×

ไทยใช้หุ่นยนต์อันดับ 10 โลก แบงก์ชาติเตือนแรงงานกว่าครึ่งเสี่ยงตกงานในปี 2028

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2018
  • LOADING...

แบงก์ชาติเตือนแรงงานต้องปรับตัว เรียนรู้เทคโนโลยี พัฒนาทักษะ ภาคการเกษตรเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์มากที่สุด

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานการศึกษาผลกระทบของหุ่นยนต์ต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยในหัวข้อ ‘หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?’ โดย พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ และ นันทนิตย์ ทองศรี โดยพบว่าภาคธุรกิจของไทยใช้หุ่นยนต์มากติดอันดับ 10 ของโลก เป็นรองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสเปน ซึ่งโรงงานใช้หุ่นยนต์ทั้งกระบวนการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานก่อสร้างใหม่ที่วางแผนสายการผลิตทุกขั้นตอนต่อเนื่อง และเห็นชัดเจนจากปี 2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ที่โรงงานต่างๆ ต้องออกแบบการผลิตใหม่จากผลกระทบของเครื่องจักรที่เสียหาย

 

3 อุตสาหกรรมที่เน้นใช้หุ่นยนต์มากที่สุดได้แก่ ยานยนต์ ยางและพลาสติก และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากงานหลายประเภทเป็นงานที่ทำซ้ำๆ เป็นแบบแผนจึงแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ได้ นอกจากนี้ยังทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานและใช้หุ่นยนต์ทำงานอันตรายแทนคน เช่น การเชื่อมเหล็กและขึ้นรูปพลาสติก งานบางประเภทแรงงานคนก็ไม่สามารถทำได้ เช่น การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เป็นต้น

 

ความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ของไทยอยู่ที่หุ่นยนต์ 45 ตัวต่อแรงงาน 1 หมื่นคน ซึ่งยังต่่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีหุ่นยนต์ 74 ตัวต่อแรงงาน 1 หมื่นคน สาเหตุสำคัญคือทักษะแรงงานของไทยยังไม่เอื้อต่อการใช้หุ่นยนต์เท่าใดนัก ผลกระทบจากการใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงานจึงไม่เห็นชัดในช่วงที่ผ่านมา

 

การศึกษาชิ้นนี้ระบุว่า อีกไม่เกินสองทศวรรษ หากโครงสร้างอุตสาหกรรมยังคงที่แบบนี้และภาคธุรกิจเน้นการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มากขึ้นเรื่อยๆ แรงงานในภาคกลางถึง 47.4% มีโอกาสถูกแทนที่โดยเทคโนโลยีซึ่งมากที่สุดในประเทศ ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีความเสี่ยงสูงกว่า 55% หรือกว่า 3 ล้านคนที่จะถูกทดแทน แรงงานเยาวชนและแรงงานที่ยังมีประสบการณ์การทำงานไม่มากนัก (อายุ 15-24 ปี) เสี่ยงถูกแทนที่มากที่สุดถึง 52.5%

 

แบงก์ชาติตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า อาชีพที่โอกาสถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีต่ำ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตกงาน เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่น เช่น ความต้องการ

แรงงานและความสามารถของแรงงาน บางสาขาวิชาถึงจะมีบัณฑิตหรือผู้ประกอบอาชีพน้อย แต่ถ้ายังมากกว่าความต้องการของตลาดแรงงานก็มีสิทธิ์ว่างงานได้อยู่ดี ขณะที่แนวโน้มค่าจ้างจะปรับสูงขึ้น ทำให้ในอนาคตเทคโนโลยีทำแทนงานที่ใช้ทักษะน้อยหรืองานที่ทำซ้ำๆ แรงงานอาจเผชิญกับปัญหาในการปรับตัว พัฒนาทักษะ หางานยากขึ้น หรือแม้กระทั่งตกงาน ส่วนแรงงานทักษะสูงที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีจะเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจมากขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising