วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตเด็กเกิดน้อยลงทุกๆ ปี ล่าสุดเด็กไทยเกิดต่ำกว่า 5 แสนคนเป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ เสียอีก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ประชากรไทยลดลงเหลือ 65.95 ล้านคนในปี 2567
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในช่วงข้างหน้าจำนวนประชากรไทยอาจลดลง ‘รุนแรงขึ้น’ โดยในอีก 50 ปีข้างหน้าประชากรไทยอาจเหลือไม่ถึง 56 ล้านคน
แล้วการที่ไทยมีกำลังแรงงาน ‘ลดลง’ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร? บทความนี้ จะพาไปร่วมไขคำตอบที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ประชากรไทยลดลงต่อเนื่อง 5 ปีติด เด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 5 แสนคนในปี 2567
ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยลดลงต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกันเหลือ 65.95 ล้านคนในปี 2567 เนื่องจากในปีดังกล่าวไทยมีเด็กเกิดไม่เกิน 5 แสนคน ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสูงกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่เสียอีก
นอกจากนี้ตามการประมาณการของสหประชาชาติ (UN) โดยใช้ Medium Variant คาดว่าในอีก 50 ปี ประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 55.7 ล้านคน โดยจำนวนนี้ แบ่งเป็น
- วัยเด็ก (0-14 ปี) คิดเป็นสัดส่วน 11%
- วัยผู้ใหญ่ (15-59 ปี) คิดเป็นสัดส่วน 47%
- วัยสูงอายุ (60 ปี) คิดเป็นสัดส่วน 42%
เปิดสถิติจำนวนประชากรไทย 7 ปีย้อนหลัง
- ปี 2560: 66.19 ล้านคน
- ปี 2561: 66.41 ล้านคน
- ปี 2562: 66.56 ล้านคน
- ปี 2563: 66.19 ล้านคน
- ปี 2564: 66.17 ล้านคน
- ปี 2565: 66.09 ล้านคน
- ปี 2566: 66.05 ล้านคน
- ปี 2567: 65.95 ล้านคน
ภาพ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ทำไมประชากรไทยลดลง ‘รวดเร็ว’
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จำนวนประชากรไทยลดลงติดต่อกันเป็น ปีที่ 5 โดยตัวเลขเหลือไม่ถึง 66 ล้านคน มีเหตุมาจากเด็กเกิดน้อยลงและมีผู้เสียชีวิต มากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โรคภัย โรคระบาดต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก ฯลฯ
“ถามว่าทำไมปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลง มีหลายสาเหตุ เริ่มตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจและค่า ครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่านิยมของผู้คนเปลี่ยนไป ยิ่งวันนี้การมีลูก 1 คน มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมถึงปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ ภาวะเครียดทำให้มีลูกยากแถม ยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอนหลายอย่าง คนรุ่นใหม่จึงไม่อยากมีลูกกันมากขึ้น” เกวลินกล่าว
เกวลิน หวังพิชญสุข
รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
ไทยกำลังเป็น Super-Aged Society อันดับที่ 4 ของเอเชีย แต่กลับไม่พร้อมเท่าประเทศอื่น
เกวลินตั้งข้อสังเกตอีกว่า ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2572 สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) ซึ่งหมายถึงประเทศที่มีประชากรสูงวัยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20%
โดยภายในปีเดียวกันนี้ (ปี 2572) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียจะพบว่า Super-Aged Society ของไทยสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย กล่าวคือไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับที่ 4 ของเอเชีย รองจากฮ่องกง อันดับ 3, เกาหลีใต้ อันดับ 2 และญี่ปุ่นที่ขึ้นอันดับ 1
อย่างไรก็ตาม เกวลินยังกล่าวอีกว่า เมื่อเทียบประเทศหรือดินแดนที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่าอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ไทยกลับมี ‘ความน่ากังวล’ มากกว่า เนื่องจากไทยมีความพร้อมน้อยกว่าประเทศเหล่านั้นเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการมีโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่น้อยกว่า
“ไม่ใช่แค่ไทย หลายๆ ประเทศก็เป็นเทรนด์นี้ วันนี้ประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับสังคมที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราเด็กเกิดต่ำเหมือนกับไทย คนวัยทำงานแต่งงานช้า ไม่นิยมมีลูก เพราะเครียดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของโลก
ขณะที่ในสิงคโปร์ เมื่อก่อนเรามองว่าสิงคโปร์จะเจอปัญหานี้ก่อนไทย เนื่องจากมีประชากรน้อยกว่า แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์พยายามผลักดันนโยบายรัฐ กระตุ้นให้ประชากรมีลูกท่ามกลางปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ และสวัสดิการต่างๆ
ภาวะประชากรลดลงส่งผลต่อ GDP อย่างไร
เกวลินระบุว่า การลดลงของจำนวนประชากรย่อมส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
- กระทบต่อด้านการบริโภค (Consumption) ของครัวเรือน เนื่องจากผู้สูงอายุของไทยไม่ได้มีกำลังซื้อเยอะเมื่อเทียบกับบางประเทศ ดังนั้นเมื่อมองไปข้างหน้า หากไทยก้าวเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้น การบริโภคก็มีแนวโน้มจะโตช้าลง
- กระทบการลงทุนภาคเอกชน (Private Investment) เนื่องจากเมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น เหตุเพราะกำลังแรงงานลดลง ผู้ประกอบการย่อมต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม ทำให้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น (ยกเว้นธุรกิจที่จะลงทุนกับเทคโนโลยีมากขึ้น) ดังนั้นเมื่อต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจ ส่งผลให้ภาคธุรกิจ ‘ลงทุนลดลง’
- กระทบค่าใช้จ่ายของภาครัฐ (Government Spending) เนื่องจากหากภาครัฐต้องดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น และอาจจะไปเบียดบัง ทำให้การใช้จ่ายด้านอื่นลดลง โดยจะเห็นว่ารัฐบาลต้องแบกรับภาระด้านสวัสดิการการดูแลค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สังเกตได้จากผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไม่เรื้อรังเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายก็แปรผันตามต้นทุนค่าพยาบาลที่เพิ่มขึ้นทุกปี
“มีการศึกษาผลกระทบของภาวะประชากรลดลงที่มีต่อ GDP โดยเปรียบเทียบจาก 2 กรณีที่จำนวนประชากรคงที่และกรณีที่ประชากรลดลง ข้อค้นพบเห็นว่า กรณีที่ประชากรลดลงทำให้ GDP ลดลงตาม และยิ่งเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ผลของการฉุดยิ่งมากขึ้น” เกวลินกล่าว
รัฐบาลไทยควรจัดการปัญหานี้อย่างไร
เกวลินกล่าวว่า จริงๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐมีการพูดถึงปัญหาประชากรลดลงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอาจมีโจทย์เศรษฐกิจด้านอื่นที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ก่อน ดังนั้นจากนี้จึงอยากให้ภาครัฐมาให้ความสนใจกับสถานการณ์ปัจจุบันเพิ่มขึ้น
โดยอาจใช้นโยบายกระตุ้นการมีลูกและนโยบายส่งเสริมแรงงานรุ่นใหม่ควบคู่ไปกับการดูแลผู้สูงอายุ
โดยสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ การให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากกว่ารักษาภายหลัง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในอนาคตลงด้วยเช่นกัน
ประชากรหด ลดความน่าสนใจของไทย ฉุดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศลด
เกวลินกล่าวเสริมว่า อีกหนึ่งผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวคือ อาจทำให้ไทยมีความน่าสนใจน้อยลง และอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงต่อเนื่องในอนาคต
โดยถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน เวียดนามหรืออินโดนีเซียที่ถูกพูดถึงเยอะๆ ที่สามารถดึงดูด FDI ได้มากกว่าไทย ส่วนหนึ่งก็มาจากจำนวนประชากรเยอะ
“ด้วยประชากรน้อย ธุรกิจจะมีตลาดน้อยลง เนื่องจากหากธุรกิจไปลงทุนในตลาดที่ยิ่งมีคนซื้อมากก็จะยิ่งได้เปรียบ ยิ่งมีโอกาสทางการตลาดมากกว่า หากลงทุนแล้วประชากรในประเทศน้อย ก็อาจต้องส่งออกแทน สะท้อนว่าธุรกิจอาจต้องเสียต้นทุนในการส่งออกมากขึ้น” เกวลินกล่าว
ส่องจำนวนประชากร 10 ประเทศอาเซียน ฯ ปัจจุบัน
- อินโดนีเซีย: 282,477,58 คน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567)
- ฟิลิปปินส์: 114,123,600 คน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2568)
- เวียดนาม: 100,309,209 คน (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566)
- ไทย: 65,932,105 คน (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2568)
- เมียนมา: 51,316,756 คน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567)
- มาเลเซีย: 34,112,400 คน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567)
- กัมพูชา: 17,336,307 คน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2567)
- สปป.ลาว: 7,546,000 คน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2567)
- สิงคโปร์: 6,036,900 คน (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567)
- บรูไน: 450,500 คน (ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566)
อีก 30 ปีข้างหน้า เงินทุนสำรองประกันสังคมอาจไม่พอจ่าย
เกวลินกล่าวถึงอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนกังวลคือระบบประกันสังคม หลังจากที่มีนักวิเคราะห์ในตลาดประเมินว่า อีก 30 ปีข้างหน้า เงินทุนสำรองในระบบจะไม่เพียงพอต่อการดูแล เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาคือค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย ขณะที่กลุ่มคนทำงานที่ส่งเงินเข้าระบบเริ่มน้อยลง
ทำให้ประกันสังคมเริ่มมีแผนปรับจำนวนเงินนำส่งในรูปแบบขั้นบันได หรือมีการนำ เงินไปลงทุนสร้างการเติบโต ซึ่งประกันสังคมก็กำลังพิจารณาหลายๆ วิธี เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมไปถึงเรื่องการขยายเวลาเกษียณอายุการทำงาน เพื่อสร้างระบบบำนาญให้ยั่งยืนอีกครั้ง จากนี้ต้องจับตาดูว่าทิศทางของประกันสังคมจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากหรือน้อยแค่ไหน