ตั้งแต่ 2 มกราคมที่ผ่านมา กลุ่มไทยเบฟได้มีการเขย่าโครงสร้างผู้บริหารระดับสูงครั้งใหญ่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่ ไพศาล อ่าวสถาพร ขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย
“เป้าหมายของธุรกิจอาหารคือการเติบโตขึ้น 2 เท่าภายในปี 2030” ไพศาลกล่าว พร้อมกับเสริมว่า “ในแง่ของรายได้อาจจะไม่ยากนัก แต่ตัวเลขกำไรถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย”
จากรายงานของกลุ่มไทยเบฟต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ระบุปีงบประมาณ 2024 (1 ตุลาคม 2023 – 30 กันยายน 2024) กลุ่มธุรกิจอาหารมีรายได้ 22,288 ล้านบาท เติบโตกว่า 5.5% ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 301 ล้านบาทด้วยกัน ซึ่งภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหารประกอบไปด้วยธุรกิจ 3 ส่วนหลักๆ คือ
- บริษัท โออิชิ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ OISHI ประกอบและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น มีแบรนด์/ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่แข็งแกร่งและหลากหลายมีทั้งสิ้น 284 สาขา นอกจากนี้ยังมีอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมทาน ภายใต้ตราสินค้า โออิชิ อีทโตะ (OISHI EATO) อีกด้วย
- บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ QSA (คิวเอสเอ) ประกอบและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant หรือ QSR) เป็นหนึ่งในผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ซี เคเอฟซี ประเทศไทย ที่มีสาขามากที่สุด หรือกว่า 500 สาขาทั่วประเทศ โดยได้ขยายเพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัวเมื่อเทียบกับตอนที่เข้าซื้อเมื่อราว 4 ปีก่อน
- บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ FOA (เอฟโอเอ) ประกอบและพัฒนาธุรกิจร้านอาหารอย่างครบวงจร ตั้งแต่อาหารไทยทั่วทุกภูมิภาค, อาหารจีน, อาหารอาเซียน, อาหารชาติตะวันตก, รวมไปถึงเค้กและเบเกอรี่ที่มีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ มีสาขาทั้งหมด 63 แห่ง
“สัดส่วนรายได้มากที่สุดคือ QSA รองลงมาเป็น OISHI ซึ่งทำยอดขายต่อบิลได้มากกว่า ส่วน FOA จะเป็นบริษัทที่มีแบรนด์เยอะ แต่มีสาขาไม่มากเพื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่จะเปิดในทำเลที่เป็นของเราเองมากกว่า” ขณะเดียวกันไพศาลได้กล่าวถึงเป้าหมายที่จะทำให้ OISHI กลับมานั่งเป็น King of Japanese Food หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “เราเผลอหลับไปแป๊บหนึ่ง”
ภายใต้การนำของไพศาล กลุ่มธุรกิจอาหารที่รวมๆ แล้วมีไม่น้อยกว่า 30 แบรนด์จะเดินหน้าภายใต้วิสัยทัศน์ ONE FOODS GROUP: ONE FOOD – ONE TEAM – ONE GOAL และเป้าหมายในการดำเนินงานร่วมกันผ่าน 4 เรื่องหลักคือ
- ขยายสาขา: เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่ใหม่ๆ และพัฒนารูปแบบร้านให้หลากหลาย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
- ยกระดับประสบการณ์: สร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดลูกค้าและกระตุ้นยอดขาย
- เสริมศักยภาพ: พัฒนาศักยภาพพนักงานและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน
- มุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืน: ลดปริมาณขยะอาหารและมีส่วนร่วมในกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม
ไพศาลยังได้หยิบยกเทรนด์ร้านอาหารที่จะกลายมาเป็นดาวเหนือในการนำทางให้ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยเพื่อชีวิตเร่งรีบ, ความคุ้มค่าที่ต้องทำถึง, ความลักชัวรีที่เข้าถึงได้, มากกว่าอิ่มท้องคืออิ่มความรู้สึก, เสน่ห์ของความเป็นไทย และเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี
อีกหนึ่งก้าวสำคัญของกลุ่มธุรกิจอาหารไทยเบฟในปีนี้คือการเปิดร้านอาหารภายใต้โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่วัน แบงค็อก ด้วยงบลงทุนรวมกว่า 400 ล้านบาท เพื่อเป็นโชว์เคสรวมแบรนด์ร้านอาหารในเครือไว้ในที่เดียว มากถึง 15 แบรนด์ โดยใช้กลยุทธ์ ‘1 ร้าน 1 แบรนด์’ ไม่แข่งกันเอง แต่เสริมกันครบพอร์ต
ไฮไลต์สำคัญของโพรเจกต์นี้ คือ ‘ช้าง แคนวาส’ ด้วยงบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สู่ Iconic Social Brewhouse แห่งแรกของไทย, ‘สโมสร’ ร้านอาหารไทยร่วมสมัย ที่ตีความรสชาติและบรรยากาศแบบไทยๆ ให้ทันสมัย พร้อมเสิร์ฟประสบการณ์ใหม่แก่กลุ่มลูกค้าเมือง และผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองหาไลฟ์สไตล์ในแบบ Modern Thai Society และ ‘เลิศเหลา’ ร้านเกาเหลาหม้อไฟระดับพรีเมียม ตอบโจทย์คนรักเนื้อ และผู้ที่ชื่นชอบอาหารแนว comfort food แบบมีคลาส
“แผนปีนี้เราจะเปิดให้ครบ 888 สาขาภายใต้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกตามปีงบประมาณของไทยเบฟได้เปิดไปแล้ว 40 สาขา” ไพศาลกล่าวพร้อมเสริมว่า “ในแผนเราจะเปิดแบรนด์ใหม่อีก 2-3 แบรนด์ที่อยู่ในเครือ FOA โดยจะเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงคนทั่วไปเพื่อให้ง่ายต่อการขยายสาขา”