×

คณะนักวิจัยไทยขึ้นไปทดลองบนเครื่องบินจำลองสภาวะไร้น้ำหนัก หวังต่อยอดการแพทย์อวกาศ

11.11.2024
  • LOADING...
คณะนักวิจัยไทยขึ้นไปทดลองบนเครื่องบินจำลองสภาวะไร้น้ำหนัก

คณะนักวิจัยไทยประสบความสำเร็จในการขึ้นทดลองบนเครื่องบินจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อนำองค์ความรู้และข้อมูลที่ได้มาพัฒนาต่อยอดด้านการแพทย์อวกาศ รวมถึงผลพลอยได้ต่อเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

 

วันที่ 5 พฤศจิกายน ทีมวิจัย TIGERS-X หรือ Thailand Innovative G-Force varied Emulsification Research for Space Exploration นำโดย ผศ. ดร.วเรศ จันทร์เจริญ อาจารย์ประจำวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมกับ 2 ตัวแทนนักวิจัย ได้แก่ ศรัณย์ สีหานาม และ เฮน เทต ออง นำการทดลองขึ้นบนเครื่องบิน Boeing 727 ที่ถูกดัดแปลงมาเพื่อรองรับการจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ ของบริษัท Zero-G ร่วมกับคณะวิจัยและการทดลองจากนานาประเทศ

 

งานวิจัยของ TIGERS-X เป็นการศึกษากระบวนการผสมของสารและของเหลวในสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ เช่นเดียวกับบนสถานีอวกาศนานาชาติหรือยานอวกาศที่อยู่ในอวกาศลึก โดยอาศัยองค์ความรู้จากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารอวกาศจากทีม KEETA ตัวแทนประเทศไทยที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย การแข่งขันพัฒนาอาหารอวกาศลึกของ NASA ที่มี ผศ. ดร.วเรศ เป็นหนึ่งในหัวหน้าทีม มาต่อยอดเพื่อใช้ในการทดลองเที่ยวบินนี้

 

เครื่องบิน Zero-G ขึ้นบินในรูปแบบพาราโบลา เพื่อจำลองสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำรวม 30 ครั้ง โดยคณะวิจัยไทยร่วมโดยสารขึ้นไปเพื่อปฏิบัติการทดลองและบันทึกผลในระหว่างเที่ยวบิน เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดในห้องปฏิบัติการอีกครั้ง

 

ตัวแทนจากคณะวิจัยเปิดเผยข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า “ทีมงานเองยังคงมีความหวัง และพร้อมที่จะประยุกต์ใช้ผลลัพธ์ที่ได้ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้บนพื้นโลก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหาร ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งแน่นอนว่าการผสมสารเคมีนั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญ ซึ่งอาจจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลของงานวิจัยชิ้นนี้ก็เป็นได้”

 

งานวิจัยของ TIGERS-X ได้รับการสนับสนุนโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. พร้อมกับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักวิจัยจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising