×

เผยคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ย 12 รายต่อวัน ขอสื่ออย่าเสนอวิธีการถี่

27.08.2019
  • LOADING...

กรมสุขภาพจิตเปิดเผยว่า ปีที่แล้วยอดฆ่าตัวตายกว่า 4 พันคน เป็นชายมากกว่าหญิงถึง 4 เท่า วัยแรงงานสูงสุด สาเหตุส่วนใหญ่เรื่องในครอบครัว วอนสื่อนำเสนออย่างระมัดระวัง อย่าบรรยายวิธีการอย่างละเอียดจนเห็นภาพ ทั้งอุปกรณ์ วิธีการ ทั้งนำเสนอซ้ำๆ ถี่ๆ ระบุการรมควันเมื่อก่อนยังไม่สูงถึงทุกวันนี้ แนะคนรอบข้างสังเกตสัญญาณเตือน พร้อมพูดคุยรับฟังอย่างใส่ใจ

 

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ฆ่าตัวตายล่าสุดในประเทศไทย โดยมีข้อมูลตัวเลขสถิติพบว่า ภาพรวมอัตราการฆ่าตัวตายของทั้งประเทศอยู่ที่ 6.34 ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2561 มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน แบ่งเป็นชาย 3,327 คน คิดเป็นร้อยละ 80 และเป็นหญิง 810 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่า 

 

พบว่าวัยแรงงานช่วงอายุ 25-59 ปี เป็นวัยที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุดร้อยละ 74.7 รองลงมาเป็นวัยสูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.1 และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี ร้อยละ 3.2 ตามลำดับ 

 

นอกจากนี้พบผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 345 รายต่อเดือน และมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ยวันละประมาณ 11-12 ราย

 

สำหรับสาเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่ น้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด พบร้อยละ 48.7 ความรัก หึงหวง ร้อยละ 22.9 ต้องการคนใส่ใจ ดูแล ร้อยละ 8.36 ปัญหาการใช้สุราและยาเสพติด พบว่ามีปัญหาการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง ร้อยละ 6 และปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต ร้อยละ 7.45 โรคซึมเศร้า ร้อยละ 6.54 และมีประวัติทำร้ายตนเองซ้ำ ร้อยละ 12

 

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า จากสถานการณ์ข่าวในช่วงที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายค่อนข้างถี่ โดยเฉพาะข่าวการฆ่าตัวตายแบบรมควันนั้น กรมสุขภาพจิตมีความห่วงใยประชาชนในการติดตามข้อมูลข่าวสารอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ (Copycat Suicide) ขึ้นมาได้ โดยการลอกเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับข่าวที่บรรยายถึงวิธีการฆ่าตัวตายโดยละเอียด ได้เห็นภาพ อุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุ หรือวิธีฆ่าตัวตายจากสื่อซ้ำบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่ และปริมาณข่าวที่ได้รับด้วย

 

จากข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ กรมสุขภาพจิต ในปี 40-60 พบว่า มีการฆ่าตัวตายโดยใช้วิธีรมควัน เพียงร้อยละ 0.1 ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ซึ่งกรมสุขภาพจิตขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือเพื่อป้องกัน โดยในส่วนสื่อมวลชนให้ใช้วิจารณญาณนำเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงนำเสนอข่าวฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ภาพข่าว อุปกรณ์ที่ใช้ทำร้ายตนเอง หลีกเลี่ยงนำเสนอข่าวซ้ำๆ ถี่ๆ เพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ และเพื่อช่วยลดอัตราฆ่าตัวตายของคนไทย ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้ย้ำเตือนสังคมมาตลอด โดยให้นำเสนอเป็นภาพกว้างๆ ของเหตุการณ์เท่านั้น และเน้นแนวทางรักษาเยียวยาจิตใจของครอบครัวและคนรอบข้าง ตลอดจนเพิ่มการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพจิต

 

สำหรับวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย ขอให้บุคคลรอบข้าง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด คอยสังเกตสัญญาณเตือน โดยให้ระลึกไว้เสมอว่าการส่งสัญญาณเตือนเท่ากับส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยง หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟัง

 

ทั้งนี้แนะนำให้ใช้หลักวิธีการปฐมพยาบาลทางจิตใจ 3 ส. คือ 1. สอดส่อง มองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือผู้ที่มีการส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย เช่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แยกตนเองออกจากสังคม 2. ใส่ใจรับฟัง ด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก 3. ส่งต่อเชื่อมโยง เช่น แนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทรปรึกษาสะมาริตันส์ 0 2713 6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอปพลิเคชันสบายใจ (Sabaijai) ตลอดจนแนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน

 

ภาพ: pixabay.com

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X