×

‘ครูทำร้ายนักเรียน’ ภาพสะท้อนปัญหาระบบการศึกษาไทยอันยุ่งเหยิงเกินใครจะคาดคิด

29.09.2020
  • LOADING...
ครูทำร้ายนักเรียน กล้องวงจรปิด ทำร้ายเด็กนักเรียน เด็กนักเรียนอนุบาล

HIGHLIGHTS

7 mins read
  • จากภาพพี่เลี้ยงทำร้ายเด็กเล็กในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมอย่างหนัก ไม่ใช่เฉพาะบริบทของความรุนแรง แต่เริ่มฉายภาพความยุ่งเหยิงของการศึกษาไทยที่ซุกอยู่ใต้พรมมานาน
  • ‘ครูทิว’ จากเพจครูขอสอน ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD Daily เจาะประเด็นการใช้ความรุนแรงของครูต่อนักเรียนที่ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากรายบุคคล แต่มีเรื่องของระบบโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้นมาเป็นตัวแปรสำคัญของปัญหาต่างๆ

จากกรณีที่ อรอุมา ปลอดโปร่ง หรือพี่เลี้ยงจุ๋ม พี่เลี้ยงเด็กโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ใช้วิธีลงโทษนักเรียนอนุบาล 1 ด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากการกระทำดังกล่าวเป็นวงกว้าง

 

ทว่าปัญหาดังกล่าวไม่ได้เป็นการสะท้อนเพียงแค่ปัญหาของครูหรือพี่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้ความรุนแรงกับเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงกระเพื่อมที่สาวไส้ปัญหาของสิ่งที่อยู่ใต้พรมระบบการศึกษาไทยให้สังคมได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้เรื่องของโครงสร้างและสิ่งที่คาราคาซังปะปนอยู่กับการศึกษาไทยกำลังถูกตีแผ่ในหลากมิติ

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ในรายการ THE STANDARD Daily ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดคุย และเจาะลึกประเด็นการใช้ความรุนแรงของครูต่อนักเรียนกับ ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ‘ครูทิว’ จากเพจครูขอสอน ผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิของเด็กและครูมาอย่างยาวนาน

 

กระดานดำ ครูทำร้านนักเรียน ระบบการศึกษาไทย เก้าอี้ไม้ โต๊ะเรียน

 

เมื่อมายาคติแบบเก่าเริ่มไม่สอดคล้องกับการศึกษายุคใหม่

ครูทิวเริ่มเกริ่นว่าปัญหาการใช้ความรุนแรงในรั้วโรงเรียนเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เพียงแต่ในยุคที่การเข้าถึงสื่อเป็นไปได้ง่ายขึ้น บวกกับภาพหรือหลักฐานของการกระทำความรุนแรงมีให้เห็นชัดเจนขึ้น จึงทำให้ภาพความรุนแรงที่ฝังรากมานานไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ในโรงเรียน และได้ถูกตีแผ่อย่างถี่ขึ้นในช่วงหลังมานี้

 

ส่วนกรณีที่ใช้วิธีคิดในแบบฉบับเด็กยุคเก่าราวๆ 10-20 กว่าปีที่ผ่านมา กับการคิดว่า ‘ได้ดีเพราะไม้เรียว’ หรือการใช้ความรุนแรงบ้างเพื่อให้เด็กจดจำ กลายเป็นพฤติกรรมที่ฝังในจิตใต้สำนึกของคนยุคก่อน จนเผลอมองว่าสิ่งนั้นคือการกระทำแบบปกติหรือเปล่า และจะมีวิธีการแก้ไขได้หรือไม่

 

ครูทิวมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของมายาคติ ก็คือเรื่องของมุมมอง ความเชื่อ ค่านิยม และหลักการทางแนวคิดของตัวบุคคล ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าความเป็นโรงเรียนในไทยนั้นแฝงไปด้วยอำนาจนิยมอยู่สูงมาก ซึ่งไม่ได้มีแค่ครูกระทำต่อนักเรียนอย่างเดียว แต่กับนักเรียนด้วยกันเอง หรือแม้แต่ตัวครูที่ถูกกระทำจากระบบ หรือเพื่อนครู ผู้บริหาร มันถูกส่งต่อมาเป็นทอดๆ ซึ่งรูปแบบของการใช้อำนาจในการบังคับผ่านการทำโทษหรือการกระทำอื่นๆ ที่อาจไม่ได้ออกมาในรูปแบบของความรุนแรงอย่างการเฆี่ยนตี แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจมากกว่าไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในคราบผู้ใหญ่ ครู หรืออะไรก็ตาม เข้าไปบังคับกะเกณฑ์จนกลั่นออกมาเป็นความรุนแรงในมิติต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่สร้างความรุนแรงทางร่างกาย หากแต่หมายถึงความรุนแรงที่กระทบต่อจิตใจด้วย

 

สุดท้ายเรื่องการแก้ปัญหากับความแนวคิดเดิมๆ หรือมายาคติต่างๆ บางทีอาจต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ระบบการเรียนครูอย่างคณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ แต่ปัญหาที่หนักกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ครูทั้งรุ่นใหม่หรือผู้ที่อยู่ในระบบเดิมอยู่แล้วรู้เท่าทันปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง

 

แม้ว่าเป็นเรื่องที่จะบังคับหรือใช้อำนาจเชิงระบบไม่ได้ แต่คงต้องทำแคมเปญกันในกลุ่มบุคลากร และอาศัยแรงกระเพื่อมการตั้งคำถามจากสังคม (อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้) ถึงคุณครูกับระบบการศึกษาเพื่อให้เห็นว่าอะไรที่กำลังเป็นอุปสรรค อะไรที่เป็นปัญหาที่ควรด่วนแก้ไข แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น การเรียกคำแทนตัวระหว่างครูและนักเรียน ถ้าทำให้นักเรียนรู้สึกได้รับเกียรติในฐานะที่เป็นคนเท่าเทียมกันก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่า

 

“สุดท้ายแล้วมายาคติทั้งหลายทั้งมวลในการจัดการศึกษาต้องย้อนกลับไปที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษา ที่ระบุไว้ว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนาเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่หลงลืมไม่ได้ในการเป็นครู ในการสอน หรือในการจัดการศึกษาคือการเป็นมนุษย์ มนุษย์ที่ต้องการความเท่าเทียมกัน มนุษย์ที่ต้องอยู่รอดปลอดภัย มนุษย์ที่มีความคิด ความหวัง และความฝัน มนุษย์ที่มีความรู้สึก ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนตระหนักในส่วนนี้ มันจะช่วยก้าวข้ามปัญหาวัฒนธรรมเชิงอำนาจหรือมายาคติเหล่านี้ไปได้”

 

การศึกษาไทย เด็กนักเรียน ครู เด็บประถม ลบกระดาน

 

ระบบการคัดกรองบุคลากรคือ ‘ช่องโหว่’ ที่นำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงตามมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือมองย้อนกลับไปที่เรื่องของการเปิดรับครูหรือพี่เลี้ยงที่พบว่าแนวทางการรับในแบบเดิมๆ เริ่มพบคนที่ไม่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการดูแลเด็กนักเรียนในปัจจุบัน

 

ครูทิวบอกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนระบบการศึกษาสองฝั่ง ทั้งฝั่งของ ‘ระบบรัฐบาล’ และ ‘ระบบเอกชน’ ได้เป็นอย่างดี ในอดีตใครหลายคนคงเคยได้ยินกันว่าหากต้องการสิ่งต่างๆ ที่โรงเรียนระบบรัฐบาลให้ไม่ได้ก็ให้ไปเรียนโรงเรียนเอกชน

 

แต่จากเหตุการณ์นี้ก็เริ่มทำให้เห็นแล้วว่าความรุนแรงในรั้วโรงเรียนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในระบบใดระบบหนึ่ง เพราะมันสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ 

 

และอีกประเด็นคือเรื่องของอำนาจในโรงเรียนเครือเอกชนที่มีอิสระในการบริหารจัดการที่มากกว่าโรงเรียนของรัฐบาล โดยเฉพาะการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาที่สามารถคัดเลือกได้ด้วยตัวเอง แต่เรื่องที่เกิดขึ้นและเป็นกระแสในขณะนี้กลับเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนของเอกชนเอง ทำให้คำถามที่ตามมาคือเกิดอะไรขึ้นกับระบบการเปิดรับบุคลากรของทางเอกชน 

 

“ต้นตอของปัญหาการรับบุคลากรของฝั่งเอกชน ณ ตอนนี้เป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เบื้องต้นอาจจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรจริงๆ หรือเปล่า จนทำให้เกิดการเปิดรับผู้มีวุฒิไม่ถึงเกณฑ์มาทำหน้าที่ และท้ายที่สุดได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่เห็น” ครูทิวกล่าว

 

ทั้งนี้ในฝั่งของเอกชน ครูทิวเสริมว่าบางทีการที่ผู้ปกครองซึ่งมีความพร้อมในด้านฐานะหรืออาชีพใดๆ ก็ตาม มีต้นทุนอยู่พอสมควรแล้ว น่าจะมีความสามารถในการถ่วงดุล มีความสามารถในการช่วยประเมินหรือทำงานร่วมกับโรงเรียนเพื่อให้ได้เป้าหมายในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ โรงเรียนต้องรับฟังความเห็นจากผู้ปกครองด้วย

 

ขณะเดียวกันฟากฝั่งโรงเรียนในระบบรัฐบาลก็มีปัญหาโผล่ออกมาให้เห็นจากการที่มีการเปิดรับสมัครครูผู้ช่วยจำนวนมากนั้น สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งคือคนมีความต้องการเข้ามาเป็นข้าราชการมาก ไม่ว่าราชการใดๆ ก็แล้วแต่ แต่หนึ่งในนั้นคือการเป็น ‘ข้าราชการครู’ 

 

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่หลายคนมองเห็นจากความเป็นข้าราชการ นั่นก็คือความมั่นคงและมีสวัสดิการในตำแหน่งที่ดี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดคนมารับหน้าที่เป็นข้าราชการครู โดยที่คนคนนั้นอาจยังไม่พร้อมทำหน้าที่เป็นครูก็ได้ 

 

“อีกอย่างหนึ่งคือสถานะของวิชาชีพความเป็นครู ในสังคมไทยเรามักให้คุณค่าของคนเป็นครูสูงมากๆ เมื่อเทียบกับสังคมครูในประเทศอื่นๆ ดังนั้นระนาบความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์หรือผู้ปกครองจะแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะเราจะยกคนเป็นครูไว้เป็นคนที่มีบุญคุณต้องเทิดทูนต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไปส่งเสริมอำนาจนิยมในโรงเรียนเช่นกัน”

 

ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนไม่ว่าจะกับรัฐบาลและเอกชนคือการเปิดรับการประเมินจากผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อให้ครูได้ทำงานร่วมกับผู้ปกครองอย่างจริงจัง ขณะที่นักเรียนที่โตขึ้นมาระดับหนึ่งก็น่าจะช่วยให้ฟีดแบ็กตอบกลับมาถึงครูได้เหมือนกันว่านักเรียนรู้สึกอย่างไรในการเรียนกับครูหรือคลาสสอนนั้นๆ เพราะถ้าโรงเรียนสามารถสร้างระบบดังกล่าวให้ผู้ปกครองและนักเรียนที่เป็นผู้ได้รับผลโดยตรงจากการศึกษาได้มีส่วนในการประเมิน ได้ทำงานร่วมกัน ก็น่าจะช่วยแก้ไขเชิงระบบได้ดีเช่นกัน

 

ระบบการศึกษาไทย เด็กไทย โรงเรียนไทย ยกมือตอบคำถาม นักเรียนไทย ห้องเรียน

 

‘ภาระงาน’ ที่เกินตัวของบุคลากรทางการศึกษาคือภัยเงียบที่ถูกมองข้าม

เมื่อพูดถึงปัญหาในแวดวงการศึกษาไทย สิ่งหนึ่งที่จะถูกพูดติดมาเสมอคือเรื่องของภาระงานหรือหน้าที่ที่บุคลากรการศึกษาไทยแบกรับในปัจจุบันนั้นเริ่มเยอะเกินควรจนสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างที่ลุกลามถึงตัวนักเรียน

 

ประเด็นนี้ครูทิวกล่าวว่านั่นคือเรื่องจริงที่คนเป็นครูต้องแบกรับภาระงานไว้มากมาย ทั้งที่ควรได้รับเวลาและโอกาสในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การช่วยเหลือนักเรียนในด้านต่างๆ กลับกลายเป็นต้องใช้เวลาไปทำสิ่งที่นอกเหนือจากการสอนจนเกินไป ซึ่งมาในรูปแบบงานพิเศษ งานพัสดุ งานธุรการ งานจัดซื้อจัดจ้าง และอื่นๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเครียดกับครูผู้สอนและภาระกดดันอย่างที่ไม่ควรต้องประสบ

 

“ในส่วนนี้งานพิเศษที่คนเป็นครูควรจะได้ทำอย่างเต็มที่ก็คืองานวิชาการ งานเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร การวัดประเมินผล รวมถึงงานกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพนักเรียน แต่ส่วนอื่นๆ อย่างที่เกริ่นไปว่าควรมีเจ้าหน้าที่ธุรการหรือเจ้าหน้าที่เฉพาะทางในการทำหน้าที่นานๆ เพื่อมาแบ่งเบาภาระของครู แต่ปัจจุบันอย่างที่เห็นคือครูต้องทำสิ่งเหล่านี้แทน” 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ต่อให้นำความเครียดมาหาเพียงใดก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาลงกับเด็กนักเรียน

 

ครูทิวกล่าวโดยสรุปว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องที่ปัญหาความเครียดของครูเป็นสิ่งที่ไม่ควรลงกับนักเรียน 

 

แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุหรือแรงกระตุ้นให้ครูและผู้ที่ดูแลนักเรียนเผลอใช้ความรุนแรงออกมา จะพบว่าปัจจุบันห้องเรียนหนึ่งในการดูแลของครูจะมีนักเรียนราว 35-45 คน แต่ตามหลักงานวิจัยจำนวนนักเรียนต่อห้องควรอยู่ที่ 24 คน ถ้าเป็นเด็กเล็กอาจจะต้องน้อยลงไปอีก

 

แล้วจำนวนนักเรียนในห้องมีผลต่อครูอย่างไร

 

ครูทิวอธิบายต่อว่าปัญหาคือครูจะสามารถทำความรู้จักและเข้าใจเด็กในจำนวนมากๆ แบบเข้าถึงทุกคนได้อย่างไรแบบรายบุคคล ครูจะส่งเสริมการเรียนรู้ตามความชอบและถนัดของนักเรียนในการดูแลแบบทั่วถึงได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างโรงเรียนยังเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งจริงอยู่ที่ครูสามารถใช้เวลาทำความเข้าใจนักเรียนได้ในภาคการศึกษานั้นๆ แต่ต้องไม่ลืมว่า ‘เวลา’ ที่พูดถึงนั้นถูกกดทับจากภาระงานที่เกินตัว

 

และแม้ว่ามันจะไม่ไปเบียดเบียนเวลาสอน แต่มันทำให้เวลาว่างที่ครูควรจะได้ดูแลนักเรียนได้ศึกษาความรู้เพิ่มเติมมาพัฒนาทักษะการสอนของตัวเองถูกใช้ไปกับงานอื่นๆ นั่นจึงทำให้ครูมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก ในการจัดการเรียนการสอน จนถูกบีบไปใช้พฤติกรรมหรือการสอนเดิมๆ คือการสั่งให้นักเรียนทำรายงาน จดโน่นจดนี่ จนท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การใช้วิธีควบคุมเด็กแบบเดิมๆ ที่มีเรื่องของการตวาด ขู่ หรือใช้ความรุนแรงมาเกี่ยวข้องในวิธีการสอน 

 

สุดท้ายครูทิวกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าต่อให้ครูได้รับเงินเดือนที่มากกว่านี้ให้สมกับภาระงานที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องดีหากครูได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดีในแง่เรื่องของค่าครองชีพ แต่ครูจะไม่มีทางสอนดีได้มากกว่านี้ ถ้าหากภาระงานยังเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

“คุณภาพชีวิตของครูไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือน แต่คือเรื่องของการบริหารจัดการภาระงานต่างๆ แล้วทำให้ครูดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่ จริงอยู่ที่ไม่เกี่ยวกันเลยหากจะเอาความเครียดมาลงที่เด็ก แต่ผมจะบอกว่าภัยเงียบที่แฝงอยู่ในระบบการศึกษาที่พูดถึงข้างต้นมันได้ไปปิดตาให้ครูมองไม่เห็น และไม่รู้จะต้องทำอย่างไรในวิธีการที่จะนำมาใช้ในการจัดการปัญหามากกว่า” ครูทิวกล่าวปิดท้ายในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising