ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นทั่วโลก วันนี้ (25 เมษายน) ต่างปรับตัวลงในทิศทางเดียวกัน หลังจากที่มีสัญญาณการปรับฐานตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยดัชนี Dow Jones Futures ลดลงประมาณ 1,000 จุด ก่อนที่จะปรับลงต่ออีกกว่า 200 จุดในเช้าวันนี้
สำหรับดัชนีหุ้นไทย (SET) เปิดที่ระดับ 1,677.55 จุด กระโดดลง 13.04 จุด หรือลดลง 0.8% จากวันทำการก่อนหน้า เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นสำคัญทั้งหมดในเอเชียที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า โดยตลาดหุ้นสำคัญอย่าง Shanghai จีน -2.6%, Hang Seng ฮ่องกง -2.6%, Nikkei225 ญี่ปุ่น -1.9% ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็ปรับตัวลงมากกว่า 1%
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กลยุทธ์ลงทุนช่วง ‘หุ้นไทย’ มี Downside และเผชิญปัจจัยลบรุมเร้า
- SCBS มอง ‘หุ้นไทย’ ซึมยาวตลอดไตรมาส 2 รับแรงกดดันเงินเฟ้อพุ่ง-นโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น แนะหลบภัยในหุ้น 3 กลุ่ม
- หุ้น ‘น้ำมันปาล์ม’ บวกยกแผง! หลังอินโดนีเซียระงับส่งออกจนกว่าจะแก้ปัญหาขาดแคลนในประเทศได้สำเร็จ
บล.กรุงศรี ประเมินว่า ดัชนี SET มีโอกาสอ่อนตัวลงสู่แนวรับ 1,670-1,680 จุด จากแรงกดดันคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน เพื่อสกัดเงินเฟ้อระดับสูง ส่งผลให้ US Bond Yield 10 ปี และ VIX Index พุ่งขึ้นซึ่งเป็นลบต่อภาวะการลงทุน
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเริ่มเกิดภาวะ Invert Yield Curve ขึ้นอีกครั้งเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธฐบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีปรับตัวขึ้นสูงกว่าอายุ 10 และ 30 ปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าแรงซื้อหุ้นดักผลประกอบการไตรมาส 1 และหุ้นที่มีข่าวบวกเฉพาะตัวจะช่วยหนุนให้ดัชนีสลับฟื้นตัวได้
ด้าน บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงทุกดัชนีกว่า 2% โดยนับเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน ที่ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ปรับตัวลง ขณะที่ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 โดยปัจจัยกดดันมี 2 ส่วน ดังนี้
- บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ คาดการณ์ผลประกอบการที่อ่อนแอกว่าคาด ซึ่งในสัปดาห์นี้มีกว่า 180 บริษัทที่จะรายงานผลประกอบการ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 50% ของมูลค่าตลาด
- นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจาก เจอโรม พาวเวลล์ สนับสนุนให้ Fed เนินการเร็วขึ้นเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ และระบุว่ามีโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม หาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% จริง ถือเป็นครั้งแรกที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% นับตั้งแต่ปี 2543
รวมถึงการประชุม FED Minutes ครั้งก่อนมีการส่งสัญญาณว่า Fed จะลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์อีกด้วย จึงทำให้ความกังวล Inverted Yield Curve กลับมาอีกครั้ง โดย Bond Yield ระยะ 2-5 ปีเร่งตัวขึ้นมาเร็วกว่าระยะยาว ทำให้มีโอกาสเห็น Inverted Yield Curve ได้หลายคู่