×

จากดนตรีไทยสู่ผัดไทย และยุคสมัยจอมพล ป. ฉากความเป็นไทยที่หาดูได้ในโหมโรง เดอะ มิวสิคัล

11.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ปี 2561 หรือจะพูดว่าอีก 14 ปีถัดมา โหมโรง กลับมาในเวอร์ชันเดอะ มิวสิคัล เปิดการแสดงใหม่อีกครั้งในช่วงนี้ พร้อมกับกระแสการอนุรักษ์ความเป็นไทยจากออเจ้าเรื่อง บุพเพสันนิวาส พอดี
  • แต่กลิ่นอายของ โหมโรง เดอะ มิวสิคัล นั้นเต็มไปด้วยริ้วรอยความบอบช้ำของคนในชาติ ช่วงที่โดนเหยียบย่ำบีบคั้นจากคำสั่งกติกาที่ไม่ได้สนใจความรู้สึกของประชาชนหมู่มากในสังคม แตกต่างจากกระแสโลกสวยอินเลิฟคู่ขวัญการะเกดกับพี่หมื่นของ บุพเพสันนิวาส อย่างสิ้นเชิง

14 ปีแล้วที่ฉันไปโรงหนัง SF เซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อชมภาพยนตร์หลุดกระแสหลัก เรื่อง โหมโรง แต่ก็หวือหวาขึ้นมาได้จากกระแสโหมกระหน่ำด้วยความช่วยเหลือร่วมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในห้องเฉลิมไทย เว็บไซต์พันทิป ที่ได้เข้ามาบอกเล่าและเชิญชวนไปดูหนังเรื่องนี้ จนกลายเป็นหนังที่คนเริ่มมาให้ความสนใจ ทำให้กระแส โหมโรง ที่มาในช่วงปลายสมัยของความรุ่งเรืองของวงการหนังไทยนั้นได้กลายเป็น case study ของกระแสโซเชียลที่ส่งผลกระทบต่อวงการหนังได้ดีเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว  

 

เรียกได้ว่าเป็นอาการโหยหาอดีตที่ชนชั้นกลางในประเทศได้แสดงออกกันอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ การแสดงออกในครั้งนั้นถือได้ว่าพื้นที่ในโลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ในการแสดงอาการทางหนึ่งของคนในโลกชนชั้นกลาง แต่นั่นคือเรื่องราวเมื่อปี 2547

 

 

ปี 2561 หรืออีก 14 ปีถัดมา โหมโรง กลับมาในเวอร์ชันเดอะ มิวสิคัล เปิดการแสดงใหม่อีกครั้งในช่วงนี้ พร้อมกับกระแสการอนุรักษ์ความเป็นไทยจากออเจ้าเรื่อง บุพเพสันนิวาส พอดี แต่กลิ่นอายของ โหมโรง เดอะ มิวสิคัล นั้นจะเต็มไปด้วยริ้วรอยความบอบช้ำของคนในชาติ ช่วงที่โดนเหยียบย่ำบีบคั้นจากคำสั่งกติกาที่ไม่ได้สนใจความรู้สึกของประชาชนหมู่มากในสังคม แตกต่างจากกระแสโลกสวยอินเลิฟคู่ขวัญการะเกดกับพี่หมื่นของ บุพเพสันนิวาส อย่างสิ้นเชิง แต่ในความบอบช้ำหมองหม่น มันก็ช่างเต็มไปด้วยอรรถรสที่โอชาดื่มด่ำกับความรู้สึกทั้งมวลที่โหมประดังมาสู่ผู้ชมในโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศอย่างเต็มอิ่มอุ่นใจ

 

 

ศิลปะ ศิลปิน ที่ถูกครอบงำด้วยกฎเกณฑ์

กลิ่นอายของศิลปะที่โดนครอบงำ จากละครเรื่องนี้ทำให้ฉันได้มีโอกาสคิดตาม และพินิจพิจารณาตามบทบาทของเรื่องราวและตัวละครที่มีตัวตนจริงๆ ของหลวงประดิษฐไพเราะ การที่นักดนตรีไทยหนุ่มแห่งคลองอัมพวาจะได้ก้าวเข้าสู่โลกไฮโซ ได้แสดงความสามารถให้เฉิดฉันจนเป็นที่รู้จักไปทั่วแคว้นแดนสยาม ก็ต้องได้รับการเลี้ยงดูจากเจ้าใหญ่นายโตในยุคนั้น (ซึ่งปัจจุบันก็คงเรียกว่าสังกัด) แล้วลงท้ายที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนทำให้เหล่านักดนตรีในราชสำนักก็โดนโอนถ่ายไปเป็นคนของรัฐ ซึ่งก็ไปโดนปกครองอีกครั้งโดยภาครัฐ

 

จะเห็นได้เลยว่าความเป็นอิสระและความคิดสร้างสรรค์ผลงานที่ศรวัยหนุ่มจะคิดทางเพลงระนาดแบบครีเอตสุดๆ ขึ้นมาได้ ก็เมื่อได้กลับไปอยู่ในโลกแห่งรากเหง้าของตัวเองในยามที่ตนเองได้มีอิสระทางความคิดทางศิลปะที่เป็นตัวตนของตัวเองแบบไร้ขอบเขตกฎเกณฑ์และกติกาครอบงำ

 

ขณะที่ศรในบั้นปลายชีวิตต้องมาเจอกฎระเบียบแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมของท่านผู้นำ และท่านผู้นำคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังและเบื้องหน้าความต้องการเป็นศิวิไลซ์เท่าเทียมโลกตะวันตก ซึ่งกฎระเบียบเหล่านั้นได้เข้ามากดขี่เหยียบย่ำวงการดนตรีและนักแสดงรวมทั้งศิลปะแขนงพื้นบ้านต่างๆ สร้างความเจ็บช้ำและทำให้เกิดความเก็บกดของอิสรภาพ รวมทั้งเสรีภาพการแสดงออกในงานศิลปะแทบทุกแขนง

 

สิ่งที่เกิดขึ้นบอกให้เรารู้ว่า ศิลปะไม่ควรมีข้อจำกัดใดๆ เลย โดยเฉพาะกฎกติกาแห่งภาครัฐ สังกัด หรือเจ้านาย

 

 

โหมโรง เมื่อเปี๊ยกยอม แต่ฉันไม่ยอม

ไม่มีฉากไหนจะทำให้ฉันเจ็บช้ำน้ำใจได้เท่ากับฉากที่เปี๊ยกและเพื่อนๆ ร่วมวงเล่นดนตรีไทยอยู่ที่บ้าน แล้วทหารหนุ่มผู้คุ้มกฎแห่งวัฒนธรรมศิวิไลซ์มาเล่นงานเปี๊ยกถึงบ้านเนื่องมาจากคำสั่งห้ามเล่นดนตรีไทยในช่วงสงครามโลก

 

ช่วงเวลาที่บีบหัวใจจนฉันกำหมัดแน่นคือช่วงเวลาที่ทหารเหยียบย่ำเปี๊ยกและเครื่องดนตรีไทยแล้วจากไป ทุกคนเจ็บช้ำ เหมือนจะไม่อดกลั้นและคล้ายว่าพร้อมจะต่อสู้หาหนทางที่จะยืนหยัดเพื่อเรียกร้องความเป็นไทในช่วงที่ประเทศเพิ่งจะได้รับการเปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็นประเทศไทย

 

แต่แล้วเปี๊ยกก็ได้ร้องเพลง เหมือนกับเพลงสยามยิ้ม เหมือนผ่อนคลายทุกคนให้อดทนแล้วลืมมันไปซะ อยู่กับมันให้ได้ ยิ้มแล้วลืมๆ มันไป ยิ้มแล้วเฉยๆ ไป แล้วมันก็จะผ่านไป แล้วมันก็จะชินไปเอง

 

มันขัดใจค่ะ มันขัดใจกับการทำละครให้คนไม่สู้กับอำนาจที่มิชอบ ให้อดทน เก็บยั้ง กับการโดนรังแกจากผู้มีอำนาจมิชอบในกติกาที่ไม่เป็นธรรมต่อคนหมู่มาก มันเหมือนแอบสอนให้คนยอมแพ้ ยอมจำนน ไม่สู้คน ไม่สู้ชีวิต ฉากนี้ไปจนถึงฉากที่เปี๊ยกพ่ายแพ้นั้น มันสอนให้ฉันบอกกับตัวเองว่า ถ้ายอม ก็จะยอมไปเรื่อยๆ ถ้ายอม ก็คือการยอมไปจนชีวิตจะหาไม่ คุณจะเป็นแบบเปี๊ยกกระนั้นหรือ

 

เปี๊ยกยอม แต่ฉันไม่ยอม…

 

 

กระนั้นการได้ดูละครเรื่องนี้กลับทำให้ฉันนึกถึงวันที่คุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่มานานแสนนาน ที่เกิดทันในยุคสมัยก่อน ประกอบกับการคุยกับอากง (ปู่ของฉัน) ถึงช่วงเวลาของสงครามโลกที่ยากแค้นแสนเข็ญ แล้วยังมาเจอกับกฎกติกาความต้องการเป็นศิวิไลซ์ของเหล่านายทหารหนุ่มผู้มีความต้องการหักดิบโลกยุคเก่าโดยไม่รอเวลาแห่งการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ได้แต่ใจเร็วจะให้โลกล้าหลังของไทยนั้นได้ก้าวไวและก้าวทันโลกฝรั่งในช่วงสมัยนั้น

 

“มันมาให้ใส่รองเท้า ให้เป็นศิวิไลซ์อะไรตอนสงครามวะ ช่วงสงคราม แกคิดดูว่า รองเท้าราคาเท่าไร” บุรุษนิรนามที่จากโลกนี้ไปแล้วเคยบ่นให้ฟัง

 

“ให้นั่งโต๊ะกินข้าว ไม่ให้นั่งพื้น ไม่ให้ใช้มือ ให้ใช้ช้อน จะไปหาซื้อมันต้องใช้เงินอีกเท่าไร เอาเงินมาให้สิคะ” สาวๆ บ่น

 

“อยู่ๆ ก็มาให้เลิกนุ่งโจง ให้นุ่งกระโปรง ใครจะไปตัดทัน ค่าผ้าเท่าไร ดีนะที่ยังอนุโลมให้นุ่งซิ่น แต่พวกผู้ชายนี่สิ ห้ามโจง ให้ใส่กางเกง จะตัดทันไหมนั่น

 

“โอ๊ย ไม่ไหวแล้วโว้ย ห้ามโน่นห้ามนี่ ห้ามแม่ค้าหาบเร่ ห้ามขายของริมถนน อาม่ากลับเลย กลับบ้านนอกดีกว่า ไม่ไหว ไปทำมาหากินที่ต่างจังหวัดดีกว่า ไม่มีใครมาบ้าบอแบบนี้

 

“ห้ามอะไรก็ห้ามได้ ห้ามนั่งพื้นเล่นดนตรี ห้ามนักดนตรีไทยก็ยังไม่เท่าไร ห้ามลิเกก็ยังไม่ว่า คนจีนนี่สิ โดนห้ามงิ้วไปด้วยพักหนึ่ง เก็บกด…มาก” เพื่อนอากงเคยกล่าวไว้นานแล้ว

 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

 

ยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย อาหารก็ด้วย

ระหว่างเขียนบทความนี้ ฉันก็คิดมาถึงเรื่องของอาหารในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยกำหนดไว้ เช่น ใส่ถั่วงอกในก๋วยเตี๋ยว (มันทำให้รสชาติน้ำซุปเสียหมดเลยค่ะ ลองทานแบบไม่ใส่สิคะ จะอร่อยกว่ามาก) แล้วฉันก็นึกถึงเรื่องของอาหาร เช่น ผัดไทย เอ๊ะ มันอาหารจีนหรือเปล่า คนไทยมีก๋วยเตี๋ยวด้วยเหรอ ฉันก็เลยเดินไปถามหม่าม้าเรื่องโลกของคนจีนในยุคเก่าๆ ที่สามารถย้อนยาวไปจนถึงยุคจอมพล ป. ที่เรืองอำนาจได้เช่นกัน อย่างชัดเจนเท่าที่แม่ฉันจะเล่าได้ก็น่าจะเป็นเรื่องอาหารแถวเทเวศร์ 1 ยาวมาถึงวังบางขุนพรหมจรดสี่แยกบางลำพู

 

แม่เล่าว่า สมัยก่อนคนจีนจะมีก๋วยเตี๋ยวผัดที่อยู่มานานมาก จะเป็นเส้นเล็กเหมือนเส้นจันท์ที่ผัดกับน้ำมันหมูแล้วใส่กุยช่ายกับถั่วงอก ใส่ซีอิ๊วดำ ผัดแล้ววางไว้บนกระทะใบบัว พอคนมาซื้อ ก็จะเอามาผัดให้ร้อนแล้ววางบนใบตอง ใบตองหนึ่งก็ประมาณสลึงหนึ่ง

 

เมนูนี้ฉันก็ได้กินที่ซอยอรรถกวี ถนนพระราม 4 สมัยเรียนอยู่โรงเรียนสายน้ำผึ้งเหมือนกันค่ะ ตอนฉันซื้อกินก็ 2 บาทแล้ว เมนูนี้คนก็จะคิดว่ามันคล้ายๆ ผัดไทย แต่มันไม่ใช่ มันคือก๋วยเตี๋ยวไร้เนื้อสัตว์ของคนจีนจนๆ ในละแวกนั้น อาหารคนจีนจนๆ จะไม่มีหมู ไม่มีเนื้ออะไรหรอกค่ะ

 

แล้วที่โปรดปรานอีกอย่างคือ กอก้วย ซึ่งก็คือแป้งเป็นก้อนๆ ผัดกับกุยช่ายถั่วงอกแล้วก็ใส่ซีอิ๊วดำเหมือนกัน โอ๊ยน้ำลายไหล อยากกินอีกแล้ว แต่ปัจจุบันเราจะเห็นเมนูนี้เป็นขนมผักกาดผัดค่ะ ดูหรูหราเลย เพราะมีทั้งผัดทะเล ผัดกุ้ง แต่ไม่อร่อยเท่าสมัยก่อนหรอก เพราะสมัยก่อนตัวแป้งใส่หัวไชเท้าด้วย แซ่บๆ

 

อีกสองเมนูที่แทบจะไม่เหลือตามแบกะดินริมฟุตปาธแล้วก็คือ ก๋วยเตี๋ยวหลอดคนจน ซึ่งจะใช้เส้นหมี่เป็นหลักวางในซึ้งนึ่งคู่กับถั่วงอก แล้วเวลาจะกินก็เอามาโรยวิญญาณกุ้งแห้งป่น แล้วราดด้วยเต้าหู้แข็งที่ผัดกับเต้าเจี้ยวและซีอิ๊วดำลงไป อืม… ตอนหลังเขาก็เพิ่มพวกหมูกับกุนเชียงเข้าไป จิตวิญญาณคนจนหายไปเยอะเลยค่ะ

 

เมนูคนจนอีกอย่างคือ ถ่อก้วย ที่เป็นแป้งสีชมพูที่ปั้นเป็นรูปหัวใจเบี้ยว ปั๊มตราข้างบนมีไส้ข้างในเป็นข้าวเหนียว หรือกุยช่ายผัด แล้วเวลาจะกินก็เอาไปทอดให้เกรียมๆ กรอบนอก นุ่มใน แล้วเหยาะๆ ด้วยซีอิ๊วหวานดำๆ น่ะค่ะ คิดแล้วน้ำลายสอ แต่ตอนนี้หากินไม่ได้แล้วอาหารพวกนี้

 

ซึ่งเมนูพวกนี้ คนจีนอพยพจะหิ้วมาค่ะ นำวัฒนธรรมการอาหารมาให้คนจีนคนจนในไทยได้กิน ซึ่งจะหากินได้แถวคนจีนอยู่เยอะๆ เช่น เทเวศร์ ท่าเตียน ปากคลองตลาด คลองเตย เยาวราช มีหมด สมัยก่อนยังเจอบ่อยๆ สมัยนี้จะหาได้ก็ต้องสั่งค่ะ ห่อก้วยนี่ยังต้องสั่งในตลาดเก่าเยาวราชเลย แบบทอดสดๆ ก็ไม่มีแล้ว ต้องสั่งเป็นชุดมาไหว้อากงอาม่า ถึงจะทำได้

 

 

ผัดไทย อาหารแห่งชาตินิยม

แล้วมันมาเกี่ยวกับผัดไทยอย่างไร

 

ไอ้เราก็อยากรู้แล้วผัดไทยล่ะ มันมาได้อย่างไร คนเฒ่าคนแก่บอกว่า ผัดไทยนั้นไม่ได้มาจากการคิดอาหารไทยอะไร มันก็ดัดแปลงมาจากผัดเส้นเล็กบนซีอิ๊วดำของคนจีนนั่นแหละ แต่ช่วงที่เริ่มต้นนั้นเป็นช่วงข้าวยากหมากแพงในยุคสงครามของ จอมพล ป. ซึ่งทำให้รัฐบาลไทยต้องขายข้าวให้ต่างชาติหาเงินมาบริหารประเทศ ทำให้ประเทศไทยขาดแคลนข้าวไทยกันเองนี่แหละ นโยบายให้กินก๋วยเตี๋ยวก็มาจากตรงนี้

 

ว่าแต่ว่าไอ้ครั้นจะรณรงค์ให้รับประทานก๋วยเตี๋ยว มันก็ขัดกับนโยบายชาตินิยมของท่านผู้นำ แล้วในช่วงสงครามโลก ปัญหาด้านคนจีนมันก็เยอะ เพราะคนจีนแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นกลุ่มต่างๆ มากมาย ประกอบกับมีญี่ปุ่นเข้ามาอีก อั้งยี่ก็กลับมา ทำให้ต้องมีการกำราบคนจีนในไทยอย่างหนัก แล้วก็ขึ้นราคาค่าคนอพยพเข้าเมืองของคนจีนเป็นสองเท่า ทำให้ทุกอย่างยากลำบากขึ้น ประกอบกับเมื่อข้าวยากหมากแพง ก็ทำให้รัฐได้รู้ว่ากิจการข้าวของไทยนั้นไปอยู่ในมือคนจีนเยอะมาก ไอ้ที่พวกญาติผู้ใหญ่ของฉันไปรับจ้างแบกกระสอบข้าวนี่ก็คือไปรับจ้างจากนายคนจีนด้วยกันเองนะคะ รัฐรู้ รัฐก็ยึดคืนหมดสิคะ จะเหลือเหรอ

 

รวมปัญหารอบด้าน เอามาคิด วิเคราะห์ และแยกแยะแล้ว ทีมงานฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อและฝ่ายนโยบายวัฒนธรรมก็คิดขึ้นมาได้ว่า การรณรงค์ให้กินก๋วยเตี๋ยวของรัฐบาลนั้น จะทำให้คนจีนเหิมเกริมเป็นแน่แท้ เลยตัดสินใจสร้างเมนูเด็ดของตัวเองขึ้นมา โดยเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์แบบนี้แหละ แล้วคิดน้ำราดของตัวเองขึ้นมา เป็นน้ำมะขามผสมกับน้ำตาลปี๊บ แล้วมาผัดกับถั่วงอก กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ใส่ไข่ ออกมาเป็นเมนูฮิตติดอันดับโลกนามว่า ผัดไทย

 

ว่าแต่จาก โหมโรง มาโหมผัดไทยได้อย่างไรกันนี่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย ความเป็นชาตินิยม ภายใต้รัฐที่ปกครองโดยทหาร ที่ไม่ว่าชาติไหนก็เหมือนกันหมด

ยังไงก็แล้วแต่ ทุกเสาร์อาทิตย์จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมี โหมโรง เดอะ มิวสิคัล ให้ดูกันต่อนะคะ ติดต่อซื้อตั๋ว thaiticketmajor.com นะคะ

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising