×

แจกของลับ ตอกกลับด้วยความหยาบคาย เจาะลึกฟังก์ชันของคำด่าที่ทั้งสะท้อนชนชั้นและสร้างความเสมอภาคให้สังคม

03.10.2020
  • LOADING...
คำด่า คำหยาบ พูดไม่เพราะ คำด่าไทย

HIGHLIGHTS

4 mins read
  • แม้อวัยวะเพศจะเป็นคำด่าที่ทำให้เจ็บปวดอย่างไร แต่อวัยวะพวกนี้กลับเป็นสิ่งที่ผู้คนในบางวัฒนธรรมและบางศาสนาให้การเคารพบูชา เพราะอวัยวะดังกล่าวนั้นไม่ใช่ของมนุษย์ หากแต่เป็นของพระเจ้าหรือเป็นผีทรงฤทธิ์ จึงทำให้อวัยวะดังกล่าวนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์
  • การด่าเป็นวิธีการระบายความรู้สึกอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการตอบโต้อีกฝ่ายเพื่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บและอับอาย หรือใช้ในยามที่ผู้ด่าไม่สามารถที่จะอธิบายเหตุผลอะไรต่ออีกฝ่ายได้อีก เพราะผู้ถูกด่าไม่มีทางจะเข้าใจมันได้

เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมอวัยวะเพศที่บางคนหรือบางวัฒนธรรม (เช่น ศิวลึงค์ ปลัดขิก โยนี) ได้รับการบูชา แต่ทว่าเมื่อถูกใช้ต่างบริบท บางกรณีมันกลับกลายเป็นคำด่า และบางกรณีมันกลับกลายเป็นคำที่สร้างมิตรภาพ หรือทำให้รู้สึกสนิทกันมากขึ้น ที่เห็นและได้ยินกันบ่อยๆ เช่น ถ้าเด็กสักคนพูดกับผู้ใหญ่ด้วยคำว่า ‘ค-ว-ย’ ก็จะกลายเป็นคำด่า มองว่าไม่สุภาพ เป็นเด็กก้าวร้าว แต่ถ้าเพื่อนใช้คำเดียวกันกับเรา อาจเปลี่ยนจากคำในภาษาไทยเป็นอังกฤษอย่าง ‘Fuck’ มันกลับให้ความรู้สึกไปอีกแบบ แสดงว่าเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้คำด่าหรือคำสบถ (Swearing Word) กลายเป็นเรื่องไม่สุภาพหรือสุภาพนั้นมีหลายปัจจัยมากๆ  

 

งานเขียนเกี่ยวกับคำด่าในงานการเมืองบ้านเรานั้นยังมีน้อย ส่วนมากแล้วเป็นการศึกษาที่มาของคำด่าในเชิงประวัติเท่านั้น และไม่ค่อยอธิบายให้สัมผัสกับสังคมเท่าไร เท่าที่ค้นและเจอที่พูดถึงคำด่ากับการเมืองและสังคมไทยบทความเดียวก็เห็นจะเป็นของ ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้เขียนบทความเรื่อง ‘คำด่าไทยกับสังคมไทย’ ไว้เมื่อ 7 ปีก่อน ในช่วงที่สังคมไทยมีปัญหาเรื่อง Hate Speech และการใช้คำด่า 

 

ยุกติได้นำแนวคิดของ เอ็ดมันด์ ลีช นักมานุษยวิทยาชื่อดังมาอธิบาย ซึ่งลีชได้วิเคราะห์ว่าคำด่าด้วยชื่อสัตว์บางคำในภาษาอังกฤษ เช่น กระต่าย (Bunny) และหมู (Pig) กลายเป็นคำด่าได้ เพราะมันมีสถานะที่อยู่ตรงกลางคือเป็นทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ภายใต้แนวคิดดังกล่าวยุกติจึงได้เสนอว่าปัญหาของคำเรียกอวัยวะเพศหรือชื่อสัตว์ที่กลายเป็นคำด่าในสังคมไทยได้นั้นเพราะเป็นสังคมที่มีชนชั้นทางสังคมแบบสูง-ต่ำ อีกทั้งมองว่าคำด่าเป็นวิธีอย่างหนึ่งในการช่วยจัดลำดับความสัมพันธ์ทางสังคม และยังเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ด้วย 

 

เมื่อย้อนกลับไปดูในกฎหมายตราสามดวงที่อาจถือว่าเป็นรากฐานดั้งเดิมของการจัดระเบียบสังคมไทยได้ระบุคำด่าไว้มากมาย เช่น ขี้เมา ขี้ขโมย ขี้คุก ขี้ข้า ขี้ครอก คนบ้า คนใบ้ อีดอกทอง อีเย็ดซ้อน หากใช้คำด่าเหล่านี้จะต้องถูกปรับไหมตามยศถาบรรดาศักดิ์ ยิ่งถ้าด่าไปถึงโคตรด้วยแล้วจะต้องถูกปรับไหมเป็นทวีคูณ นอกจากนี้กฎหมายตราสามดวงยังให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่ด่าด้วย ดังปรากฏว่าถ้าหากด่าเถียงกัน ผู้ใดรุกเข้าไปด่าใน ‘แดน’ เขา คนที่บุกรุกจะต้องได้รับโทษปรับไหม 

 

กฎหมายโบราณอาจต่างจากกฎหมายสมัยใหม่ที่ไม่ได้ระบุคำด่าไว้อย่างชัดเจน เพราะเน้นในเรื่องหลักการและการพิจารณาความผิด ดังนั้นจึงระบุไปอย่างกว้างๆ ว่าจะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีการดูหมิ่นซึ่งหน้าและหมิ่นประมาท แต่เอาเป็นว่าอย่างน้อยกฎหมายโบราณนั้นก็คำนึงสิทธิส่วนบุคคลและพื้นที่ของการด่าไปพร้อมกันด้วย เพราะการบุกไปถึงบ้านของคนอื่นนั้นอาจก่อให้เกิดการทะเลาะตีกันได้ แต่อย่างน้อยชุดคำด่าข้างต้นก็พอจะชี้ให้เห็นร่องรอยว่าการด่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถานภาพทางสังคม (เช่น ขี้ข้า) ความเป็นคนปกติ (เช่น คนบ้า) และพฤติกรรมทางเพศที่เสื่อมเสีย (เช่น อีดอกทอง) 

 

ผมไม่แน่ใจว่าคำด่าพวกนี้ใช้กันในทางการเมืองโดยทั่วไปแบบสังคมปัจจุบันหรือไม่ แต่ผมคิดว่าโอกาสใช้กันอย่างซึ่งหน้านั้นมีน้อยมากเพราะโทษหนัก อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าปัจจุบัน เพราะสังคมโบราณนั้นต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์และเครือญาติอย่างมาก การที่เด็กด่าผู้ใหญ่คงเป็นเรื่องใหญ่มาก ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ใหญ่ด่าเด็กนั้นคงเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่ถือสาเอาโทษรุนแรง เพราะอาจกลายเป็นเรื่องของการสั่งสอน ซึ่งการอธิบายแบบนี้ก็ควรเป็นเช่นนั้นในสังคมปัจจุบัน ยกเว้นแต่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ยังถือว่าตนมีอำนาจและเป็นเผด็จการ ดังนั้นเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองจึงเกี่ยวข้องกับการด่าอยู่มากครับ ซึ่งบ้านเราน่าจะมีการทำความเข้าใจเรื่องนี้กันมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเด็กก็จะถูกนิยามว่าเป็นเด็กเลวอยู่ร่ำไป ไม่มีผู้ใหญ่เลวหรือผู้ใหญ่ก้าวร้าว

 

แม้คำด่าจะสร้างภาวะสูงต่ำและเป็นการสะท้อนปัญหาทางสังคมอยู่ด้วย แต่ก็มีงานวิจัยบางเรื่องที่พบว่าคำด่าช่วยลดความเป็นทางการทางการเมืองลง และทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดกัน งานวิจัยของนักวิชาการชาวอิตาลีชิ้นหนึ่งมีชื่อแปลเป็นไทยว่า ‘คำด่าในวาทกรรมทางการเมือง: ทำไมคำหยาบคายจึงใช้ได้ผล’ นิโคเลตตาและมาร์การิตา สองนักวิชาด้านภาษา ได้พบว่าการใช้คำด่าเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ช่วยชักจูงใจ (Persuade) ให้คนรู้สึกถึงการเป็นพวกเดียวกันและเสมอกันมากขึ้น 

 

โดยตัวอย่างสำคัญคือในปี 2013 นักการเมืองชาวอิตาลีคนหนึ่งได้ใช้คำหยาบคาย (Profanity) เช่น ‘Damn’ มาพูดในช่วงหาเสียงหรือช่วงของการขายของ (Sell Product) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมการเมืองของอิตาลี แทนที่คนจะมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม เพราะมันช่วยลดความเป็นทางการลง รู้สึกถึงการใช้ภาษาแบบบ้านๆ ที่ประชาชนพูดกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งมันทำให้คนทั่วไปรู้สึกถึงการเข้าถึงและประทับใจ (จดจำนาน) ให้กับผู้มาฟังการหาเสียงเป็นอย่างมาก 

 

แต่นิโคเลตตาและมาร์การิตาก็ได้ให้ข้อคิดด้วยว่าคำด่าหรือคำหยาบคายในทางการเมืองนั้นเป็นเหมือนเหรียญสองด้าน คือด้านหนึ่งมันเป็นได้ทั้งการก่อความรู้สึกในเชิงลบกับฝ่ายตรงข้าม (หรือคนที่ไม่ชอบ) และการสร้างความรู้สึกในเชิงบวกให้กับพวกของตัวเอง อีกทั้งคำด่าคำหยาบนั้นจะใช้ได้ผลดีและดึงดูดคนในพื้นที่แบบไม่เป็นทางการเพื่อขยับตัวเองให้ใกล้ชิดกับประชาชน แต่คำด่าคำหยาบคายก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทุกครั้งทุกคราวไป เพราะคำพวกนี้เหมือนมีข้อห้าม (Taboo) ของมันอยู่ ถ้าหากผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าใช้กับผู้ที่มีอำนาจมากกว่าก็อาจส่งผลกระทบแทน 

 

นอกจากนี้ทั้งสองยังได้เสนอด้วยว่าการใช้คำหยาบคายนั้นยังสัมพันธ์อย่างมากกับภาพต้นแบบของเพศสภาพ (Gender Stereotype) คือความเป็นชาย ความเป็นหญิง รวมไปถึงตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองของผู้พูดอีกด้วย เช่น เป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ซึ่งมันทำให้คำด่าจะถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะ สิ่งที่เขาทั้งสองค้นพบก็คือการใช้คำหยาบในนักการเมืองทั้งผู้หญิงและผู้ชายช่วยทำให้ความเป็นทางการนั้นลดลง แต่เมื่อเทียบกัน เมื่อผู้ชายพูดจะดูมีน้ำหนักและมีผลกระทบมากกว่า ส่วนคำด่าที่นักการเมืองผู้หญิงใช้นั้นจะสร้างภาพจำให้กับสังคมได้มากกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ดูดีหรือดูเข้มแข็งขึ้นแต่อย่างใด  

 

คำด่าและคำหยาบคายนั้นมีหลายระดับ โดยลีชได้ให้คำจำกัดความของคำต้องห้าม (Taboo Word) คือถ้อยคำหรือวลีที่ไม่เหมาะสมไว้ 3 แบบ 

 

แบบแรก คำด่าสกปรก (Dirty Word) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเซ็กซ์ อวัยวะเพศ และของเสียที่ขับถ่ายออกจากร่างกาย เช่น เล่นตูด ขี้

 

แบบที่สอง คำอุทานที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น พระเยซู พระเจ้า (สำหรับคนไทย เช่น คุณพระช่วย)

 

แบบที่สาม คำด่าที่มีต่อสัตว์ (Animal Abuse) เช่น ไอ้หมาตัวเมีย (Bitch) (คนไทยก็คือไอ้หน้าตัวเมีย) ไอ้วัว (คนไทยก็คือไอ้ควาย) 

 

ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดมาก แต่โดยสรุปก็คือลีชมองความสัมพันธ์ของคำพวกนี้ในลักษณะที่เป็นเรื่องสูง-ต่ำ ซึ่งมันทำให้คำพวกนี้กลายเป็นคำด่า

 

จากแนวคิดของลีชและขยายต่อจากประเด็นที่ยุกตินำเสนอ เท่าที่ผมเข้าใจ คำต้องห้ามพวกนี้สังเกตว่าเป็นคำที่ต้องการเหยียดให้สิ่งนั้นๆ มีสถานที่ต่ำกว่าตนเองในฐานะของมนุษย์ เช่น การเปรียบเทียบกับสัตว์ ซึ่งชนิดของสัตว์ที่ใช้ในการด่าของแต่ละสังคมนั้นจะมีความแตกต่างกันไป เช่น ในสังคมไทยนั้น ควายเป็นคำด่าสำหรับคนโง่ เพราะมีนิทานเล่าว่าเทวดาได้สั่งควายให้มาบอกมนุษย์ให้กินข้าววันละมื้อ แต่ควายกลับมาบอกมนุษย์ให้กินข้าววันละ 3 มื้อ ทำให้โลกต้องเดือดร้อนเรื่องอาหาร เทวดาจึงให้ควายชดใช้ด้วยการไถนา เป็นต้น ชื่อสัตว์ชนิดต่างๆ ที่คิดว่าต่ำกว่ามนุษย์จึงมักจะกลายเป็นคำด่าที่เจ็บและแสบคัน

 

ในขณะที่สาเหตุที่คนด่าด้วยคำสกปรกเกี่ยวกับเซ็กซ์นั้น เรื่องนี้เกี่ยวกับปัจจัยทางวัฒนธรรม กล่าวคือในหลายๆ สังคมรวมถึงสังคมไทยนั้น อวัยวะเพศถือเป็นของลับที่ไม่ควรเปิดเผยทั่วไป (ยกเว้นเด็ก) จึงทำให้เป็นของที่อยู่ในที่มืด ไม่ได้เป็นที่สว่าง ทำให้อวัยวะเพศกลายเป็นสิ่งหวงห้าม ไม่ควรเห็นในที่สาธารณะ เช่นเดียวกันกับกิจกรรมทางเพศที่มักจะกระทำกันในที่ลับ ไม่เปิดเผย หรือในบางกรณีก็ยังมีเรื่องของข้อห้ามตามประเพณี เช่น การที่ลูกไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับแม่หรือพ่อได้ (Incest Taboo) 

 

ดังนั้นจะพบว่าคำด่าเจ็บๆ ในหมวดนี้จึงมีตั้งแต่การด่าด้วยอวัยวะเพศโดดๆ หรือเป็นการผสมกับ Incest Taboo หรือบางทีก็ไปผสมกับสัตว์เพื่อทำให้คำด่านั้นรุนแรงและต่ำลงไปมากขึ้น เรื่องคำด่าทางเพศนี้ทำให้ผมนึกถึงคำด่าอีกกลุ่มหนึ่งที่มักจี้ลงไปที่ปมด้อยของฝ่ายชายหรือหญิง ซึ่งเรื่องนี้คงต้องอธิบายด้วยแนวคิดจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ซึ่งมองว่า ‘ปม’ ของความเป็นชายหรือหญิงในสังคมที่นิยมความใหญ่คือการสร้างความรู้สึกในเชิงลบ (ในทางกลับกัน ถ้าผู้ถูกด่าพอใจกับสิ่งที่เป็น หรือในวัฒนธรรมนั้นไม่สนใจเรื่องขนาด ก็จะไม่เป็นปัญหาอะไร)

 

แม้อวัยวะเพศจะเป็นคำด่าที่ทำให้เจ็บปวดอย่างไร แต่อวัยวะพวกนี้กลับเป็นสิ่งที่ผู้คนในบางวัฒนธรรมหรือบางศาสนานั้นให้การเคารพบูชา นั่นก็เป็นเพราะอวัยวะดังกล่าวนั้นไม่ใช่ของมนุษย์ เช่น ศิวลึงค์ ปลัดขิก หากแต่เป็นของพระเจ้าหรือผีทรงฤทธิ์ จึงทำให้อวัยวะดังกล่าวนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ สาเหตุที่คนสมัยโบราณถือว่าอวัยวะเพศเป็นของศักดิ์สิทธิ์นั้น อธิบายสั้นที่สุดก็เพราะมันเป็นของที่สามารถให้กำเนิดชีวิตได้นั่นเอง ซึ่งกว่าที่ของพวกนี้จะศักดิ์สิทธิ์ได้นั้นก็ต้องผ่านกระบวนการและประวัติศาสตร์มากมายยาวนานหลายร้อยหลายพันปี ในเมื่อมันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ บางคนเหลืออดนักการเมือง แต่ไม่อยากด่าด้วยคำหยาบตรงๆ ก็มักเลี่ยงมาใช้ศิวลึงค์หรือโยนีแทน ซึ่งทำให้คนถูกด่านั้นอาจจะไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไรกับมันมากนัก 

 

เท่าที่ผมอ่าน คนที่ศึกษาคำด่าหลายคนก็พูดคล้ายๆ กันว่าการด่าเป็นวิธีการระบายความรู้สึกอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการตอบโต้อีกฝ่ายเพื่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บและอับอาย หรือใช้ในยามที่ผู้ด่าไม่สามารถที่จะอธิบายเหตุผลอะไรต่ออีกฝ่ายได้อีก เพราะผู้ถูกด่าไม่มีทางจะเข้าใจมันได้ แต่ถ้าอธิบายว่าคำด่าเป็นภาษาทางการเมืองแบบหนึ่งในการจัดลำดับความสัมพันธ์ทางอำนาจ ทำให้ผู้ด่ามีสถานะสูงขึ้น หรือทำให้เกิดความเสมอภาค แต่ในเกมของภาษา ถ้าผู้ฟังไม่รู้สึกไปด้วย คำด่าก็ย่อมทำให้ผู้ฟังนั้นมีสถานะที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม คำด่าสักคำจะมีสถานะเป็นแค่คำระบายอารมณ์หรือเป็นภาษาทางการเมืองนั้นก็คงจะต้องมองกันที่บริบทและเจตนาเป็นสำคัญ เพราะมันสามารถชักจูงคนให้เป็นพวกเดียวกันหรือเสียพวกไปเลยก็ย่อมได้ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising