×

“สังคมไทยไม่ปกติ” จากการยุบพรรคถึงมาตรา 112 ในมุมมอง อานันท์ ปันยารชุน

05.08.2024
  • LOADING...

“สังคมไทยไม่ปกติมาหลายสิบปีแล้ว” อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ในวัย 92 ปี ให้ทัศนะถึง ‘โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย’ ท่ามกลางบรรยากาศผกผันทางการเมืองของเดือนสิงหาคม 2567

 

ตั้งแต่ 2 คดีสำคัญในศาลรัฐธรรมนูญที่อาจทำให้มีพรรคการเมืองถูกยุบ มีนายกฯ ที่อาจหลุดจากตำแหน่ง ตลอดจนการหวนกลับมามีบทบาทสำคัญของอดีตนายกฯ ที่กำลังจะพ้นโทษในไม่นานนี้

 

หลายช่วงในบทสนทนาระหว่างอานันท์ และ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD สะท้อนผ่านมุมมองของผู้มากประสบการณ์ที่ยังคงมีความหวังกับประเทศไทย แม้เวลานี้จะยอมรับโดยดุษณีว่า “โจทย์เยอะ แต่คำตอบน้อย”

 

 

ความเที่ยงธรรมที่ประชาชนมองไม่เห็น

 

การยุบพรรคการเมืองผ่านกลไกขององค์กรอิสระไม่ใช่เรื่องใหม่ของการเมืองไทย นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 บังคับใช้ พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะพรรคที่ได้รับความนิยมสูงจากการเลือกตั้ง อาทิ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคอนาคตใหม่ ต้องเผชิญกับจุดจบไม่ต่างกัน

 

และในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ชะตาพรรคก้าวไกล ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำขอให้วินิจฉัยยุบพรรค สืบเนื่องจากกระทำการ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

อานันท์ ผู้เคยมีส่วนร่วมเป็นประธานในการยกร่างและพิจารณารัฐธรรมนูญ ปี 2540 ออกปากว่า รัฐธรรมนูญไทยมีความ ‘แปลกประหลาด’ เพราะสร้างปัจจัยให้เกิดคดีทางการเมืองขึ้นมากมาย

 

เขามองว่าต่างประเทศจะมีเรื่องคดีการเมืองน้อย เพราะส่วนใหญ่จะให้สภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการเอง ถ้า สส. คนใดมีความผิด ก็จะมีการบริหารจัดการภายในพรรค เช่น การลงโทษหรือขับออก

 

แต่ของไทย เอะอะอะไรก็ถึงศาล ศาลอาญาบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ซึ่งไม่เป็นตามหลักของรัฐธรรมนูญว่าสภานิติบัญญัติก็มีอิสระเช่นกัน

 

 

อานันท์ยังมองการตัดสินคดีการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญตลอดห้วง 20 ปีที่ผ่านมาว่า สร้างความเคลือบแคลงใจในหมู่ประชาชน ที่แม้ไม่ได้มีความรู้ทางกฎหมาย แต่ก็มีความรู้ เขาชี้ว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องผิดถูกตามหลักกฎหมายเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับ ‘คนนอกมองเข้ามาอย่างไร’ ด้วย

 

ในฐานะนักเรียนกฎหมายเก่าจากอังกฤษ อานันท์ยกหลัก ‘Justice must be seen to be done’ กล่าวคือ กระบวนการทางกฎหมายต้องคำนึงถึงสายตาของประชาชนด้วยว่ารู้สึกเช่นนั้นหรือไม่

 

“ความยุติธรรม (Justice) อย่างเดียวไม่เพียงพอ เรามักลืมความเที่ยงธรรม (Integrity) ซึ่งเกิดจากจิตสำนึกและจิตวิญญาณ ผู้มีจิตสำนึกและจิตวิญญาณต้องไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ และมีหิริโอตตัปปะ ความละอายและความเกรงกลัวต่อการทำผิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของมวลมนุษยชาติ” อานันท์กล่าว

 

เขาสรุปความว่า นี่เป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมไทย ว่าการตัดสินในคดีการเมืองต่างๆ นอกเหนือความถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังต้องคำนึงด้วยว่ามีความยุติธรรม และมี ‘ความเที่ยงธรรม’ เพียงใดในสายตาของประชาชน

 

ยุบพรรคไม่ได้ช่วยประเทศเดินหน้า ‘มีแต่สาละวันเตี้ยลง’

 

อดีตนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่เคยได้ยินว่าประเทศใดนอกจากไทยที่จะมีมาตรการในการยุบพรรคการเมือง พร้อมตั้งคำถามว่า การยุบพรรคแต่ละครั้งที่ผ่านมาเกิดประโยชน์อะไรขึ้นหรือไม่ เกิดความประนีประนอมสมานฉันท์ขึ้นจริงตามเหตุผลที่อ้างหรือไม่

 

ยุบพรรคไป 3-4 พรรคแล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ประเทศไทยก้าวหน้าไปในทางการเมืองหรือไม่ เปล่าเลย มีแต่สาละวันเตี้ยลงๆ

 

อานันท์ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อาจเป็นผลเสียกับระบอบประชาธิปไตยด้วย เพราะยิ่งยุบพรรคก็ยิ่งก่อให้เกิดความเกลียดชังมากขึ้น และตอนนี้สังคมไทยก็มีความเกลียดชังกันมากเหลือเกินแล้ว

 

“เมืองไทยอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถ้ามีกระดูกปลาติดคอหอยอยู่มานานมากแล้ว ใช้มือล้วงเข้าไปก็ไม่ออก ก็ต้องใช้วิธีอื่นสิ” อานันท์ระบุ

 

 

เคน นครินทร์ ตั้งคำถามต่อไปถึงบทบาทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีอำนาจในการยุบพรรค ซึ่งแต่แรกเริ่มมาก็มีเจตนาให้เป็นกลไกแก้ไขปัญหาทางการเมือง

 

“องค์กรอิสระตั้งมาโดยมีความตั้งใจดี แต่ค่อนข้างจะไม่ค่อยฉลาดนัก” อานันท์ตอบ

 

เขาขยายความว่า กลไกขององค์กรอิสระที่ปรากฏครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 และได้รับคำชื่นชมจากทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดให้บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระในทุกองค์กรได้ ต้องไม่มีความผูกโยงกับพรรคการเมืองใด และต้องมีความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม

 

“เมืองไทยจะหาคนจำนวนนี้มาจากไหน” อานันท์เล่าย้อนไปว่า ตนเองเคยเปรยไว้เช่นนี้เมื่อครั้งเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540

 

ข้อสังเกตที่อานันท์ทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับอำนาจขององค์กรอิสระ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้ทำหน้าที่อย่างยุติธรรมหรือเที่ยงธรรมเสมอไป เป็นเหตุให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้ใจต่อองค์กรอิสระ ศาล รวมถึงไม่ไว้ใจพรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งระบอบการปกครองด้วย

 

เป็นการ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ ไปได้อย่างไร?

 

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ในงานเสวนา ‘ฉากทัศน์อนาคตสังคมไทย’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน อานันท์เคยกล่าวไว้ว่า “สนุกมากหรือที่เห็นเด็กเข้าคุก สนุกมากหรือที่เห็นเด็กทรมานและไม่ได้ประกันตัว ทำได้อย่างไร ไม่ละอายใจตัวเองบ้างหรือ”

 

เมื่อ เคน นครินทร์ พูดถึงประเด็นนี้ อานันท์ยิ้มบางก่อนจะตอบ “ผมพูดไปตามอารมณ์”

 

พร้อมอธิบายว่า ช่วงเวลานั้นเพิ่งผ่านมาไม่ถึง 10 วัน ภายหลัง บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม นักกิจกรรมการเมืองของกลุ่มทะลุวัง ได้เสียชีวิตลงระหว่างถูกคุมขังในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

 

เท่าที่ผมได้ยินมา บุ้งไม่ควรจะตาย ถ้ากรมราชทัณฑ์จัดให้มีการเยียวยารักษาก่อน ในสายตาผมชีวิตมนุษย์ทุกคนมีค่าเท่ากัน แทนที่จะให้เขาตายโดยความผิดพลาดหรือไม่เอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ผมรู้สึกว่าน่าเศร้าใจ

 

บทสนทนาล่วงเลยเข้าสู่ประเด็นของมาตรา 112 ที่เป็นหัวใจสำคัญในคดียุบพรรคก้าวไกล เนื่องมาจาก สส. ของพรรคร่วมกันเสนอร่างแก้ไขมาตรานี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร แม้จะยังไม่ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม แต่การที่พรรคก้าวไกลนำนโยบายดังกล่าวไปหาเสียงก็นำมาสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นพฤติกรรมที่ ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ สถาบันพระมหากษัตริย์

 

อย่างไรก็ตาม อานันท์ชี้ว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ก็เป็นนโยบายที่ผ่าน กกต. แล้ว และเป็นการกระทำภายในรัฐสภา ใช้เสียงโหวตของ สส. ตัดสิน ไม่ได้มีการวางแผนหรือสะสมอาวุธที่จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง

 

“คือคุณอานันท์มองว่าไม่ใช่การกระทำที่เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ” เคน นครินทร์ ตั้งคำถาม

 

“ผมก็ไม่เข้าใจว่าเขามองอย่างนั้นได้อย่างไร” อานันท์ตอบแทบจะในทันที

 

“ถ้าเขาจะล้มล้างจริง เขาจะบอกคุณล่วงหน้าทำไม นี่ไม่ได้พูดแบบนักกฎหมาย พูดอย่างสามัญชนคิดนะ ซึ่งก็เป็นความเห็นส่วนตัว อาจมีคนไม่เห็นด้วย แต่อย่างคุณสมคบคิดจะแกล้งเพื่อนที่โรงเรียน คุณจะประกาศก่อนไหม” อานันท์เปรียบเทียบ

 

 

แล้วท้ายที่สุดเรื่องนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อสังคม อดีตนายกฯ มองว่ากรณีดังกล่าวจะบ่มเพาะความเจ็บใจให้ผู้คนมากขึ้น ตามมาด้วยการคาดเดาสันนิษฐานเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

 

“และในประเทศไทย การเดาแล้วพูดต่อๆ ไป คนก็จะเชื่อ” อานันท์กล่าว

 

สำหรับความเห็นส่วนตัวของอานันท์ต่อกฎหมายดังกล่าว เขายืนยันตามที่เคยพูดไว้หลายปีแล้วว่า มาตรานี้ไม่ควรถูกยกเลิก แต่มีจุดที่ควรแก้ไข

 

ผมไม่มีปัญหากับมาตรานี้ (มาตรา 112) และเห็นว่าควรจะมีอยู่ต่อไป แต่ที่ผ่านมามีวิธีใช้ที่ไม่ถูกต้อง

 

อานันท์ย้ำว่าควรมีการปรับปรุงข้อกฎหมายในส่วนที่ยังเป็นจุดอ่อน แทนที่จะเป็นการยกเลิก พร้อมเสนอความเห็นให้ควรมีผู้รับผิดชอบเป็นผู้ฟ้อง คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แทนที่จะเป็นใครฟ้องใครก็ได้

 

ต่อไปนี้ ‘ทักษิณ’ ต้องระวังตัว

 

ท้ายที่สุด เคน นครินทร์ ชวนมองภาพการเมืองไทยที่วนลูป ตัวแสดงสำคัญอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังจะพ้นโทษเดิมในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ถูกหลายฝ่ายจับตาว่าจะกลับมามีบทบาทอีกครั้ง ในมุมของอานันท์มองอย่างไร และจะเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งที่จุดประกายขึ้นอีกครั้งหรือไม่

 

“ผมอายุ 92 ปีแล้ว ไม่ได้ติดตามเรื่องนี้ในรายละเอียด” อานันท์เปรย “แต่ผมมองว่าต่อไปนี้คุณทักษิณทำอะไรก็ต้องระวัง”

 

อานันท์อธิบายว่า เพราะปัจจุบันกรอบความคิดของประชาชนไม่เหมือนกับ 30 ปีที่แล้ว และคุณทักษิณไปอยู่ต่างประเทศมา 17 ปี การกลับมาแล้วยังแสดงบทบาททางการเมืองอาจจะไม่เป็นผลดีกับตัวท่านเอง และแม้ทักษิณอาจจะไม่ได้ตั้งใจ แต่ในทางการเมืองนั้นมีเรื่องของ Perception and Reality (มุมมองและความเป็นจริง) ความรู้สึกของประชาชนสำคัญกว่าความจริง

 

หากทักษิณเข้ามามีบทบาทมากอาจก่อปัญหาทำให้สังคมสับสนว่านายกฯ ตัวจริงคือใครแน่ อานันท์มองว่าจะไม่เป็นธรรมกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

 

“หากปรากฏภาพว่ายังมีคนมองข้ามหลังมาดูกิจการ ก็จะทำให้การทำงานของนายกฯ ลำบากขึ้น รวมถึงความเชื่อถือศรัทธาต่อตัวนายกฯ คนปัจจุบันจะน้อย” อานันท์ทิ้งท้าย

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising