa Thitisukthanapong / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising