กสทช. เผยผลประมูลผู้ชนะได้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำนวน 5 ชุด บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น บริษัทลูก บมจ.ไทยคม ชนะคว้าใบอนุญาตได้สิทธิใช้วงโคจรดาวเทียมไป 2 ชุด มูลค่า 797.43 ล้านบาท และ NT ชนะได้ใบอนุญาตไป 1 ชุด ส่วนที่เหลือไม่มีผู้ยื่นประมูล
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผลการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะชุด (Package) โดยเปิดให้ผู้สนใจประมูลจำนวนรวมทั้งสิ้นจำนวน 5 ชุด ทำการเปิดประมูลในวันที่ 15 มกราคม 2566 ซึ่งเริ่มทำการประมูลเมื่อเวลา 10.00 น. และสิ้นสุดลง ณ เวลา 11.36 น. ใช้เวลาทำการประมูลทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 36 นาที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- โบรกฟันธง ‘THCOM’ ไร้คู่แข่งคว้าไลเซนส์วงโคจรดาวเทียมรอบใหม่ คาดยิง ‘ไทยคม 9’ ทะยานสู่อวกาศ หนุนกำไรปีหน้าทะลุ 600 ล้าน
- กสทช. เผยชื่อ 3 รายยื่นประมูลใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ‘ไทยคม’ มาตามนัด แต่ไร้เงา ‘กลุ่มซีพี’ ส่งใบสมัครเข้าประมูล
- อุบัติสงครามดาวเทียม? ‘ซีพี’ ท้าชิง ‘ไทยคม’ รับใบสมัครใช้วงโคจร
ทั้งนี้มีราคาประมูลรวมของชุดข่ายงานดาวเทียมจำนวน 3 ชุดข่ายงานดาวเทียม (Package) มูลค่ารวม 806.50 ล้านบาท โดยมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย คือ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชัน จำกัด ซึ่งบริษัทย่อยของ บมจ.ไทยคม (THCOM), บจม.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด มีรายชื่อผู้ชนะการประมูลในแต่ละชุดเครือข่ายดังนี้
- ชุดที่ 1 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ
- ชุดที่ 2 บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ชนะการประมูลที่ราคา 380.02 ล้านบาท
- ชุดที่ 3 บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ชนะการประมูลที่ราคา 417.41 ล้านบาท
- ชุดที่ 4 บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ชนะการประมูลที่ราคา 9.08 ล้านบาท
- ชุดที่ 5 ไม่มีผู้ยื่นความต้องการ
โดยบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด เป็นบริษัทลูกในเครือของ บมจ.ไทยคม (THCOM) ชนะการประมูลได้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมลักษณะชุด (Package) จำนวน 2 ชุด คือ ชุดที่ 2 และ 3 มูลค่ารวม 797.43 ล้านบาท
ทั้งนี้ กสทช. เปิดการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด โดยถือเป็นการจัดสรรวงโคจรดาวเทียมด้วยวิธีประมูลเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนจากระบบการให้สิทธิจากระบบสัมปทานเป็นระบบใบอนุญาต ทั้งนี้ การประมูลมีเงื่อนไขของผู้ประมูลได้ คือวงโคจรทุกชุดจะต้องแบ่งให้รัฐใช้ 1 ทรานสปอนเดอร์ หากใช้เพื่อให้บริการบรอดแบนด์รัฐที่ 400 เมกะบิต สำหรับแพ็กเกจที่ไม่มีผู้ประมูล กสทช. จะพิจารณาต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร
ด้าน สลิล จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารด้านกฎหมายและเลขานุการบริษัท บมจ.ไทยคม แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ตามที่บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (STI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% ได้เข้าร่วมประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 โดย กสทช. ได้ประกาศผลการประมูลว่า STI เป็นผู้ชนะการประมูลส าหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้
วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ดังต่อไปนี้
- ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร (องศาตะวันออก) 78.5 ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-A2B และ THAISAT-78.5E ราคาสุดท้าย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 380.02 ล้านบาท
- ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร (องศาตะวันออก) 119.5 ข่ายงานดาวเทียม THAICOM-IP1, THAICOM-P3 และ THAISAT-120E ราคาสุดท้าย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) 417.41 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างรอการแจ้งผลประมูลอย่างเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งบริษัทจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบต่อไป