×

เสียงสะท้อนผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ในวันที่นโยบายทรัมป์สร้างความไม่แน่นอน

10.04.2025
  • LOADING...
thai-restaurants-trump

มาตรการภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการภายในสหรัฐฯ ที่ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบนำเข้าที่แพงขึ้นหนีไม่พ้นธุรกิจอาหาร ซึ่ง THE STANDARD ได้ฟังเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากผู้ประกอบการไทยในธุรกิจเหล่านี้ว่าภาพรวมสถานการณ์เป็นอย่างไร และพวกเขาปรับตัวกันอย่างไรบ้าง

 

ร้านอาหารไทยอาจอยู่ไม่รอดหากต้นทุนสูงเกินไป

 

นิวัฒน์ หาญสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ซึ่งดูแลและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยใน 14 รัฐของฝั่ง West Coast เล่าถึงผลกระทบที่มีต่อการทำธุรกิจของบรรดาผู้ประกอบการไทยในสหรัฐฯ จากนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ว่า หลังจากที่ทรัมป์ประกาศกำหนดภาษีตอบโต้เมื่อวันที่ 2 เมษายน ทำให้ตลาดทั้งฝั่งผู้นำเข้า-ส่งออก และผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก ผู้นำเข้าเริ่มชะลอการนำเข้าและการรับออเดอร์ เพราะนโยบายมีความไม่แน่นอน ส่วนผู้บริโภคคนไทยในสหรัฐฯ พากันกักตุนสินค้า โดยเฉพาะสินค้าจำเป็น เช่น ข้าว กะทิ น้ำปลา

 

ที่ผ่านมา สินค้าจากไทยที่เจาะตลาดในสหรัฐฯ ได้ดี มีทั้งสินค้าอาหารไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ กะทิ ซึ่งมีตลาดที่มั่นคงในกลุ่มเอเชีย ขณะที่อาหารสัตว์ก็เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลัก มีมูลค่าส่งออกหลักหมื่นล้านบาท

 

หากมาตรการภาษีตอบโต้ที่ออกมามีบังคับในวันที่ 9 เมษายน ก็จะส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้า ซึ่งผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ตามทรัมป์ได้ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้กับ 75 ประเทศออกไปก่อน 90 วัน แต่ยังคงระดับภาษีพื้นฐานที่ 10% สำหรับทุกประเทศตามเดิม

 

คาดการณ์ว่าหลังจากนี้ระดับเงินเฟ้อจะยังคงสูงขึ้น และเราอาจได้เห็นผลกระทบจริงหากพ้น 90 วันไปแล้ว รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมถึงไทยเจรจากับรัฐบาลทรัมป์ไม่สำเร็จ และมีการเดินหน้ามาตรการภาษีต่อ 

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ได้มีการเตรียมการรับมือผลกระทบ โดยมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการตั้งแต่ก่อนวันที่ 2 เมษายน ซึ่งนิวัฒน์ เผยว่าการกำหนดภาษีตอบโต้ต่อไทยในอัตรา 36% ทำให้ตลาดช็อก และขณะนี้ยังทำได้เพียงให้คำปรึกษา และต้องรอผลการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ

 

ส่วนมุมมองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เขามองว่าระยะสั้น ราคาสินค้าจะสูง และผู้บริโภคสหรัฐฯ จะเดือดร้อน แต่ระยะกลาง-ยาว หากสงครามภาษียืดเยื้อ ก็อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่เชื่อว่าไม่น่าจะยืดเยื้อ เพราะแม้แต่สหรัฐฯ เอง ก็ต้องนำเข้าสินค้าบางชนิด 

 

และจากที่นิวัฒน์พูดคุยกับผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ ก็เชื่อว่าไม่น่าจะยืดเยื้อ เพราะภาษีเกิน 30% นั้นเป็นภาระมาก โดยคาดว่านโยบายของทรัมป์เป็นเพียงการ “ขู่เพื่อเรียกมาเจรจา” แต่ท้ายที่สุดถ้ายืดเยื้อจริง ธุรกิจหลายรายอาจล้ม

 

ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารไทย คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะวัตถุดิบไทยจำนวนมาก เช่น ข้าวหอมมะลิ กะปิ น้ำปลา มีต้นทุนสูงขึ้น โดยหากมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงมาก ก็อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ของทดแทนจากอเมริกา เช่น ข้าวเท็กซัสซึ่งแข็งกว่า นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอื่น เสี่ยงต่อการเสียตลาดให้ร้านอาหารประเทศอื่น และร้านอาหารไทยอาจอยู่ไม่รอดหากต้นทุนสูงเกินไป

 

นิวัฒน์ยังยกตัวอย่างราคาสินค้าที่เป็นที่นิยม อย่างข้าวหอมมะลิ ซึ่งที่ผ่านมาข้าวถุงน้ำหนัก 25 ปอนด์ หรือประมาณ 11 กิโลกรัม จะมีราคาประมาณ 25 ดอลลาร์ หรือราว 850 บาท โดยผลจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ อาจทำให้ราคาปรับขึ้นสูงถึง 35 ดอลลาร์ หรือราว 1,200 บาท ซึ่งสำหรับผู้บริโภคทั่วไปอาจพอจ่ายได้ แต่สำหรับร้านอาหารที่ซื้อจำนวนมาก อาจไม่ไหว

 

ส่วนสินค้าอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารที่ได้รับผลกระทบ ยังมีอะไหล่รถยนต์ และยางรถยนต์ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบชัดเจน โดยไทยส่งยางรถยนต์ไปสหรัฐฯ ประมาณ 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเดือน นอกจากนี้คาดว่าราคารถในสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มปรับขึ้นด้วยเช่นกัน

 

หวังรัฐบาลไทยเจรจาสำเร็จ เพราะร้านอาหารไทยเป็นด่านหน้า Soft Power

 

อีกเสียงสะท้อนมาจากผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง อธิคม ลาภนำพา ผู้ร่วมก่อตั้งร้านอาหาร Farmhouse Kitchen Thai Cuisine ที่มีทั้งหมด 8 สาขาในสหรัฐฯ และดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2015 

 

อธิคมเปิดเผยถึงแนวทางการเตรียมรับมือผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ โดยมองเห็นสัญญาณตั้งแต่ช่วงเริ่มมีการประกาศ ซึ่งสะท้อนถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานที่แพงอยู่แล้ว 

 

หนึ่งในแนวทางที่ร้านของเขาเริ่มพิจารณาแล้ว คือการตัดเมนูที่ใช้วัตถุดิบหายากหรือราคาสูงเกินไป รวมถึงมองหาวัตถุดิบทดแทน เช่น ข้าวจากประเทศอื่นที่มีคุณภาพใกล้เคียงข้าวหอมมะลิไทย และเริ่มจัดตั้งระบบซื้อวัตถุดิบด้วยตนเอง เพื่อลดต้นทุนแทนการสั่งจากซัพพลายเออร์ โดยสั่งซื้อใน Volume ที่มากขึ้น และส่งคนไปรับวัตถุดิบเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ในการวางแผนเรื่องการสต็อกวัตถุดิบและต้นทุนรายสัปดาห์

 

อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า สิ่งสำคัญยังคงเป็นการรักษาเอกลักษณ์และคุณภาพอาหารความเป็นอาหารไทยแท้ไว้ ซึ่งทำให้วัตถุดิบส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากไทยและไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบทดแทนได้มากนัก

 

ส่วนการปรับขึ้นราคาอาหารเพื่อรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นหนึ่งในแนวทางรับมือ แต่อธิคมชี้ว่า ต้องไม่ปรับราคาขึ้นสูงจนแตกต่างชัดเจน และต้องค่อยๆ ปรับขึ้น เพื่อรักษาลูกค้า 

 

โดยเขาเชื่อว่าสิ่งสำคัญ คือหากทางร้านยังรักษาคุณภาพอาหารและความเป็นไทยไว้ได้ ก็ยังมีฐานลูกค้าเหนียวแน่นในกลุ่มที่ชื่นชอบอาหารไทย

 

อธิคมยังมองว่าสถานการณ์ในครั้งนี้ น่ากังวลกว่าในช่วงเกิดวิกฤตโควิด เนื่องจากมีรายจ่ายเพิ่มแต่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งหากรายได้ไม่พอครอบคลุมต้นทุนจริงๆ อาจถึงขั้นจำเป็นต้องพิจารณาปิดกิจการบางสาขาเพื่อความอยู่รอด 

 

อย่างไรก็ตาม เขาคาดหวังให้รัฐบาลไทยเข้ามามีบทบาทในการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าไทยต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร้านอาหารไทยถือเป็นด่านหน้าของ Soft Power ไทย และมีส่วนช่วยส่งเสริมแรงงานไทยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการลดผลกระทบในจุดนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

 

ภาพ: AtlasbyAtlas Studio via Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising