นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา คิดเป็นเวลา 16 วันทำการ ต่างชาติเข้าซื้อสุทธิในหุ้นไทยถึง 14 วันทำการ โดยมีเพียงแค่ 2 วันเท่านั้นที่ต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิ โดยรวมคิดเป็นการซื้อสุทธิรวมถึง 3.5 หมื่นล้านบาท
“Fund Flow ไหลเข้าทั้งภูมิภาคเอเชียอย่างชัดเจนในเดือนนี้ โดยเริ่มไหลเข้าตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะหลังจากที่ผ่านการประชุม Fed เมื่อวันที่ 26-27 กรกฎาคม” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าว
Fund Flow ไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นทั้งภูมิภาค
ณัฐชาตกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยราว 700 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ ในเอเชียก็มีเงินทุนไหลเข้าเช่นกัน จากข้อมูลที่แสดงล่าสุดจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม หุ้นญี่ปุ่นมีเงินไหลเข้า 7,000 ล้านดอลลาร์, เกาหลีใต้ 2,500 ล้านดอลลาร์, ฟิลิปปินส์ 1,600 ล้านดอลลาร์, อินโดนีเซีย 1,000 ล้านดอลลาร์ และอินเดีย 300 ล้านดอลลาร์
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่ได้มีท่าที Hawkish มากเท่ากับที่กังวลกันก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นค่าเงินดอลลาร์ก็เริ่มอ่อนลง เป็นแรงหนุนต่อสกุลเงินต่างๆ ในเอเชียให้กลับมาแข็งค่า ซึ่งเงินบาทก็เป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุด
“ช่วงนี้เป็นเหมือนสุญญากาศ เป็นช่วงที่ยังเอ็นจอยกับตลาดได้ จากการที่เงินเฟ้อเริ่มพีค ขณะที่ยังไม่เห็นสัญญาณ Recession เท่าที่ควร ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก และเห็นการขึ้นของหุ้นพร้อมๆ กัน”
หลังจากนี้นักลงทุนควรจับตาดู 2 ตัวแปรสำคัญ คือ
- การวกกลับของเงินเฟ้อ
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่อาจส่งสัญญาณภาวะ Recession
หากทั้งสองตัวแปรยังไม่เกิด เชื่อว่าเงินทุนจะยังไหลเข้าต่อ
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อตลาดคือ การวิ่งขึ้นมาของราคาหุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ที่ปรับขึ้นมาพร้อมกับหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หลังจากเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง การที่ราคาหุ้น DELTA กระชากขึ้นมาจาก 360 บาท คิดเป็นผลกระทบต่อดัชนี SET ราว 25 จุด หากไม่รวมผลของ DELTA ดัชนี SET เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม จะปิดที่เพียง 1,607 จุด แทนที่จะเป็น 1,629.95 จุด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ SET50 แย่กว่า SET อย่างเห็นได้ชัด
โดยภาพรวมการไหลเข้าของ Fund Flow รอบนี้น่าจะเน้นไปที่กลุ่มเปิดประเทศ ส่วนกลุ่มผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อ และไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนได้ทั้งหมด
“ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างชัดว่าคนไม่กังวลโควิดและกระหายการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น เพียงแต่หุ้นกลุ่มเปิดเมืองวิ่งขึ้นมามากแล้ว คงต้องเลือกเป็นรายหุ้นที่ราคาอาจยังขึ้นได้น้อยกว่า”
ส่วนความถูก-แพงของหุ้นไทย แม้ว่าจะไม่ได้ถูกนัก แต่หุ้นไทยยังมีช่องว่างให้ปรับขึ้นได้ หลังจากที่ประมาณการกำไรปีนี้ถูกปรับขึ้นจากราว 106.5 บาทต่อหุ้น สู่ระดับ 109 บาทต่อหุ้น ทำให้เป้าหมายของดัชนี SET สิ้นปีนี้ อิง P/E 15.9 เท่า ขยับขึ้นไปสู่ 1,730 จุด
หุ้นไทยยังพอมีช่องว่างให้ขึ้นได้ แม้จะไม่ได้ถูก
จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า หุ้นไทยไม่ได้ถูกนัก แต่ก็ยังพอมีช่องว่างให้ไปต่อได้ โดยมีโอกาสจะเห็นดัชนีวิ่งไปถึงระดับ 1,700 จุด แต่จุดที่มองว่าแพงเกินไปแล้วคือระดับที่สูงกว่า 1,780 จุด ส่วนระดับที่ถูกคือช่วงที่ดัชนี SET ต่ำกว่า 1,580 จุด ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกค้าต่างชาติค่อนข้างให้ความสนใจหุ้นไทย
ช่วงที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้าทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ เป็นการกระจายเงินลงทุนทั่วทั้งตลาดเกิดใหม่ หลังจากที่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะชะลอลง
ทั้งนี้ การไหลเข้าของเงินลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
- ทิศทางของเงินดอลลาร์
- พัฒนาการของการเปิดเมือง โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มมาได้อีกครั้ง
- การเมืองในประเทศ ทั้งเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจและการเลือกตั้งครั้งใหม่
“คิดว่า Fund Flow จะยังไหลเข้า Emerging Market ต่อเนื่อง ขณะนี้ทุกคนมองว่าเงินเฟ้อน่าจะเป็นแค่ชั่วคราว หลังจากราคาน้ำมันเริ่มพีค ทำให้ไม่มีเหตุผลที่นักลงทุนจะ Risk Off และถือดอลลาร์อย่างเดียว”
อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าของเงินทุนรอบนี้น่าจะกระจัดกระจายหลายกลุ่มหุ้น โดยกลุ่มที่น่าจะเป็นเป้าหมายคือธนาคารและค้าปลีก ขณะที่กลุ่มเปิดเมืองมูลค่าไม่ได้ถูกนัก ส่วนกลุ่มที่ต้องรอจังหวะคือพลังงานและวัสดุก่อสร้าง
Fund Flow ไหลเข้าหุ้นไทย 1.4 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า Flow ต่างชาติยังไหลเข้าหุ้นไทยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ (YTD) โดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก แม้ตลาดจะเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับไต้หวันตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2565 บวกกับความเสี่ยง Recession ของประเทศฝั่งพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศฝั่งกำลังพัฒนาเริ่มเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth ยังเป็นบวกอยู่ จึงทำให้เป็นเป้าหมาย Flow ต่างชาติในการลงทุน
โดยตั้งแต่ต้นเดือน ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคราว 1,566 ล้านดอลลาร์ (MTD) เริ่มจากเกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 1,534 ล้านดอลลาร์ (MTD), อินโดนีเซีย 176 ล้านดอลลาร์ (MTD) และไทย 826 ล้านดอลลาร์ (MTD) หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท (MTD) ซึ่งส่งผลให้ปีนี้ต่างชาติซื้อหุ้นไทยไปแล้ว 1.46 แสนล้านบาท (YTD) มากสุดเป็นประวัติการณ์
ทั้งนี้ เอเซีย พลัส ได้ย้อนดูสถิติการซื้อและขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเป็นรายปี พบว่า ปีไหนก็ตามที่ต่างชาติซื้อหุ้นไทยปริมาณมาก SET Index มีโอกาสปรับตัวขึ้นเสมอ จึงค้นหารายชื่อหุ้นที่ต่างชาติซื้อสะสม ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก
โดยหุ้นเด่นที่ฝ่ายวิจัยชื่นชอบและยังมีแนวโน้มกำไรฟื้นต่อเนื่องได้ในช่วงที่เหลือของปี ประกอบด้วย BEM, BH, CENTEL, CRC, KTB และ M เป็นต้น
ต่างชาติคลายกังวลเงินเฟ้อ เชื่อมั่น GDP ไทย
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า Fund Flow รอบนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ณ วันที่ 16 สิงหาคม) เข้ามาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 1.46 แสนล้านบาท หลักๆ มาจากนักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อของประเทศไทย และมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น
โดยจากการติดตามข้อมูลพบว่า ต่างชาติโหมซื้อหุ้นไทยค่อนข้างมากหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมที่ออกมาต่ำกว่าคาด หลังจากก่อนหน้านี้ที่มีการชะลอการซื้อและขายสุทธิในบางวัน
“ช่วงเดือนมิถุนายนต่างชาติขายหุ้นไทย โดยเฉพาะในช่วงที่ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ที่ปรับตัวขึ้นไปสู่ระดับ 7% และพอประกาศเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ต่างชาติก็เร่งซื้อหุ้นไทย สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติคลายกังวลเรื่องเงินเฟ้อของไทย รวมถึงกลับมามั่นใจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยอีกครั้ง” ณัฐพลกล่าว
โดย GDP ของไทยไตรมาส 2 ที่ประกาศออกมาเติบโต 2.5% ได้เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติกลับมา โดยในรายละเอียด GDP สะท้อนถึงการบริโภคและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ผลประกอบการ บจ. ในไตรมาส 2/65 ก็ออกมาดีกว่าคาดการณ์ รวมถึงหลายบริษัทของไทยได้ประกาศปันผลระหว่างกาลด้วย ทำให้มีเม็ดเงินเข้าลงทุนเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล
หยวนต้าคาด ปีนี้ Fund Flow เข้าไทย 1.7 แสนล้านบาท
ณัฐพลกล่าวว่า เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ยอมรับว่าหุ้นไทยไม่ได้ถูก และอัตราการเติบโตอาจต่ำกว่า แต่ตลาดหุ้นไทยมีข้อได้เปรียบคือมีสภาพคล่อง และระดับดัชนีรวมถึงกำไร บจ. ยังไม่กลับเท่ากับช่วงก่อนโควิด ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศอื่นนั้นฟื้นตัวไปเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว และกำลังเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหม่
ทั้งนี้ อ้างอิงจากตัวเลขในอดีต บล.หยวนต้า คาดว่าปีนี้ Fund Flow จะกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยราว 1.7 แสนล้านบาท โดยเป็นการประเมินจากมุมมองที่เชื่อว่าเงินต่างชาติจะไหลกลับเข้าหุ้น 55-60% ของมูลค่าขายสุทธิในช่วง 2 ปีโควิดที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.1 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามอยากเตือนนักลงทุนว่า ในระยะต่อจากนี้ไปช่วงเดือนนี้และเดือนหน้าอาจไม่ได้เห็นตัวเลขต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างหนาแน่นแล้ว เนื่องจากยังมีปัจจัยต่างประเทศมากดดันการตัดสินใจคือการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมเป็นไป และในต้นเดือนกันยายนจะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของไทย ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักลงทุนต่างชาติค่อนข้างให้ความสำคัญ ซึ่งหากออกมาสูงกว่าคาด อาจทำให้เกิดกระแสขายสุทธิขึ้นแทน
“แม้ภาพจะเป็นการซื้อสุทธิ แต่ไม่อยากให้นักลงทุนคาดหวังว่า Fund Flow จะดันให้ดัชนีไปถึงระดับ 1,700-1,800 จุด เพราะไตรมาส 3 ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเข้าซื้อเพื่อขายทำกำไร และปิดบุ๊กในไตรมาส 4 ก่อนหยุดยาวด้วย บวกกับ Valuation เราไม่ได้ถูกด้วย” ณัฐพลกล่าว
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP