ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงรุนแรงในวันนี้ จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้น ผนวกกับกระแสข่าวการยกระดับควบคุมการเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งกดดันการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยลบจากต่างประเทศในเรื่องการปรับนโยบายทางการเงินและการคลังสหรัฐฯ ที่ล่าสุดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่เริ่มเสียงแตกในกลุ่ม ส.ว. ซึ่งกดดันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
นักวิเคราะห์เชื่อภาครัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ และจะไม่กลับไปใช้นโยบายล็อกดาวน์ หรือเคอร์ฟิวการเดินทาง เหมือนในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ เนื่องจากค่อนข้างสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ
โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า SET Index อาจจะปรับลงมาทดสอบระดับ 1,600 จุดอีกครั้งเพื่อตอบรับปัจจัยเรื่องโควิดรอบนี้ จากนั้นทยอยฟื้นตัว แต่กรณีเลวร้ายสุดและทำให้ต้องกลับไปล็อกดาวน์ SET Index จะหลุดระดับ 1,600 จุดอย่างแน่นอน
สำหรับตลาดหุ้นไทยวันนี้ (20 ธันวาคม) ดัชนีปิดตลาดที่ระดับ 1,615 จุด ลดลง 25.93 จุด หรือ 1.58% มูลค่าการซื้อขายรวม 82,357 ล้านบาท ระหว่างวันดัชนีปรับลดลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 1,612.96 จุด ลดลง 28.77 จุด โดยหุ้นที่ปรับลดลงหนักคือกลุ่มพลังงาน กลุ่มที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว และกลุ่มธนาคาร
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วนั้นเป็นปัจจัยลบที่เกินกว่าคาดการณ์ และทำให้ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลดลงแรง
ประกอบกับล่าสุดมีกระแสข่าวเรื่องการยกระดับนโยบายควบคุมการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จนทำให้เกิดความวิตกว่าหากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อาจทำให้กลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น SET Index จะหลุดระดับ 1,600 จุดอย่างแน่นอน โดยประเมินแนวรับสำคัญไว้ที่ 1,580 จุด
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาครัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ เนื่องจากมีการติดตามบุคคลสัมผัสใกล้ชิด ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและการตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วและครอบคลุม
และในกรณีที่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เร็ว หรือภายใน 1 เดือน ก็จะทำให้ SET Index ปรับลงระยะสั้นและซื้อขายในระดับใกล้เคียง 1,600 จุด เนื่องจากนักลงทุนจะยังติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อยู่ต่อเนื่อง
“กรณีเลวร้ายคือ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ในระยะ 1 เดือนจากนี้ และนำไปสู่การล็อกดาวน์ ดัชนีจะหลุด 1,600 จุดแน่นอน และไปลุ้นที่แนวรับ 1,580 จุด แต่ในภาพเศรษฐกิจจริงจะเสียหายมากๆ เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีบาดแผลจากการแพร่ระบาดระลอกก่อนที่ยังไม่ได้หายดี หากต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง ประเมินว่าภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยวน่าจะเสียหายอย่างมาก”
มงคลกล่าวเพิ่มว่า จังหวะที่รอติดตามความชัดเจนของสายพันธุ์โอไมครอนนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่รับผลกระทบจากโควิดสูงโดยตรง เช่น กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม สายการบิน และค้าปลีก รวมไปถึงกลุ่มที่รับผลกระทบทางอ้อม เช่น กลุ่มน้ำมันและปิโตรเคมี ที่แนวโน้มราคาพลังงานอาจจะปรับสูงขึ้น รวมถึงกลุ่มธนาคารที่มีความเสี่ยงจาก NPL มากขึ้นหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวตามคาด
ขณะที่ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกได้รับแรงกดดันจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ทั้งการเปลี่ยนโทนของนโยบายการเงินของ Fed ที่รับรู้กันตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว และล่าสุดนโยบายการคลังอย่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจการคลัง (Build Back Better: BBB) มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกคาดหวังไว้สูง ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักโดย โจ แมนชิน วุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต ซึ่งจะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สุ่มเสี่ยงต่อการชะลอตัวในปี 2565
สำหรับตลาดหุ้นไทยเอง แม้ภาพรวมจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยข้างต้น กล่าวคือ จะมีความน่าสนใจในแง่ของหลุมหลบภัยระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic Play ที่จะได้เปรียบที่สุดในการลงทุน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนก็จะกดดันบรรยากาศการลงทุนหุ้นไทยเพิ่มเช่นกัน
โดยก่อนหน้านี้ได้ประเมินว่าการแพร่ระบาดสายพันธ์ุโอไมครอนจะไม่กระทบหุ้นไทยมาก เพราะยังแพร่ระบาดหนักในแถบยุโรป แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งข้อมูลทางสถิติก็พบว่าอัตราการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนรวดเร็ว จึงเป็นปัจจัยที่ติดตามใกล้ชิดขึ้น
เบื้องต้นประเมินผลกระทบต่อหุ้นไทยในภาพรวมจะทำให้ดัชนีปรับลดลงในระยะสั้น จากนั้นจะฟื้นตัวตามสถานการณ์ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีเลวร้ายสุดคือรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ และกลับมาใช้นโยบายล็อกดาวน์ หรือจำกัดเวลาการเดินทางและสถานที่ ประเมินว่าดัชนีจะหลุดระดับ 1,600 จุด ไปสู่แนวรับที่ 1,580 จุด และ 1,550 จุดตามลำดับ
ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะยืดเยื้อออกไป
“เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่กลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ หรือจำกัดเวลาและสถานที่การเดินทางและการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบจะเกิดขึ้นเยอะมาก”
ทั้งนี้ แนะนำให้สลับมาลงทุนในกลุ่มบริโภคภายในประเทศ โดยยังเชื่อในแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงกลุ่มส่งออกที่มีตัวเลขยืนยันถึงการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยล่าสุดยอดส่งออกในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์
นอกจากนี้ยังแนะนำหุ้นปันผลสูง เนื่องจากสถิติระบุว่า 3-4 เดือนแรกของปีจะเป็นช่วง High Season ของหุ้นปันผล โดยหุ้นเด่นคือ SCC, TISCO, AP, ADVANC, PTT, INTUCH, BBL, LH, GUNKUL, PTTEP และ SIRI
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ความไม่แน่นอนของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศ เป็นแรงกดดันสำคัญที่อาจกลับมาสร้างความไม่แน่นอนต่อการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะรอยต่อในช่วงปีใหม่
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงที่มูลค่าการซื้อขายของตลาดไม่หนาแน่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจทำให้ SET Index ในช่วงที่เหลือของปีนี้แกว่งซึม โดย Upside ในการปรับขึ้นจำกัดที่ 1,658 จุด
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำทยอยสะสมหุ้นปัจจัยพื้นฐานแกร่งและราคาเริ่มอ่อนตัว โดยชื่นชอบ KBANK, CPN และ SCC
ขณะที่ปัจจัยที่ติดตามในสัปดาห์นี้ให้น้ำหนักที่ 1. การประชุม ครม. ในวันที่ 21 ธันวาคม 2654 พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น มาตรการกระตุ้น EV Car และช้อปดีมีคืน และ 2. การประชุม กนง. วันที่ 22 ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยฯ ที่ระดับ 0.5% ตามเดิม
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP