×

เจาะลึกธุรกิจของ ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ เป็นอย่างไรเมื่อโดนโควิดรุมเร้า

30.09.2021
  • LOADING...
ThaiBev

ก้าวสู่ปีที่ 2 ภายใต้กลยุทธ์ ‘PASSION 2025’ กับเป้าหมาย ‘ผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน’ ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมาพร้อมกับความท้าทายของการระบาดของโรคโควิด 

 

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีความต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ทุกธุรกิจต้องมีการตื่นตัวและมีการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อวางแผนรับมือกับวิถีใหม่ในยุค New Normal” ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แม้รายได้เหมือนจะไม่เติบโต แต่สิ่งที่ฐาปนย้ำว่าไทยเบฟทำได้ดีคือ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ตลอดจนการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ EBITDA หรือกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี นั้นยังสามารถเติบโตขึ้นได้

 

สำหรับงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ไทยเบฟมีรายได้ 192,120 ล้านบาท เติบโต 1.1% และมี EBITDA เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 36,638 ล้านบาท

 

“เรายังคงเป็นบริษัทเครื่องดื่มและอาหารที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รวมทั้งเป็นบริษัทในอาเซียนบริษัทเดียวที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของเอเชียในด้านรายได้และมูลค่าทางการตลาด” ฐาปนกล่าว 

 

เจาะลงมาแต่ละธุรกิจเริ่มด้วย ‘ธุรกิจสุรา’ มีรายได้จากการขาย 91,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% ในขณะที่ปริมาณการขายสุรารวมเพิ่มขึ้น 4.2% แม้ว่าจะมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิด เช่น การปิดสถานบันเทิงและร้านอาหารในประเทศไทยชั่วคราว เข้ามากดดันก็ตาม ขณะที่ธุรกิจสุราในเมียนมายังคงทรงตัว

 

ประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา รองผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินและบัญชี ธุรกิจต่างประเทศ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจสุราในภาพรวมยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องมาจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ซึ่งตอบรับกับการบริโภคที่บ้าน มาจากสินค้าหลักของไทยเบฟคือ รวงข้าว ที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดเลย

 

ในปีนี้หงส์ทองได้ปรับบรรจุภัณฑ์ขนาด 350 มล. และ 700 มล. ให้มีภาพลักษณ์หรูหราและทันสมัยมากขึ้น ขณะที่แบรนด์อื่นๆ ก็เติบโตทั้งแสงโสมโต 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า, เบลนด์ 285 ซิกเนเจอร์ โต 26%, เมอริเดียนบรั่นดีเติบโต 39% และคูลอฟ วอดก้า ก็เติบโตและมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 32% ในส่วนของแกรนด์รอยัลกรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดของตลาดวิสกี้ในเมียนมา ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ประกอบกับมีเสถียรภาพของกระแสเงินสด

 

ส่วนเบลนด์ 285 ขวดสีดำ เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะยอดขาย 20-30% มาจากช่องทาง Off Premise เช่น ร้านอาหารและสถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งถูกปิดตัวชั่วคราว โดยปัจจุบันนั้นรายได้ธุรกิจสุรา 90% มาจากไทย ที่เหลือมาจากเมียนมาเป็นหลัก ซึ่ง “เราอยากมีรายได้จากต่างประเทศที่มากขึ้น ถ้าไม่ใช่เมียนมา เราก็สนใจตลาดเวียดนาม” ประภากรกล่าว

 

ด้าน ‘ธุรกิจเบียร์’ ตามข้อมูลที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่เกี่ยวข้องกับโควิดในประเทศไทยและเวียดนาม ทำให้ปริมาณการขายรวมลดลง 1.1% แต่มีรายได้จากการขายจำนวน 80,265 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% และ EBITDA ของธุรกิจเบียร์เพิ่มขึ้น 20.4% เป็น 10,631 ล้านบาท

 

“เราตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์ มีสินค้าเข้าไปทุกตลาด พยายามรุกตลาดกินในบ้านผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น” เลสเตอร์ ตัน ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ (ประเทศไทย) ที่น่าสนใจคือธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยตลาดรวมจะหดตัวกว่า 20% แต่สินค้าหลักอย่างเบียร์ช้างยังสามารถเติบโตได้ดี มีส่วนแบ่ง 40% และ “ช่องวางระหว่างเราน้อยลงเรื่อยๆ เชื่อว่าภายในปี 2568 เราจะเป็นเบอร์ 1 ในประเทศไทยได้”

 

‘เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์’ หรือ NAB มีรายได้จากการขาย 11,688 ล้านบาท แม้ลดลง 6.4% แต่การบริหารต้นทุนอย่างระมัดระวัง ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายทำให้ EBITDA อยู่ที่ 1,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2%

 

“หันมามุ่งเน้นการขายที่ช่องทางร้านค้าปลีกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าปลีกในบริเวณแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ทำงานที่บ้านสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทในร้านค้าใกล้บ้านได้โดยสะดวก ไม่จำเป็นต้องออกไปนอกพื้นที่” โฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ประเทศไทย) ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย กล่าว

 

ขณะเดียวกันยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพการขาย SERMSUK CAMP ช่วยให้พนักงานขายสามารถทำงานผ่านแท็บเล็ต ทำให้สามารถให้บริการร้านค้าได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณขายในช่องทางร้านค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีการออกสินค้าที่เกาะติดเทรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพด้วย

 

สุดท้าย ‘ธุรกิจอาหาร’ ตามรายงานที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ระบุว่า ‘ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคโควิด’ ทำให้มีรายได้จากการขายจำนวน 8,649 ล้านบาท ลดลง 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มาตรการควบคุมต้นทุนร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ทำให้ EBITDA ของธุรกิจเพิ่มขึ้น 2.9% เป็น 773 ล้านบาท

 

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารได้มีการปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง โดยได้ขยายช่องทางการเพิ่มรายได้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เน้นการเปิดสาขาที่อยู่นอกห้างเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้น 24 สาขา ทำให้วันนี้มีสาขาทั้งหมดรวม 673 สาขา (ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) จาก 23 แบรนด์ในเครือ

 

ตัวสาขายังได้ขยายสาขาในรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึง Food Truck ที่มี 10 คัน แบ่งเป็นโออิชิ 8 คัน KFC 2 คัน และร้านแบบ To Go อีก 4 สาขา 

 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรีของเราเอง ประกอบกับขยายช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านพันธมิตรทั้ง Food Aggregator และ E-Marketplace ส่งผลให้ช่องทางเดลิเวอรีเติบโตขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

“เราต้องขยายเพื่อเข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุดผ่านการขยายสาขา แต่ต่อไปนั้นการลงทุนของเราจะไม่หนักอีกแล้ว โดยจะไปแบบตัวเบาและยืดหยุ่น โดยหยิบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย” นงนุชกล่าว “ทั้งหมดก็เพื่อให้เราเป็น Top of Mind และมีรายได้เป็นที่ 1 ภายในปี 2568”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising