‘ไทยเบฟ’ ทุ่ม 8 พันล้านบาท ลุยธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ รับเทรนด์สุขภาพ อาจกระทบตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว พร้อมเร่งขยายร้านอาหาร-เพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้า หลังการปรับโครงสร้างกิจการ ‘Sabeco’ ในเวียดนามสะดุด จากปัญหาคลุมเครือรอบด้าน
Nikkei Asia รายงานว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ระหว่างวางแผนสร้างการเติบโตที่นอกเหนือจากตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนรอบด้าน พร้อมยังต้องเผชิญความยากลำบากในการปรับโครงสร้างการเข้าซื้อกิจการในเวียดนามอีกด้วย
ในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนกันยายน 2565 ไทยเบฟมียอดขายเพิ่มขึ้น 13% หรือ ประมาณ 2.72 แสนล้านบาท มีกำไรสุทธิพุ่งขึ้น 26% เป็น 3.45 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งสัดส่วนยอดขายหลักๆ มาจากธุรกิจเบียร์และสุรากลั่นประมาณ 90% ส่วนร้านอาหารอยู่ประมาณ 10%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยเบฟกล่าวว่า เพื่อขึ้นไปสู่เป้าหมายผู้นำในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มในเอเชียต่อไป เราไม่สามารถมองข้ามโอกาสและศักยภาพของตลาดเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ รวมถึงการเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เนื่องจากโครงสร้างรายได้ในปัจจุบันอาจทำให้การเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นไปได้ยาก รวมไปถึงกระแสผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2023 ไทยเบฟวางแผนลงทุนสูงถึง 8 พันล้านบาท (223 ล้านดอลลาร์) โดยงบประมาณกว่า 30% จะถูกแบ่งใช้ในธุรกิจอาหารประมาณ 1.1 พันล้านบาท ใช้ในการขยายร้าน Kentucky Fried Chicken เพิ่มอีก 70 สาขา ภายในสิ้นปี 2566 จากปัจจุบันที่มีร้านอยู่ประมาณ 700 สาขา เพื่อรองรับช่องทางซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี
ตามด้วยธุรกิจที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 300-400 ล้านบาท และสุรากลั่น 600-800 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้ในด้านโลจิสติกส์ และการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ
รวมถึงการให้ความสำคัญกับธุรกิจชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เบื้องต้นได้เตรียมเปิดสถานีชาร์จ ซึ่งอยู่ในระยะทดลองใช้ที่ร้าน KFC จำนวน 2 สาขา และถ้าได้รับการตอบรับดี จะเริ่มวางแผนเปิดให้บริการในพื้นที่ร้านค้าและศูนย์การค้าอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องเผชิญหน้ากับความคลุมเครือในการขยายธุรกิจในเวียดนามอยู่ หลังจากเข้าซื้อกิจการ Sabeco มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อเจาะตลาดเวียดนาม ด้วยเงินลงทุนประมาณ 4.8 พันล้านดอลลาร์ และอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะโครงสร้างองค์กรของ Sabeco ถูกครอบงำจากรัฐ ที่มีการขัดขวางความพยายามในการปรับโครงสร้างของบริษัท
Masayuki Imai นักวิเคราะห์จาก Aizawa Securities ระบุว่า นับเป็นเรื่องยากที่รู้ได้ว่าผลลัพธ์ที่ไทยเบฟจะได้จากการลงทุนมหาศาลนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Sabeco ไม่คึกคัก หลักๆ มาจากสภาพแวดล้อมของตลาดในเวียดนาม ที่มีกฎหมายการลงโทษเมาแล้วขับเข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคออกไปสังสรรค์นอกบ้านลดลง
แถมยังเจออุปสรรคในการปรับโครงสร้าง เพราะ Sabeco เป็นบริษัทของรัฐบาล จึงมีการต่อต้านการลงทุนจากต่างประเทศ และเกิดความขัดแย้งกันเรื่องสิทธิในการบริหาร หลังจากที่ไทยเบฟเข้าซื้อกิจการ โดยไทยเบฟใช้เวลาเกือบ 1 ปีในการเข้าควบคุมคณะกรรมการบริหารของ Sabeco
ซีอีโอของ Sabeco ออกมายอมรับว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และยังมีหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร เช่น การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และแรงงาน
สำหรับในไตรมาสเดือนเมษายนถึงมิถุนายนปี 2022 Sabeco มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 72.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อนหน้า แต่ในไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายน ยอดขายลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปี 2019 ก่อนเกิดโรคระบาด แม้จะมีการปรับขึ้นราคา แต่ยอดขายไม่ได้ฟื้นตัว เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด
ด้านแหล่งข่าววงในกล่าวว่า รัฐบาลเวียดนามถือหุ้น Sabeco ประมาณ 36% และยังมีอำนาจ ทำให้โครงสร้างเงินทุนยังคงคลุมเครือ และไทยเบฟยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ดั่งใจต้องการ
หากย้อนกลับไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ไทยเบฟได้เลื่อนแผนการเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์หลายครั้ง โดยระบุว่าความล่าช้าเกิดจากภาวะตลาดที่ท้าทายเป็นเวลานาน
อ้างอิง: