ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องปรับตัวและหันมาจับตลาดใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด นั่นคือ ‘โรงเรียนนานาชาติ’ ซึ่งกำลังเฟื่องฟูสวนทางกับโรงเรียนไทยทั่วไป
ในปี 2567 โรงเรียนนานาชาติขยายตัวถึง 5% สะท้อนความต้องการของผู้ปกครองที่ต้องการมอบการศึกษาคุณภาพสูงระดับสากลแก่บุตรหลาน ทั้งชาวไทยที่มองหาการศึกษาด้านภาษาและระบบที่แตกต่าง รวมถึงชาวต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาเรียนในไทย ทำให้โรงเรียนนานาชาติกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา
บทความนี้จะพาไปเจาะลึกปรากฏการณ์โรงเรียนนานาชาติบูม สำรวจเหตุผลที่ธุรกิจนี้เติบโต กลุ่มเป้าหมายที่ยอมจ่ายค่าเทอมสูง และส่องอาณาจักรโรงเรียนนานาชาติของตระกูลดัง พร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมธุรกิจนี้ถึงกลายเป็นดาวรุ่งและมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต
สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งเด็กเกิดน้อยทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงที่อยู่อาศัยต่างๆ หากพิจารณาจากการซื้อ-ขายหรือการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งมือหนึ่งและมือสองเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ยิ่งไปกว่านั้นผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้เคยพัฒนาแต่โครงการที่อยู่อาศัยมาโดยตลอดก็ต้องหาโอกาสไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ โดยหนึ่งในนั้นคือการลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติเพื่อสร้างรายได้ในระยะยาว
หากสังเกตจะเห็นว่าปี 2567 การขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น 5% ที่ผ่านมากลุ่มทุนใหญ่ๆ ประกาศลงทุนพัฒนาโรงเรียนนานาชาติของรายใหญ่ๆ หลายโครงการ ทั้งในรูปแบบการไปซื้อกิจการหรือเข้าร่วมทุน และการลงทุนดังกล่าวจะเลือกเปิดในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด
ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติบูม พ่อ-แม่ยอมจ่ายแม้ค่าเทอมแพง
โดยกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่จะเป็นคนไทย แม้วันนี้ครอบครัวคนไทยจะมีลูกกันลดน้อยลง แต่คนที่มีลูกแล้วก็อยากให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดีโดยเฉพาะในเรื่องของภาษาต่างประเทศ การเรียนในอีกระบบที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบบพื้นฐานในประเทศไทย
รวมถึงชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ที่ผ่านมาโรงเรียนนานาชาติในจีนติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งในแง่ของหลักสูตรและค่าใช้จ่ายที่ไม่ตอบโจทย์ จึงนิยมส่งลูกมาเรียนโรงเรียนนานาชาติในไทยแทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปรับโครงการใหญ่ในรอบ 20 ปี! ‘สถาบันอาทิตย์ อุไรรัตน์’ หรือ AOI รวบ 4 โรงเรียนนานาชาติไว้ด้วยกัน หวังยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยด้วยค่าเทอมเข้าถึงได้
- เศรษฐีชาวจีนส่งลูกออกไปเรียน ‘โรงเรียนนานาชาติในญี่ปุ่น’ หลังรัฐบาลจีนบังคับใช้หลักสูตรของรัฐเท่านั้น เพื่อปลูกฝังความรักชาติให้กับเยาวชน
- พาชม King’s College International School Bangkok โรงเรียนนานาชาติสัญชาติอังกฤษในประเทศไทยที่ดีที่สุดในเอเชีย [PR NEWS]
นอกจากจีนแล้วยังมีประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่นิยมส่งบุตรหลานมาเรียนในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน เรียกได้ว่าตลาดโรงเรียนนานาชาติมีโอกาสการเติบโต เนื่องจากกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับสูง ต้องการส่งเสริมคุณภาพการศึกษาให้กับลูกหลาน เพราะทุกวันนี้บริบทเปลี่ยนไป พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติ ได้เรียนกับเจ้าของภาษาจริงๆ
แม้ต้องจ่ายค่าเทอมตั้งแต่ระดับแสนบาทขึ้นไปจนถึงหลักล้านบาท แต่ถ้าเทียบกับไปเรียนที่ต่างประเทศค่าใช้จ่ายก็ถูกกว่าเป็นเท่าตัว ดังนั้นโรงเรียนนานาชาติจึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ และยิ่งในวันนี้โรงเรียนนานาชาติไทยก็มีมาตรฐานเดียวกันกับทั่วโลกแล้ว
ส่องตระกูลใหญ่เจ้าของโรงเรียนนานาชาติ
สุรเชษฐยังให้ข้อมูลอีกว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีตระกูลไหนบ้างที่มีโรงเรียนนานาชาติเป็นของตัวเอง เริ่มจาก
- กลุ่มธนาคารกรุงเทพของตระกูลโสภณพนิช นอกจากธนาคารกรุงเทพแล้วยังลงทุนในโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรีเพื่อรองรับรายได้จากการศึกษา และซื้อโรงเรียนนานาชาติบางแห่งเข้ามาเสริมพอร์ตธุรกิจ
- กลุ่มสยามกลการ โดยครอบครัวพรประภา ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีการประกาศแผนการลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติ ด้วยการดึงโรงเรียนนานาชาติไฮเกตจากสหราชอาณาจักรมาเปิดในประเทศไทย โดยจะเปิดในจังหวัดชลบุรี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนสิงหาคม 2569
- กลุ่มซีพีของตระกูลเจียรวนนท์ โดยหนึ่งในธุรกิจในประเทศไทยที่เปิดมามากกว่า 20 ปีคือ โรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน แต่เป็นเพียงการลงทุนส่วนตัวของ ‘วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์’ ที่เป็นผู้ก่อตั้ง
- กลุ่มธุรกิจบีทีเอสของตระกูลกาญจนพาสน์ โดย คีรี กาญจนพาสน์ ใช้ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทในเครือร่วมทุนกับทาง บริษัท ฟอร์จูน แฮนด์ เวนเจอร์ ลิมิเต็ด จากฮ่องกง เปิดให้บริการโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ เมื่อปี 2563
- กลุ่มสหพัฒน์ของตระกูลโชควัฒนา เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจการศึกษา โดยขอเข้ามาถือหุ้นโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ เมื่อปี 2563 ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์
- กลุ่มปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้งเด่นหล้ากรุ๊ป โรงเรียนเด่นหล้าเปิดมานานเกิน 10 ปีแล้ว และได้ลงทุน 600 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติ DLTS เพื่อต่อยอดจากธุรกิจโรงเรียนของตนเองและรองรับความต้องการโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มมากขึ้น
- บริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู๊ด จำกัด และ บริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของสองพี่น้องตระกูลธรรมวัฒนะ ร่วมกันลงทุน 1.2 พันล้านบาท เปิดโรงเรียนไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล นำทัพการบริหารโดย มัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ ที่มีประสบการณ์การบริหารโรงเรียนสาธิตเกษตรนานาชาติมานานกว่า 17 ปี
- บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดยกลุ่มอัสสกุล นอกจากจะมีธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตแล้วยังมีการลงทุนโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ที่เขาใหญ่และกรุงเทพฯ
- บริษัท อาร์ทูดีวัน จำกัด ที่มี เพ็ญศิริ ทองสิมา เป็นผู้บริหาร เปิดโรงเรียนนานาชาติเบซิส บนถนนพระราม 2 โดยร่วมมือกับ บริษัท บีไอเอสบี จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.5 พันล้านบาท
- บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลเตชะอุบล มีการออกข่าวว่าจะพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสบนถนนพระราม 3 ด้วยเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยมีส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติพระราม 3 ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการเปิดโรงเรียน Oxford International College Brighton ที่อังกฤษ ร่วมกับ Nord Anglia Education
สุรเชษฐย้ำว่า ในปีนี้อาจมีนักลงทุนหรือบางตระกูลที่มีแผนจะพัฒนาโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจรอการเจรจาเพื่อความร่วมมือบางอย่างอยู่จึงยังไม่ประกาศออกมา
ยิ่งเก่งภาษายิ่งได้เปรียบบนเวทีโลก
เช่นเดียวกับ วอลเตอร์ ลี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสามภาษาจื้อ-เล่อ พัฒนา และประธานกลุ่มบริษัทจื้อ-เล่อ แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ปกครองหลายๆ คนอยากให้บุตรหลานเข้าถึงการเรียนรู้ด้านภาษามากขึ้น ยิ่งถ้าได้ 2-3 ภาษาขึ้นไปจะมีโอกาสในเส้นทางการทำงานมากกว่า ทำให้โรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนสอนภาษาเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ของผู้ปกครอง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาที่มีคุณภาพในไทยมักจะมีค่าใช้จ่ายสูงทำให้เข้าถึงได้แค่กลุ่มที่มีกำลังซื้อเท่านั้น จากปัจจัยดังกล่าวทำให้กลุ่มบริษัทจื้อ-เล่อ เปิดโรงเรียนสามภาษาจื้อ-เล่อ ศิริเพ็ญ พัฒนา บนถนนรามคำแหง เป็นโรงเรียนแห่งแรกของโรงเรียนสามภาษาจื้อ-เล่อ พัฒนา โดยในปีการศึกษา 2568 เปิดรับเด็กอายุ 2-11 ขวบ เน้นสอนหลักสูตรสามภาษา ไทย อังกฤษ และจีน ในราคาที่เข้าถึงได้
“เชื่อว่าทักษะของการเรียนหลายภาษาจะช่วยให้นักเรียนสามารถออกไปแข่งขันบนเวทีโลกได้ ท่ามกลางโลกการทำงานที่มีการแข่งขันสูง”
โรงเรียนไทยเริ่มลดลงเรื่อยๆ
ทั้งหมดสอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทยยังคงเติบโตสวนทางกับภาพรวมจำนวนนักเรียนและโรงเรียนในไทยที่มีการหดตัวตามแนวโน้มของสถิติการเกิดที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ปกครองที่มีศักยภาพให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น ทำให้ความนิยมโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สะท้อนจากตัวเลขจำนวนนักเรียนของโรงเรียนนานาชาติเติบโตเฉลี่ย 6.9% ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2567 ตลาดโรงเรียนนานาชาติมีมูลค่ามากกว่า 8 หมื่นล้านบาท เติบโต 13% จากปีก่อนหน้า จากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น เนื่องจากพื้นที่ที่จำกัดในเมืองหลวงและการแข่งขันของจำนวนโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่เริ่มหนาแน่น โดยตลาดใหม่ที่น่าสนใจคือในหัวเมืองหลัก เช่น ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งเป็นตลาดที่เริ่มมีศักยภาพ และมีจำนวนครัวเรือนรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อเดือนขึ้นไปมากขึ้น
เรียกได้ว่าการเติบโตของโรงเรียนนานาชาติสวนทางกับโรงเรียนในไทย โดยปี 2567 ลดลงถึง 0.5% หรืออยู่ที่ 33,098 โรงเรียน เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 มีโรงเรียนบางแห่งต้องปิดตัวลงทั้งโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทย