ตลาดหุ้นไทยยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง วันนี้ (17 ตุลาคม) ดัชนี SET พุ่งแตะ 1,498.61 จุด สูงสุดในรอบ 13 เดือน ก่อนที่ดัชนีจะปิดที่ 1,495.02 จุด เพิ่มขึ้น 10.01 จุด จากวันทำการก่อนหน้า
พิริยพล คงวาณิช ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์พื้นฐานสายงานวิจัย บล.บัวหลวง กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังอยู่ในโมเมนตัมเชิงบวก หนุนจากทั้งมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ แรงซื้อจากกองทุนวายุภักษ์
“แต่ปัจจัยเหล่านี้ค่อนข้างเป็นปัจจัยระยะสั้น” พิริยพลกล่าว
อย่างไรก็ดี จากสถิติที่ผ่านมาดัชนี SET มีโอกาสจะปรับตัวขึ้น 4-6% หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มลดดอกเบี้ย ทำให้ดัชนีมีโอกาสจะวิ่งขึ้นไปถึง 1,550 จุด
พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์ว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้ง ใน 2 การประชุมครั้งถัดไป เดือนธันวาคมและมกราคม ครั้งละ 0.25%
โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่คิดเป็น 60-70% ของ GDP และการท่องเที่ยวประมาณ 10-20% ถ้าต่างประเทศชะลอเราจะได้รับผลกระทบไปด้วย
พิริยพลกล่าวต่อว่า หากมองภาพรวมของเศรษฐกิจโลกช่วงต้นไตรมาสที่ 4 น่าจะยังดี แต่หลังจากกลางไตรมาสที่ 4 ไปจนถึงต้นปีหน้าเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังการลงทุน เพราะเริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแอหลายด้านจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่
การบริโภคของสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแอ หลังยอดค้างชำระบัตรเครดิตสูงสุดในรอบ 12 ปี ขณะที่ระดับเงินออมลดลงมาต่ำกว่าช่วงโควิด ขณะที่การจ้างงานแบบประจำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และต่ำเท่ากับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจรอบก่อนๆ
ส่วนเศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยไม่แน่นอนอื่นๆ เช่น การเลือกตั้งสหรัฐฯ และสงคราม
กลยุทธ์การลงทุนสำหรับหุ้นไทยช่วงนี้ควรมุ่งไปยังกลุ่มหุ้นปลอดภัย (Defensive) ได้แก่ สินค้าจำเป็น, โรงพยาบาล, โรงไฟฟ้า และสื่อสาร ขณะเดียวกันควรทยอยสะสมตราสารหนี้เพื่อรับมือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี 2568 จะเป็นช่วงเวลาในการเลือกซื้อหุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) อีกครั้ง โดยมุ่งไปยังหุ้นสหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม
หวัง ‘วอลุ่มเทรด’ กลับมาคึกคัก
พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง มองว่า การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยต่อวันน่าจะกลับมาสู่ระดับ 5-6 หมื่นล้านบาท
กลุ่มไฟแนนซ์รับอานิสงส์ลดดอกเบี้ย
กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ในครั้งนี้เร็วกว่าที่คาดไว้ เพราะแต่เดิมเราไม่คาดว่าจะลด และคาดว่าจะคงดอกเบี้ยที่ 2.5% โดยทั่วไปแล้วหากดอกเบี้ยลดลงกลุ่มไฟแนนซ์จะได้ประโยชน์ และกลุ่มแบงก์ก็จะเป็นกลุ่มที่เสียประโยชน์
ทั้งนี้ธนาคารต่างๆ น่าจะปรับลดดอกเบี้ยตามในรอบนี้ เนื่องจากภาพเศรษฐกิจที่เปราะบางจึงต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นและลดภาระค่าใช้จ่าย และมองว่าผลประกอบการกลุ่มธนาคารจะออกมาในรูปแบบชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบไตรมาสก่อน
ด้าน กิจพัฒน วงษ์เมตตา ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์พื้นฐาน กลุ่มพลังงานและเทคโนโลยี บล.บัวหลวง กล่าวว่า หุ้นอีก 2 กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าและสื่อสาร ทั้งจากราคาพื้นฐานที่น่าจะได้รับการปรับขึ้น จากการประเมินด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ขณะเดียวกันการลงทุนในโครงการใหม่ๆ จะมีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง
นอกจากนี้เงินบาทที่แข็งค่าจากราว 36 บาทต่อดอลลาร์มาสู่ 33 บาทต่อดอลลาร์ จะเป็นอีกปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเช่นกัน เพราะจะช่วยให้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) ลดลงประมาณ 15-20 บาทต่อ 1 ล้านบีทียู