×

ไทยยูเนี่ยนฯ แจ้งกำไรไตรมาส 1/66 ทรุดหนัก 41.5% หลังไร้รายการพิเศษช่วย แถมยอดขายร่วง 10% หลังดีมานด์ซื้อชะลอตัว

03.05.2023
  • LOADING...
ไทยยูเนี่ยน กำไร

บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 เหลือ 1,022 ล้านบาท ลดลง 41.5% หลังไม่มีรายการพิเศษช่วยหนุน-ขาย IPO และบริษัทลูก ICT ทำกำไรลดลงตามสัดส่วนหุ้น ประกอบกับยอดขายร่วง 10% พร้อมคาดผลงานไตรมาส 1/66 เป็นจุดต่ำสุด

 

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/66 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,022 ล้านบาท ลดลง 41.5 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,746 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดลงของกำไรขั้นต้น และมี 2 รายการที่ไม่สามารถเทียบได้ที่ถูกบันทึกงบการเงินในปี 2565 ได้แก่

 

  1. ในไตรมาส 1/66 บริษัทไม่มีการบันทึกรายได้อื่นจากหุ้นบุริมสิทธิของ Red Lobster เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิ เทียบกับที่มีการบันทึกจำนวน 239 ล้านบาทในไตรมาส 1/65

 

  1. Dilution Effect หลังบริษัทลูกคือ บมจ.ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น หรือ ITC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ทำให้สัดส่วนหุ้นที่บริษัทถือครองมีสัดส่วนลดลงจาก 99.5% เหลือ 77.81% ส่งผลให้การบันทึกกำไรจาก ITC ลดลงตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง

 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกำไรสุทธิไตรมาส 1/66 ที่ไม่นับรวม 2 รายการนี้ กำไรสุทธิจะลดลง 21.8%

 

“คาดการณ์ไว้ว่า ไตรมาสแรกของปีนี้จะเป็นไตรมาสที่อ่อนตัวที่สุด เนื่องจากมียอดขายอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบในปีที่ผ่านมา สินค้าคงคลังของลูกค้าอยู่ในระดับที่สูง และสถานการณ์ค่าขนส่งปรับตัวสู่ภาวะปกติ 

“มองว่าปี 2566 ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี เริ่มมีสัญญาณเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 คาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับสู่สภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากกระแสการบริโภคอาหารทะเลและโปรตีนที่ดีต่อสุขภาพยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลก”

 

สำหรับยอดขายรวมของบริษัทอยู่ที่ 32,652 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ยอดขายมีความแข็งแกร่ง เป็นไปตามคาดการณ์ของบริษัท สาเหตุจากความต้องการสินค้าปรับตัวลงทั่วโลก จากการที่คู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ มีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ทำให้การสั่งซื้อสินค้าชะลอตัวลง

ขณะที่ผลจากการที่ตลาดทั่วโลกมีสินค้าคงคลังอยู่ในปริมาณที่สูงและราคาปลาที่สูง ทำให้ความต้องการสินค้าต่างๆ ปรับตัวลง รวมถึงยอดขายในไตรมาส 1/66 ของธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋องของไทยยูเนี่ยนที่ลดลง 1.9% อยู่ที่ระดับ 15,225 ล้านบาท และยอดขายของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงลดลง 21.9% อยู่ที่ระดับ 3,495 ล้านบาท 

ซึ่งบริษัทคาดว่าความต้องการสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์สินค้าคงคลังที่มีอยู่มากได้ค่อยๆ คลี่คลายลงอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็นมียอดขายอยู่ที่ระดับ 11,684 ล้านบาท ลดลง 15.3% จากการปรับตัวของราคาอาหารทะเลในตลาดสู่ภาวะปกติและยอดขายในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง  

 

ส่วนธุรกิจสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่นๆ มียอดขายอยู่ที่ 2,248 ล้านบาท ลดลง 9.5% แต่ยังสามารถคงอัตรากำไรขั้นต้นได้แข็งแกร่งอยู่ที่ระดับ 27.3% 

 

ไทยยูเนี่ยนยังได้เปิดตัวสินค้าใหม่ที่พัฒนาด้วยนวัตกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในวงกว้างขึ้น เช่น เปิดตัวผลิตภัณฑ์ทูน่าจากพืชภายใต้แบรนด์ จอห์น เวสต์ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Red Lobster ได้เปิดตัวสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งเป็นครั้งแรก ซึ่งมีวางจำหน่ายในร้านค้ากว่า 5,000 แห่ง และออนไลน์ทั่วสหรัฐอเมริกา

 

ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายจากตลาดต่างๆ ทั่วโลกนั้น ไทยยูเนี่ยนมีสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค ดังนี้ 

 

  • สหรัฐอเมริกาและแคนาดาอยู่ที่ 43%
  • ยุโรป 26%
  • ประเทศไทย 12
  • ภูมิภาคอื่นๆ 19%

 

“เรายังเน้นเรื่องความสามารถในการทำกำไรและวินัยทางการเงิน เดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มที่ตลอดปีนี้ สถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งด้วยสัดส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ที่ 0.57 เท่า ซึ่งดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ระดับ 1-1.1 เท่า เปิดโอกาสให้สามารถมองไปข้างหน้าสู่การลงทุนใหม่ๆ ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่จะตอบโจทย์ด้านกลยุทธ์ให้กับบริษัท” ธีรพงศ์กล่าว

 

นอกจากนี้ยังคงลงทุนในโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วยงบลงทุน 6-6.5 พันล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในทุกประเภท มีการก่อสร้างโรงงาน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทาน, ติ่มซำและสินค้าเบเกอรี, โรงงานผลิตโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจนเปปไทด์ และโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกและขนมกินเล่นที่มีไลน์การบรรจุหีบห่อแบบอัตโนมัติ รวมทั้งห้องเย็นอีกหนึ่งแห่งในประเทศกานา

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising