×

ไทยพลาดโอกาสอะไร? จากโอลิมปิกเกมส์ในเมืองหลวงแห่งแฟชั่น

20.07.2024
  • LOADING...

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทัพนักกีฬาไทยจะได้เปลี่ยนมาสวมแจ็กเก็ตสีน้ำเงินของแบรนด์ Grand Sport ในพิธีเปิดที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

 

นั่นคือหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับจากการแถลงของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อกรณีดราม่าชุดผ้าไหมสีฟ้า ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงการออกแบบที่ดูไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2024 

 

แม้ในถ้อยแถลงจะมีบางประเด็นที่น่าตั้งคำถามต่ออีกไม่น้อย แต่คณะกรรมการโอลิมปิคฯ ได้น้อมรับข้อผิดพลาดดังกล่าวไปแล้ว รวมถึงยอมปรับเปลี่ยนชุดที่จะใช้ในพิธีดังกล่าวแทนชุดผ้าไหมสีฟ้า

 

แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดลึกๆ ที่ถูกมองข้าม และน่าเสียดายอยู่ที่ประเทศไทยจะไม่ได้ใช้พื้นที่นี้ในการแสดง Soft Power อย่างที่ควรจะเป็น

 

มหกรรมกีฬาโอลิมปิก คือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกที่ 4 ปีมีเพียง 1 ครั้ง และแฟนกีฬาทั่วโลกต่างตั้งตารอชมผลงานของนักกีฬาในสนามอย่างตั้งใจ (อาจเรียกได้ว่าตั้งใจดูที่สุดในชีวิตก็ไม่ผิด)

 

ความสำเร็จของนักกีฬาที่เกิดขึ้นในสนามมักนำพาความอิ่มเอมใจไปสู่แฟนกีฬาของชาตินั้นๆ อย่างเช่น ของเมืองไทยเมื่อ 3 ปีก่อน เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ จอมเตะสาวไทย คว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโด ชนิดที่สร้างความสุขให้กับคนไทยทั้งแผ่นดิน

 

เช่นเดียวกับปีนี้ ทีมไทยมีนักกีฬาลงแข่งถึง 51 ชีวิตจาก 16 ชนิดกีฬา และเชื่อว่าคนไทยต่างเฝ้ารอรับชมผลงานของพวกเขาทุกคนเหมือนที่เคยทำในทุกๆ 4 ปี

 

แต่เรื่องของการแข่งขันในสนามก็ส่วนหนึ่ง! 

 

อีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยสำหรับประเทศไทยคือ การใช้พื้นที่ในโอลิมปิกเกมส์ผลักดัน Sotf Power ของเมืองไทยไปสู่สายตาชาวโลก 

 

อย่างเช่น ชุดแต่งกายในพิธีเปิดการแข่งขันที่ต้องยอมรับว่า เรา…ทำไม่ถึง!

 

ชุดผ้าไหมไทยสีฟ้าหรือชุดพระราชทานสีฟ้า คือของดีและไม่ใช่ว่าไม่สวย แต่เมื่อจินตนาการถึงบริบทที่นักกีฬาต้องสวมเพื่อลงเรือกับพิธีเปิดในแม่น้ำแซน ท่ามกลางอากาศร้อนของกรุงปารีสในช่วงนี้ อาจดูไม่เหมาะสมเท่าไรนัก

 

และเมื่อคิดแบบนี้ อาจเกิดคำถามในใจตามมาอีกว่า คณะกรรมการโอลิมปิคฯ ในฐานะผู้อนุมัติงานออกแบบหรือผู้เกี่ยวข้อง ไม่ทราบจริงหรือว่าอากาศในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างไร พิธีการในวันนั้นจะเป็นประมาณไหน และนี่คือ ‘ปารีส’ นครแห่งแฟชั่นระดับโลก!?

 

ตลอดหลายเดือนและหลายวันที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกทยอยเปิดตัวชุดนักกีฬาและชุดพิธีการต่างๆ ออกมาให้ได้รับชมกันอยู่มากโข 

 

 

ชุดของหลายประเทศที่ปรากฏตามสื่อได้แสดงออกมาว่าประเทศนั้นๆ มีรสนิยมที่เข้าใจว่าชุดที่นักกีฬาของเขาจะใส่ไปให้ชาวโลกยลโฉมกลางเมืองแฟชั่นแห่งนี้ คือชุดเขาต้องปัง 

 

นั่นจึงทำให้เราเห็นชุดสูทสุดเก๋ของฝรั่งเศสที่ออกแบบโดย Berluti ที่ทำออกมาได้สมราคาเจ้าภาพ, ชุดสุดคูลประหนึ่งนักบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา, ชุดที่มีโทนสีผ้าคล้ายของไทยอย่างเกาหลีใต้ ที่ดีไซน์ชุดออกมาได้สวยงามและร่วมสมัยไม่น้อย

 

และชุดที่คนทั่วโลกยกให้ชนะเลิศตั้งแต่พิธีเปิดยังไม่เริ่มอย่าง ‘มองโกเลีย’ ที่พิถีพิถันถึงขั้นคัดเลือกแบรนด์สำหรับออกแบบชุดมากถึง 17 แบรนด์, สอบถามความคิดเห็นนักกีฬากว่า 300 คน และสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 9,000 คน ซึ่งนี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาตั้งใจจริงๆ และมันกลายเป็น Sotf Power ที่ทำให้ผู้คนต่างพูดถึงและให้ความสนใจในวัฒนธรรมของมองโกเลีย หลังเซ็ตภาพชุดพิธีการของเขาที่ถูกปล่อยมาให้รับชมเพียงไม่กี่ใบ

 

กลับมายังชุดของไทย อาจชวนให้ถอนหายใจยามเห็นภาพอยู่บ้าง เพราะเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ชุดไม่เหมาะสมกับงานแล้ว และยังไม่มีโอกาสให้ดีไซเนอร์เก่งๆ ของไทยได้ปล่อยของ เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้เห็นความงามของชุดในพิธีเปิดแบบที่หลายชาติได้ทำกัน

 

 

อย่างไรก็ดี ในพิธีเปิดวันนั้นไทยเรายังมีชุดที่ออกแบบโดย Grand Sport ภายใต้แรงบันดาลใจ ‘Be Our Spirit’ กับดีไซน์จากลวดลายไทยประยุกต์ของมรดกโลกบ้านเชียง มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการยอมรับจากเวทีโลก ที่นักกีฬาของไทยจะได้ใส่ไปอวดสายตาชาวโลก

 

กรณีนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนถึงการทำงาน การวางแผนระยะยาวที่จำเป็นอย่างยิ่งกับการให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำในทุกๆ ด้านอย่างสุดความสามารถ ให้เหมือนที่นักกีฬาทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อไปแข่งในโอลิมปิกเกมส์

 

เช่นเดียวกับอีเวนต์ที่หลายคนอาจมองข้ามอย่างซีเกมส์ 2025 ที่ไทยเราเตรียมรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในปลายปีหน้า ถึงตอนนี้นอกจากรายชื่อ 3 จังหวัดที่ใช้จัดการแข่งขัน กับ 40 ชนิดกีฬาที่บรรจุมาเพื่อชิงทอง, โลโก้-คำขวัญ-มาสคอต ฯลฯ ความคืบหน้าอื่นๆ ยังคงไร้ความเคลื่อนไหว (อาจเข้าใจได้ว่ามาโฟกัสกับกีฬาโอลิมปิกกันหมด)

 

แม้ซีเกมส์จะไม่ได้มีชื่อชั้นที่ใหญ่แบบโอลิมปิกเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ แต่นี่คือเวทีที่ไทยเราจะแสดงพลังและศักยภาพอันโดดเด่นนอกสนามกีฬาผ่านธีมงาน ชุดนักกีฬา และสนามแข่งที่ได้มาตรฐาน เหมือนกับที่สิงคโปร์เคยทำได้เมื่อปี 2015 และยังได้รับการยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเป็นซีเกมส์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา 

 

ดังนั้นวันที่เราฝันอยากเป็นเจ้าภาพงานโน้นงานนี้ หรืออยากแสดงศักยภาพของประเทศผ่าน Soft Power ทางการออกแบบในมหกรรมกีฬา โอกาสและงานที่อยู่ในมือเราคือสิ่งที่ควรทำให้ดีที่สุดเสียก่อน

 

หากผู้ใหญ่ทุกท่านต้องการผลักดัน Sotf Power จริงๆ รายละเอียดรอบตัวแบบนี้ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะกับโอลิมปิกเกมส์ ที่การแข่งขันและโอกาสที่ได้รับไม่ได้มีอยู่แค่ในสนาม 

 

อย่าปล่อยให้โอลิมปิกเกมส์เป็นเรื่องของนักกีฬาเพียงอย่างเดียว คนนอกสนามที่เกี่ยวข้องต้องอ่านเกมให้ขาด ไม่อย่างนั้นอาจเสียโอกาสแบบเรื่องชุดพิธีเปิดก็ได้นะ

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising