×

เปิดภาพฝันอุตสาหกรรมใหม่ของไทย หากก้าวไกลประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล

15.05.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรมใหม่ของไทย

ส่องอนาคตอุตสาหกรรมใหม่ หากก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ (อย่างเป็นทางการ) กับเป้าหมายใหญ่ ทั้งยกระดับซัพพลายเชน, ดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และ ​AI, อัดฉีดสิทธิประโยชน์ที่มากกว่ายกเว้นภาษี 8 ปี, สร้างแต้มต่อเวียดนาม และดึงดูดนักลงทุนใหม่ ส่วนด้านที่สื่อญี่ปุ่นมองการท่องเที่ยวและการผลิต จะเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย พร้อมมองรัฐบาลใหม่ต้องรับบทเป็นเดอะแบกเพื่อดึงไทยกลับคืนแท่นฮับแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ความชัดเจนในการทาบทามพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากชัดเจนขึ้น เมื่อ 5 พรรค ซึ่งได้แก่ เพื่อไทย, ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เสรีรวมไทย และเป็นธรรม ส่งสัญญาณตอบรับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเพิ่งคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 วานนี้ (14 พฤษภาคม) THE STANDARD WEALTH จึงชวนย้อนดูนโยบาย 2 พรรคใหญ่ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมที่วางไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเดินต่อไปทิศทางใด

 

“ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก แต่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์เลย ควรให้เงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมที่เราต้องการหรืออุตสาหกรรมใหม่ เช่น ​AI ให้มากขึ้น ที่สำคัญต่อไปจะใช้แค่สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 8 ปีไปสู้กับเวียดนามไม่ได้แล้ว” คำกล่าวจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

พิธาได้กล่าวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า หากได้เข้ามาทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล สิ่งแรกที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต้องเปลี่ยนคือ นโยบาย ‘Made with Thailand รูปแบบไร้พรมแดน’ ต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการผลิต เพื่อมุ่งสู่การเป็นซัพพลายเชนระดับโลก และการผลิตของไทยจะเป็นฐานผลิต ต้องมองถึงอนาคตที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เป็นอุตสาหกรรมที่คนทำงานร่วมกับเครื่องจักร เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณค่ามากกว่าสินค้าที่ราคาถูก เพื่อสร้างแต้มต่อคู่แข่งอย่างเวียดนาม และเร่งรัดดึงการลงทุนเข้าประเทศ ด้วยเงินอุดหนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท

 

โดยนำเอาสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วมาพัฒนาให้เกิด ‘High Tech Hi Touch’ โดยเฉพาะ ‘พัฒนาคน นวัตกรรม หุ่นยนต์ AI’ อุตสาหกรรมนี้ต้องเกิดและต้องไปให้ถึงอุตสาหกรรม 5.0 อีกทั้งต้องปรับลุคสินค้าไทยให้มีเอกลักษณ์ ดีไซน์สินค้าส่งออกให้มีแบรนด์เป็นของตัวเองและก้าวไปตลาดโลกให้ได้ 

 

โดยการจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ตามแนวทางที่ว่านี้ได้ ประเทศไทยต้องถูกยกระดับผ่าน 5 นโยบาย ดังนี้ 

 

  1. นโยบายกฎระเบียบภาครัฐ ต้องเพิ่มการแข่งขันในทุกอุตสาหกรรม ลดกฎระเบียบภาครัฐ 50% รู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน

 

  1. นโยบายการศึกษา อาชีวะต้องเรียนฟรี แก้ไขการขาดแคลนแรงงาน คูปองเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ 5,000 บาทต่อคนต่อปี และสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

  1. นโยบายพลังงาน สนับสนุนการเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี รัฐดูแลระบบสายส่ง และค่าไฟแฟร์ ลดกำลังการผลิตสำรอง

 

  1. นโยบายแก้ไขคอร์รัปชัน ระบบ AI จับโกง, คนโกงวงแตก, ป.ป.ช. ยึดโยงประชาชน

 

  1. นโยบายเศรษฐกิจสีเขียวครบวงจร รถเมล์ไฟฟ้า 100% อุดหนุนงบ 10,000 ล้านบาท และนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5-2 เท่า

 

รุกอุตสาหกรรมชิป Power Electronics สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหากับดักรายได้ปานกลาง เนื่องจากขาดเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ๆ ที่จะสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ทำให้ผลิตภาพการผลิตอยู่ในระดับต่ำและโตช้าต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้เรายังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมผู้สูงวัยที่จะทำให้กำลังแรงงานหดตัวอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมที่เคยเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดิมๆ จึงถูกดิสรัปต์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี 

 

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายจริงจังที่จะต้องเร่งสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคตขึ้นมาทดแทน ควรส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า (Power Electronics) ตั้งแต่ต้นน้ำ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เช่น รถ EV, อุปกรณ์ชาร์จเร็ว, สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว ไปจนถึงอุปกรณ์ควบคุมกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมชิปประเภท Power Electronics ต้นน้ำในประเทศ 

 

“เราต้องการการลงทุนจากเจ้าของเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนที่สามารถดึงดูดนักลงทุนเป้าหมายได้จริง ที่ออกแบบมาเพื่อผู้ลงทุนแต่ละรายและจำกัดเฉพาะเครื่องมือแบบเดิมๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ครอบคลุมถึงการให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ ทั้งการสร้างบุคลากร เงินอุดหนุน งานวิจัย และสาธารณูปโภค” 

 

พิธายังได้ย้ำว่า ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทยเป็นเท่าตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการคอร์รัปชัน กฎหมายในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ การผูกขาดข้อมูลของการประมูลโครงการที่มีปัญหา และการขาดการรับผิดชอบ 

 

อีกทั้งการดึงดูดการลงทุนไม่ได้เป็นเรื่องของกลไกทางภาษีอีกต่อไป เนื่องจากในปี 2564 มีความร่วมมือในเรื่อง Global Minimum Tax 15% ซึ่งแต้มต่อเรื่องภาษี โครงสร้างพื้นฐาน และตลาดในประเทศไม่สามารถพัฒนามากพอ 

 

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก แต่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์เลย ควรให้เงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมที่เราต้องการหรืออุตสาหกรรมใหม่ เช่น ​AI ให้มากขึ้น ที่สำคัญต่อไปจะใช้แค่สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 8 ปีไปสู้กับเวียดนามไม่ได้แล้ว” พิธาย้ำ 

 

อาจได้เห็นรัฐบาลเข้าไปเป็น ‘ผู้ถือหุ้น’ ในภาคเอกชน

 

ส่วนทางด้านว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ย้ำชัดถึงนโยบายอุตสาหกรรมว่า หากได้เป็นหนึ่งในแกนนำรัฐบาล อนาคตรัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในภาคเอกชน เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศร่วมกัน โดยใช้ความสามารถในการเจรจาด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้โอกาสมากที่สุด และที่สำคัญจะต้องกำหนด KPI การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด จากความร่วมมือทำงานกับภาคเอกชน 

 

หลักคิดสำคัญของพรรคเพื่อไทยคือ รัฐเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของภาคเอกชน เพราะรัฐเก็บภาษี 20% จากกำไรของภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นรัฐในฐานะผู้ถือหุ้นสำคัญ จะต้องเป็นผู้สนับสนุนและทำงานให้กับภาคเอกชน ซึ่งทราบดีว่ากลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมารัฐกลับเป็นอุปสรรค ต่อจากนี้จะต้องพลิกบทบาทจากการเป็นรัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน

 

นอกจากนี้รัฐต้องมีบทบาทในการการเจรจากับต่างประเทศในการหาตลาดใหม่และการลงทุน โดยจะผลักดันให้เกิดสันติภาพและเกิดความมั่งคั่งร่วมกันบนเวทีต่างประเทศ การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตและกำหนดจุดยืนในปัจจุบันของไทยในช่วงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เดินหน้าการเจรจาการค้าที่เข้าใจเกี่ยวกับบริบททางเศรษฐกิจ 

 

ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนด้านการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่เป็นต้นทุนสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพจากกลไกภาษีในการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพ การลงทุนใหม่ และการฝึกคน Upskill และ Reskill รวมทั้งการปรับลดภาระการคมนาคม โดยเปิดเจรจาการค้าขายทางการขนส่ง ทั้งทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ ที่สำคัญการจำกัดอุปสรรคในเชิงกฎหมาย

 

รวมทั้งเสนอเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) ที่จะเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะนำการลงทุนเข้ามา โดยพื้นฐานที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องเป็น Digital Government ที่โปร่งใส และมีการบริการแบบ One Stop Service เปิดโอกาสให้เกิด Crowdfunding รวมทั้งการจับคู่สตาร์ทอัพกับอุตสาหกรรมให้กิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเท่าทันโลก เตรียมพร้อมรับภาษี CBAM

 

“เพื่อไทยให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดความโปร่งใสไปในตัว เริ่มจากราชการและวางโครงสร้างที่ชัดเจนตั้งแต่ระดับเยาวชน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และนำไปสู่การปฏิบัติ รัฐบาลต้องสนับสนุนแต้มต่อด้านภาษี รวมทั้งเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่, กรุงเทพฯ, ขอนแก่น และหาดใหญ่ จากนั้นจะขยายผลโมเดลไปทั่วประเทศ และไทยเราต้องมี New Business Zone นำร่องที่กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น และหาดใหญ่” พรหมินทร์กล่าว 

 

สื่อญี่ปุ่นมอง เศรษฐกิจคือโจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่ แนะเร่งกลับสู่ฮับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการผลิต

 

สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างรวดเร็วในปีนี้ อาจมาจากแนวโน้มผลการเลือกตั้ง โดยล่าสุดตามการรายงานของสภาพัฒน์ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2566 ที่ 2.7% เป็น 3.7% เนื่องจากการบริโภคและการท่องเที่ยวเติบโต แต่ความท้าทายคือ รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องเน้นเศรษฐกิจ เพราะการบริโภคเพิ่มขึ้นก็จริง แต่การส่งออกยังอ่อนแอ

 

โดยนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เนื่องจาก ททท. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีถึง 25-30 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าระดับก่อนเจอวิกฤตโควิดเล็กน้อยที่ 39 ล้านคน

 

ตัวเลขนี้เกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนว่าฝ่ายค้านกลับมาเป็นผู้นำเหนือรัฐบาลทหาร แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่าพรรคใดจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ ความคาดหวังของเศรษฐกิจไทยจะพุ่งไปที่ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่หวังจะให้กลับมาเป็นศูนย์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นน่าจะเป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจหลัก และจะเป็นโจทย์ใหญ่โจทย์แรกที่รัฐบาลใหม่ต้องแบกรับช่วงต่อ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X