×

‘ไทยเบฟ’ เล็งรื้อแผน IPO ‘ธุรกิจเบียร์’ ในตลาดสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการระดมทุน 6.5 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง เร็วสุดอาจเกิดขึ้นเดือนมีนาคมนี้!

22.02.2022
  • LOADING...
‘ไทยเบฟ’ เล็งรื้อแผน IPO ‘ธุรกิจเบียร์’ ในตลาดสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการระดมทุน 6.5 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง เร็วสุดอาจเกิดขึ้นเดือนมีนาคมนี้!

หลังจากต้องเลื่อนการ IPO ของ ‘ธุรกิจเบียร์’ ภายใต้ BeerCo Group ออกไปเพราะการระบาดของโรคโควิด ล่าสุด Bloomberg ได้รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev เตรียมรื้อแผนการระดมทุนมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.5 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง

 

ผู้ผลิตเบียร์ช้างของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศไทย กำลังทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อวัดความสนใจของนักลงทุนในธุรกิจเบียร์ โดยการขายอาจเกิดขึ้นทันทีในไตรมาสที่ 2 หรือ 3 (มกราคม-มิถุนายน 2022) ของปีงบการเงิน 2022 (ตุลาคม 2021 – กันยายน 2022) ของไทยเบฟ

 

คาดว่า ‘ธุรกิจเบียร์’ ภายใต้ BeerCo Group จะมีมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 3.2 แสนล้านบาท กระนั้นการเตรียมการกำลังดำเนินอยู่ต่อไป แต่รายละเอียดต่างๆ เช่น มูลค่าและเวลาอาจเปลี่ยนแปลงได้ และไม่มีความแน่นอนว่าการ IPO จะดำเนินการต่อไป

 

Bloomberg ชี้ว่า หากการ IPO เกิดขึ้นจริง จะทำให้ BeerCo เป็นการ IPO ที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์นับตั้งแต่ปี 2011 หลังจากที่ Hutchison Port Holdings Trust ซึ่งระดมทุนได้ 5.5 พันล้านดอลลาร์

 

ย้อนกลับไปในวันที่ 30 กันยายน 2021 ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาเปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า การ IPO ของธุรกิจเบียร์เป็นความตั้งใจของไทยเบฟอยู่แล้ว เพื่อเป็นการนำเอาทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องมารวมด้วยกัน 

 

“เดิมจะมีการ IPO ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2020 และเดือนมีนาคม 2021 แต่ด้วยการระบาดของโรคโควิด ทำให้เป็นช่วงเวลาที่เรามองว่ายังไม่เหมาะสม ด้วยไม่อยากทำให้นักลงทุนผิดหวัง” แม่ทัพไทยเบฟกล่าว “แต่เราก็พร้อมจะเดินหน้าทำธุรกิจเบียร์เข้าตลาด เพราะนี่จะเป็นการปลดล็อกมูลค่าตลาดของธุรกิจเบียร์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเวลาและความเหมาะสม”

 

การแถลงข่าวในครั้งนั้น เลสเตอร์ ตัน ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย) ได้เผยว่า แม้ธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยตลาดรวมจะหดตัวกว่า 20% แต่สินค้าหลักอย่างเบียร์ช้างยังสามารถเติบโตได้ดี มีส่วนแบ่ง 40% และ “ช่องวางระหว่างเราน้อยลงเรื่อยๆ เชื่อว่าภายในปี 2025 เราจะเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทยได้”

 

โดยกลยุทธ์ที่จะสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้นั้นมาจากการใช้เทคโนโลยี การทำสินค้าให้แตกต่าง และการทำสินค้าพรีเมียมซึ่งจะช่วยทำให้ได้กำไรมากขึ้น

 

สำหรับผลประกอบการปี 2021 (ตุลาคม 2020 – กันยายน 2021) ‘ไทยเบฟ’ มีรายได้จากการขาย 240,543 ล้านบาท ลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากผลกระทบต่อเนื่องของการระบาดใหญ่และมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดในประเทศไทยและเวียดนาม โดยมีกำไรสุทธิ 27,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิปีที่แล้ว

 

รายได้หลัก 47.8% มาจากธุรกิจสุรา ตามด้วยธุรกิจเบียร์ 41.3% ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีสัดส่วน 6.3% และตามด้วยธุรกิจอาหาร 4.7% แต่หากมองไปที่กำไรสุทธิจะพบว่ามาจากธุรกิจสุรามากที่สุดด้วยสัดส่วน 87.8% ตามด้วยธุรกิจเบียร์ 12.4% ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.8% ส่วนธุรกิจอาหารนั้นขาดทุน

 

เจาะเข้าไปเฉพาะธุรกิจเบียร์พบว่า ปีงบประมาณ 2021 มียอดขาย 99,157 ล้านบาท ลดลง 7.2% มีกำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท ลดลง 11.4% โดยธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยมีกำไรสุทธิเติบโตแม้ปริมาณขายลดลง ส่วนธุรกิจเบียร์ในเวียดนามมีกำไรสุทธิลดลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising