×

นักวิชาการไทยเสนอบทวิเคราะห์แนวทางพัฒนาใหม่ เพื่อประสานประโยชน์ไทย-จีน

17.11.2022
  • LOADING...

จีนนับเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้า โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ชาวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุด (ราว 10 ล้านคน) ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยในแต่ละปี

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งไทยและจีนต่างเผชิญหน้ากับโลกที่ไม่แน่นอนและไม่มั่นคงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทั้งสองประเทศจำเป็นที่จะต้องกระชับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการส่งเสริมการฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) ในช่วงหลังจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่

 

ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสถานะการเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค ทำให้ไทยสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงการพัฒนารูปแบบใหม่ของประเทศไทย อย่างโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ เข้ากับโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative) ของจีนได้

 

โดย รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวลงใน China Daily วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ซึ่งตรงกับช่วงที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2022 ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนนี้

 

รศ.ดร.อักษรศรี ชี้ว่า การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย กับโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน จะสร้างโอกาสใหม่ให้กับทั้งสองประเทศในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้ 

 

ประการแรก การเชื่อมโยงดังกล่าวจะช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองประเทศในการดำเนินความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและแผนงานสำหรับการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรม ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนการเติบโต โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านโครงการ Belt and Road ที่มีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมในการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยเองก็มีส่วนช่วยส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูงและเทคโนโลยีสะอาด และเนื่องจากจีนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ จึงทำให้นักลงทุนชาวจีนอาจสนใจมาลงทุนที่ประเทศไทยเพื่อขยายธุรกิจมากยิ่งขึ้น

 

ดังนั้นทั้งสองประเทศควรกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกัน ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน รวมถึงเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสีเขียว ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การทำการเกษตรสมัยใหม่ การผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงในมิติอื่นๆ อีกด้วย 

 

ที่สำคัญรัฐบาลไทยคาดหวังว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทของจีนจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของผู้ประกอบการไทย เพิ่มศักยภาพในการผลิต และเพิ่มการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานในท้องถิ่น ตามแนวคิดการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ประการที่สอง จีนมีศักยภาพสูงมากที่จะลงทุนในประเทศไทยและใช้ที่นี่เป็นฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางตลาดอาเซียน ทำให้ไทยมีความน่าสนใจในฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิต อีกทั้งยังมีท่าเรือย่อยที่จะช่วยกระจายสินค้าจีนออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และสมาชิกประเทศอื่นๆ ของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)

 

นอกจากนี้ ในฐานะที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ซึ่งมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ประเทศไทยจึงอยู่ในสถานะที่ดีที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างอาเซียนกับจีน และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน รวมถึงยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน และผลักดันความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างให้เจริญรุดหน้ามากยิ่งขึ้น

 

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องประสานโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และโครงการ Belt and Road Initiative ของจีนเข้าด้วยกัน เพราะภาคธุรกิจของจีนจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการจัดหาเทคโนโลยีขั้นสูงและเทคโนโลยีสะอาด รวมถึงสร้างทางรถไฟความเร็วสูง สนามบินที่ทันสมัย และเมืองอัจฉริยะในราคาที่สามารถแข่งขันได้

 

ประการที่สาม เนื่องจากทั้งไทยและจีนต่างเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีภารกิจการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการรักษาสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการหลีกเลี่ยงกับดักรายได้ปานกลาง ทั้งสองประเทศจึงควรกระชับความร่วมมือให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและยกระดับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในด้านเศรษฐกิจและสังคม

 

ทั้งสองฝ่ายควรแบ่งปันประสบการณ์ด้านธรรมาภิบาลระหว่างกัน พร้อมๆ กับการเลือกเส้นทางการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเงื่อนไขของประเทศตน โดยโมเดล BCG ของไทยนำ ‘หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาประยุกต์ใช้ โดยปรัชญานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพิ่มการเติบโตของ GDP รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจีนนั้นมุ่งประสานความร่วมมือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เปิดกว้างและแบ่งปันซึ่งกันและกัน รวมถึงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

 

ดังนั้น ประเทศไทยและจีนจะต้องเพิ่มปฏิสัมพันธ์ เพิ่มการประสานงานด้านการพัฒนา เพื่อเรียนรู้และส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 

ประการที่สี่ ประการสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายควรใช้ความเชื่อมโยงระหว่างโมเดล BCG และ Belt and Road Initiative เพื่อขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงมีบทบาทนำในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน

 

ไทยสนับสนุนการขยายความร่วมมือกับจีน เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาในระดับโลก และผลักดันวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ขององค์การสหประชาชาติให้บรรลุผลสำเร็จ ด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ความไว้ใจกันในทางการเมืองและความร่วมมือที่เป็นมิตร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรม สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถช่วยให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และ Belt and Road Initiative ของจีนสอดประสานและเกี่ยวโยงกันได้

 

แฟ้มภาพ: Wang Zhao-Pool / Getty Images

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising