×
SCB Omnibus Fund 2024

ส่องฝันใหญ่ของ EEC ‘ปั้นไทยมหานครการบิน-รถไฟไฮสปีด’ จะได้ไปต่อหรือไม่ ท่ามกลางรอยต่อรัฐบาล

08.05.2023
  • LOADING...
EEC

ส่องความคืบหน้าเมกะโปรเจกต์ EEC ทั้งโปรเจกต์มหานครการบิน ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ที่มีเป้าหมายทำให้สำเร็จในอีก 4 ปี หรือปี 2570 รวมไปถึงแผนปัดฝุ่นโครงการ MRO ที่รอลุ้นการบินไทยจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ก่อนส่งต่อไปถึงรัฐบาลใหม่ กับอนาคตที่วางไว้ว่าพื้นที่แห่งนี้จะเป็นเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ไทย ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุนนวัตกรรมขั้นสูง 

 

ทราบกันดีว่า Eastern Economic Corridor: EEC หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง นั้น เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปีที่แต่เดิมเรียกว่าอีสเทิร์นซีบอร์ด ปัจจุบันแผนการพัฒนาถูกบรรจุในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยพื้นที่แห่งนี้นับว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของประเทศ ที่เป็นความหวังและฝันใหญ่ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทุ่มลงทุนมหาศาล คงต้องรอลุ้นว่าแผนที่วางไว้จะเป็นไปในทิศทางใดหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก (EEC Project List) จำนวน 2 โครงการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการเร่งรัดให้เกิดการลงทุน เพื่อเป็นแฟลกชิปดึงดูดเม็ดเงินรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2570 

 

โดยล่าสุดโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกได้เริ่มก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ประเมินว่าจะดำเนินการเดือนพฤษภาคม และอยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ช่วงไตรมาส 3/66 เพื่อพร้อมเปิดบริการช่วงปี 2570 

 

ส่วนการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน คลังสินค้า ลานจอดอากาศยาน ถนนและสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงแผนแม่บทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ธุรกิจการบิน เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับเป้าหมายผู้โดยสารจากสถานการณ์วิกฤตโควิด เป้าหมายผู้โดยสารสนามบินช่วงแรกจะปรับเหลือ 12 ล้านคนจาก 15 ล้านคน ส่วนปลายแผนยังเป็น 60 ล้านคนเท่าเดิม โดยวงเงินลงทุนตลอดโครงการจะอยู่ที่ 204,000 ล้านบาท 

 

บี.กริม เพาเวอร์ ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 

ขณะที่ระบบสาธารณูปโภคภายในสนามบิน ได้แก่ งานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ซึ่งได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) เป็นพลังงานสะอาดโดยบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุน กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์ พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ขนาด 50 เมกะวัตต์ เพื่อให้สนามบินอู่ตะเภาก้าวสู่ ‘มหานครการบิน’ ภาคตะวันออก และจะใช้พลังงานสีเขียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

 

อย่างไรก็ตาม การออกแบบรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะการร่วมลงทุนพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เมืองการบิน (Airport City) คลังสินค้า (Cargo) ลานจอดอากาศยาน ถนนและสาธารณูปโภคภายในโครงการ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบิน อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างทันทีหลังได้รับแจ้งให้เริ่มการก่อสร้าง (Notice to Proceed: NTP) จาก สกพอ.

 

MRO ศูนย์ซ่อมอากาศยานหมื่นล้าน รอการบินไทยตัดสินใจ

ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา เมกะโปรเจกต์ที่มอบหมายให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุน วงเงิน 10,000 ล้านบาท พื้นที่ 500 ไร่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากการบินไทย ความคืบหน้าล่าสุดมีความคิดเห็นว่า หากไม่พร้อมลงทุน EEC จะเชิญชวนนักลงทุนรายอื่นทั้งไทยและต่างชาติเข้ามา โดยจะดูรายละเอียดข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัสเมื่อปี 2561 อีกครั้ง หลังจากนั้นจะทำหนังสือสอบถามการบินไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาให้การบินไทยตัดสินใจ เพราะต้องรอรันเวย์ 2 สร้างเสร็จในช่วงปี 2569-2570 จึงจะเดินหน้าต่อไปได้

 

หวังมาบตาพุดดึงดูดลงทุนอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูง

สำหรับ​โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดที่เป็นโครงการเร่งรัด ระยะ 3 ถือเป็นความหวังโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้น ดึงดูด สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนอุตสาหกรรมนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาลงทุน ภายใต้แผนเศรษฐกิจ BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศใน 5 ปี (2566-2570) ปีละ 400,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโต 4.5-5% ได้ต่อเนื่อง โดยพื้นที่แห่งนี้จะรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ (LNG) และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ใช้ในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี 

 

“ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 พัฒนาเร็วกว่าแผน ล่าสุดคืบหน้าไปกว่า 43.72% แล้ว คาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ภายในปี 2570 อนาคตจะรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี เชื่อมต่อภูมิภาค และรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เราหวังว่าจะสร้างการลงทุนในพื้นที่ เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และประชาชนในพื้นที่มีรายได้” จุฬาย้ำ

 

ลุ้นบิ๊กคอร์ปสวิสปักหมุดไทย ลงทุน EV, 5G และการแพทย์สมัยใหม่ 

เมื่อเร็วๆ นี้ EEC ได้หารือกับหอการค้าสมาพันธรัฐสวิส (Swiss-Asian Chamber of Commerce: SACC) กับกลุ่มนักลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 40 บริษัท อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีด้านการเงิน อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบริการ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมที่เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน และอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการศึกษา ซึ่งไทยพร้อมรองรับนักลงทุนในหลายๆ ด้าน และสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนสวิสรุ่นใหม่ที่ Work-Life Balance

 

อีกทั้งเพื่อรองรับการเปิดความตกลงการค้าเสรีไทย – EFTA ที่กำลังเจรจากันในปีนี้ คาดว่าเมื่อมีผลบังคับใช้ในปีหน้า จะอำนวยความสะดวกในเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้มากขึ้น ทั้ง EV, 5G, อุตสาหกรรม 4.0 และดิจิทัล และการแพทย์สมัยใหม่ รวมถึงส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูงที่ดีอีกด้วย

​ 

โดยการลงทุนในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) การค้ารวมระหว่างไทย-สมาพันธรัฐสวิสมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 8,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI รวมเป็นมูลค่ามากถึงราว 18,285 ล้านบาท

 

และปัจจุบันมี 3 บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มีการลงทุนในไทย ได้แก่ ABB (Thailand) Co., Ltd., Neoperl Asia Pacific Co., Ltd. และ Abatek (Asia) Public Company Limited 

 

รอรัฐบาลใหม่สานต่อไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

ปิดท้ายด้วยโปรเจกต์ใหญ่ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี ในฐานะคู่สัญญาผู้รับสัมปทานโครงการ ยังอยู่ระหว่างเจรจา

 

จุฬายอมรับว่า โครงการนี้คาดว่าจะเปิดบริการไม่ทันปี 2570 เนื่องจากเริ่มล่าช้าจากการแก้สัญญาโครงการฯ โดย สกพอ. ตั้งเป้าหมายออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานภายในเดือนมิถุนายนนี้ แม้การแก้ไขสัญญาโครงการฯ ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานได้หลังจากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน อยู่ภายใต้สัญญาเดิมก่อน ท้ายที่สุดต้องนำความคืบหน้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบและพิจารณาต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising