×

ก.ล.ต. ยันตลาดหุ้นไทยไร้ Short Selling เร่งนัด ตลท. และ ASCO ถกทบทวนแนวปฏิบัติคุมการซื้อ-ขายใหม่ให้มาตรฐานเดียวกัน คาดเริ่มใช้ต้นปี 67

20.12.2023
  • LOADING...

เลขาธิการ ก.ล.ต. หารือตลาดหลักทรัพย์และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เร่งปรับปรุงทบทวนแนวปฏิบัติโบรกเกอร์ดูแล Short Selling ให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน และตามข้อสังเกตของ ก.ล.ต. ป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

 

พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า กรณีที่มีการรายงานข่าวออกมาว่า ที่ประชุมร่วมกันของคณะทำงานระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) วานนี้ (19 ธันวาคม) มีคัสโตเดียน (Custodian) แห่งหนึ่งยอมรับว่า มีลูกค้าที่ทำธุรกรรมการ Short Selling หุ้นโดยไม่ได้ใส่เครื่อง S ก่อนที่จะส่งคำสั่ง ทำให้ไม่ต้องรอให้มีออร์เดอร์โยน Bid นำหน้า โดยสามารถทำ Short Selling หุ้นได้เลย ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้น

 

สำนักงาน ก.ล.ต. ขอยืนยันว่าในที่ประชุมดังกล่าวไม่มีการพูดถึงในประเด็นตามที่เกิดกระแสข่าวขึ้น และยืนยันว่าไม่พบธุรกรรมการ Short Selling หุ้นโดยไม่ได้ใส่เครื่อง S ก่อนที่จะส่งคำสั่ง ทั้งนี้ การประชุมที่เกิดขึ้นวานนี้ (19 ธันวาคม) ได้หารือร่วมกันในประเด็นการทบทวนแนวปฏิบัติสำหรับสมาชิกคือโบรกเกอร์ ในธุรกรรมขายชอร์ต (Short Selling) ให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน และตามข้อสังเกตของ ก.ล.ต. ที่ให้ไปเพื่อทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าโบรกเกอร์มีแนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ร่วมกับการตรวจสอบของหน่วยงานกำกับต่อไป

 

“การประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม เป็นการหารือระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ASCO ในเรื่องการทบทวนแนวปฏิบัติเพื่อดูแลการรับส่งคำสั่งซื้อ-ขายของลูกค้า รวมถึงดูแลการ Short Selling มีความรัดกุมเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่การออกเกณฑ์ของ ก.ล.ต. แต่เป็นข้อตกลงของผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมกัน 2-3 ครั้งแล้ว โดยจะมีการประชุมอีกรอบในเดือนมกราคมปีหน้า หากได้ข้อสรุปก็นำมาเสนอขอความเห็นชอบต่อ ก.ล.ต. เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน คาดว่าแนวปฏิบัติที่ปรับปรุงใหม่น่าจะเริ่มใช้ได้ช่วงต้นปี 2567 นี้”

 

ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยกระดับเกณฑ์คุม Short Selling การดำเนินการ รวมทั้งการปรับปรุงกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 

 

  1. การประสานความร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อตรวจสอบการทำ Short Selling ทั้งหมด โดยเฉพาะการตรวจสอบบัญชีที่เรียกว่า Omnibus Account หรือบัญชีรวมผู้ลงทุนหลายรายโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ลงทุน เพื่อตรวจสอบว่าผู้ลงทุนที่แท้จริง (End Beneficiary) เบื้องหลังบัญชีเหล่านี้เป็นใครบ้าง
  1. การส่งหนังสือเวียนไปยังบริษัทสมาชิก เช่น บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทที่ไม่ใช่สมาชิก รวมถึงคัสโตเดียนต่างประเทศ เพื่อขอให้ช่วยกันสอดส่องและดูแลให้การทำ Short Selling เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ พร้อมทั้งได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ โดยกำหนดให้บริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับการทำ Short Selling มาให้ภายใน 15 วัน หากไม่สามารถส่งหลักฐานมาได้ทันตามกำหนด จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการทำ Short Selling ดังกล่าวเป็นการทำ Naked Short Selling 
  1. การทบทวนความเป็นธรรมระหว่างนักลงทุนที่ซื้อ-ขายผ่าน Program Trading และนักลงทุนที่ไม่ได้ใช้ Program Trading โดยเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติของตลาดต่างประเทศเพื่อพิจารณาความเหมาะสม รวมทั้งการนำข้อมูลการซื้อ-ขายของนักลงทุนแต่ละกลุ่มมาพิจารณาประกอบ
  1. การตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อช่วยตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องการตรวจสอบ Naked Short Selling คณะทำงานดังกล่าวจะประกอบด้วยตัวแทนจาก ก.ล.ต., ตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์ และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประสานกับตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ (KRX) และตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เพื่อมาร่วมพิจารณาว่ากฎเกณฑ์ในปัจจุบันยังมีช่องว่างอะไรที่ต้องปรับปรุงและดำเนินการเพิ่มเติม
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X