×

ปัญหาระดับชาติ ‘เมื่อคนไทยไม่อยากมีลูก’ รัฐจะตีโจทย์แก้ปัญหานี้อย่างไร

03.11.2023
  • LOADING...
คนไทยไม่อยากมีลูก
  1. เมื่อพูดถึง ‘ประชากร’ ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีอัตราการเกิดลดลงอย่างชัดเจน โดยการลดลงของจำนวนประชากรนี้มาจากค่านิยมที่เปลี่ยนไปของผู้คนในยุคปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งการลดลงของประชากรอาจนำมาสู่ปัญหาที่ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจ้างงานและตลาดแรงงาน รวมไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญ หรือหากประชากรลดน้อยลงจะส่งผลต่อการจัดการประเทศในภาพรวมอีก 20-30 ปีข้างหน้าที่อาจจะเจอกับปัญหาของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นได้

 

  1. แน่นอนว่าการเพิ่มประชากรด้วยการส่งเสริมการมีบุตรอาจไม่ใช่เรื่องที่แก้กันได้ง่ายๆ เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งก่อนว่าเพราะอะไรคนในยุคปัจจุบันถึง ‘ไม่อยากมีลูก’ และก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาผลักดันและส่งเสริมเรื่องการมีบุตรให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ 

 

  1. THE STANDARD ได้รวบรวมหลักการและมุมมองจากทั้งฝั่งรัฐบาลและในส่วนของนักวิชาการที่มองว่า การเพิ่มจำนวนประชากรด้วยการส่งเสริมการมีบุตรแท้จริงแล้วจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะเร่งให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะหากเด็กที่เกิดมามีสภาวะครอบครัวและปัจจัยอีกหลายๆ อย่างที่ไม่พร้อม ก็อาจกลายเป็นปัญหาภายในอนาคตได้

 

  1. เมื่อครั้งประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมฯ ใจความตอนหนึ่งระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพราะการลดลงของเด็กเกิดใหม่ในไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000,000 คนในช่วงปี 2506-2526 ลดลงเหลือเพียง 485,085 คนในปี 2564 ขณะที่มีจำนวนการตาย 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน 

 

“หากยังไม่มีมาตรการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจมีลูกบนพื้นฐานของสิทธิส่วนบุคคล ก็จะไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดได้ โดยในปี 2566 เป็นปีแรกที่จำนวนประชากรเข้าสู่วัยแรงงาน (อายุ 20-24 ปี) ไม่สามารถชดเชยจำนวนประชากรที่ออกจากวัยแรงงาน (60-64 ปี) ได้ และช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น เสี่ยงต่อการขาดแคลนแรงงาน ภาวะพึ่งพิงต่อวัยทำงานสูงขึ้น และมีงบประมาณในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น” 

 

  1. ขณะที่ รศ.วิราภรณ์ โพธิศิริ อาจารย์ประจำวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในฐานะนักประชากรเกี่ยวกับเรื่องอัตราการเกิดของเด็กหรืออัตราภาวะเจริญพันธุ์ จริงๆ แล้วอัตราการเกิดลดมาตลอดตั้งแต่ปี 2503 ซึ่งคนรุ่นนั้นมีลูก 6 คนโดยเฉลี่ย แต่จำนวนก็ได้ลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นประเด็นขนาดนี้ เพราะว่าจำนวนประชากรในภาพรวมยังเพิ่มขึ้นอยู่ 

 

  1. ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและสัดส่วนของเด็กก็ลดลง แต่ประชากรยังเพิ่มขึ้นอยู่ ทำให้ยังไม่มีความกังวลเท่าตอนนี้ เพราะเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โมเมนตัมประชากร (Population Momentum) ที่แม้จำนวนเด็กเกิดจะลดลง แต่จำนวนประชากรก็ยังเพิ่มต่อไป

 

  1. สำหรับนโยบายที่พูดกันว่ากระตุ้นหรือเพิ่มการเกิดนั้น จะเห็นประชากรเพิ่มขึ้นก็อีก 10-20 ปี เพราะผู้หญิงกว่าจะเข้าช่วงอายุเจริญพันธุ์ก็ต้องใช้เวลา ส่วนตัวมองว่าในปัจจุบันมันคือเรื่องของ ‘สิทธิ’ สมมติผู้หญิงหรือคู่สามี-ภรรยาไม่อยากมีลูก ก็ต้องให้เหตุผลว่าต่อไปถ้าไม่มีลูกแล้วจะเป็นอย่างไร แต่หากในกลุ่มของคนที่อยากมีลูกรัฐก็ต้องช่วย อย่างเช่น กรณีที่มีลูกอยู่แล้วแต่อยากมีลูกเพิ่ม กรณีนี้รัฐต้องเข้าไปช่วยเช่นกัน ส่วนคนที่ไม่อยากมีลูกก็ต้องไปช่วยในเรื่องอื่น เพราะการมีลูกสำคัญที่สุดคือพื้นฐานของ ‘สิทธิ’

 

“วันนี้สิ่งที่ต้องทำคือไปช่วยคนที่อยากมีลูกให้มี สมมติว่าอยากมี 3 คนก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันความยากคือผู้หญิงอยู่ในระบบการศึกษาค่อนข้างนาน พออยากจะมีลูกอายุก็เยอะขึ้น รัฐต้องวางแผนช่วยคนที่อยากมีลูก ลูกที่เกิดออกมาก็จะได้มีคุณภาพ กลับมาที่คนที่ไม่อยากมีลูก รัฐก็ต้องไปดูว่าทำไมถึงไม่อยากมี ถ้าไปบอกว่าอยากให้มีก็เท่ากับไปเปลี่ยนทัศนคติของคนกลุ่มนี้ 

 

“ทุกวันนี้บริบทความพร้อมมันไม่เหมือนกัน รู้ว่ามันเป็นปัญหา แต่ต้องไปแก้ปัญหาที่บริบทโดยรอบก่อน เพราะบริบทการเปลี่ยนแปลงมันมีได้ตลอดเวลา มันอาจไม่ง่าย แต่คนเราเปลี่ยนได้” 

 

  1. ถ้าหากวันนี้รัฐมีการวางแผนนโยบายที่ดี พร้อมสนับสนุนเกี่ยวกับการศึกษาอย่างเต็มที่ และอาจวางแผนนโยบายอื่นที่มีการช่วยเหลืออย่างเต็มที่อีก 5-10 ปีข้างหน้า กลุ่มคนที่ลังเลว่าจะมีลูกดีหรือไม่ รัฐต้องรีบเข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้ที่ไม่อยากมีลูกอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้น งานไม่แน่นอน หรือเรื่องปากท้อง ส่วนคนที่ไม่อยากมีลูกรัฐก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือว่าหากแก่ไปจะอยู่กับใคร และสิ่งที่รัฐจะต้องทำคือ การให้ข้อมูลกับคนกลุ่มนี้เกี่ยวกับการวางแผนชีวิตตอนนี้และการวางแผนตอนแก่

 

“ดีใจที่เรื่องนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็น แน่นอนว่าการเกิดที่ลดลงเป็นปัญหาประชากร แต่มันไม่ได้แก้ได้โดยการบอกให้คนไปมีลูกเพียงอย่างเดียว แต่ควรแก้ปัญหาที่องค์รวม โดยดูที่นโยบายครอบครัวและนโยบายเชิงสังคมไปพร้อมๆ กัน”

 

  1. หากอนาคตมีสังคมผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ต้องดูในเรื่องของการเกื้อหนุนดูแลเรื่องสุขภาพและการซัพพอร์ตทางสังคม โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกในตอนนี้แบ่งออกเป็นคร่าวๆ ได้แก่ กลุ่มที่ไม่มีลูกเพราะไม่ได้แต่งงาน, กลุ่มที่แต่งงานแต่ไม่มีลูก, กลุ่มที่มีลูกแต่ลูกเสียชีวิตก่อน รวมไปถึงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หากรัฐบาลมีการใช้เทคโนโลยีหรือช่วยกลุ่มที่อยากมีลูกก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ช่วยลดในเรื่องของค่าใช้จ่าย คิดว่าหลายคนคงสนใจและเป็นวิธีหนึ่งที่รัฐจะสนับสนุนได้

 

“หากเชื่อในทฤษฎีที่ทุกอย่างจะมีความสมดุลของมันเอง ตอนนี้ประชากรน้อยลง อีกไม่นานก็จะเพิ่มขึ้นมาเอง ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเลขของประชากรที่ดีที่สุดของประเทศไทยคือเท่าไร แต่ในภาพรวมประชากรเราลดลง จำนวนคนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตาย และแน่นอนว่าอัตราการตายเพิ่มขึ้นเพราะเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ จะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าวัยอื่น และการที่จะเพิ่มอัตราประชากรให้เป็นบวกได้นั้น จำนวนเด็กที่เกิดจะต้องมากกว่าจำนวนคนตาย ซึ่งมันยากมาก”

 

  1. หากย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่เป็นรัฐบาลทหารในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องมีลูกจำนวนมากเพราะจะได้มาเป็นแรงงานและกำลังทหาร แต่ในปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือก แน่นอนว่าการส่งเสริมการมีบุตรเพิ่มเป็นวาระแห่งชาติ จึงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำก็ได้ แต่ต้องเป็นการวางแผนเชิงลึกในตอนนี้ และดูผลที่จะตามมาในอีกประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า 

 

  1. ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของบริบททางสังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เราต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่ามันเป็นอย่างไร และสิ่งที่รัฐต้องเข้าถึงให้เร็วที่สุดตอนนี้คือ ‘กลุ่มคุณแม่วัยใสที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร’ เพราะหากอยากให้การเกิดเพิ่มมากขึ้นก็ต้องมีเด็กที่เกิดมาอย่างมีประสิทธิภาพ หวังว่าจะเป็นเช่นนั้น
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising