×

ไม่มี ไม่หนี ไม่สึก ภาพลักษณ์ที่ดีปาราชิกไปก็ไม่ต้องกลัว

03.05.2022
  • LOADING...
พระสงฆ์

HIGHLIGHTS

  • จากกรณีเรื่องราวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ภาคใต้ กรณีคลิปเสียงพระชื่อดังกับสีกาที่หลุดออกมาจนเป็นข่าวครึกโครม อาจทำให้ใครหลายคนตกใจแล้วคิดว่าทำไมวงการพระถึงได้เกิดเรื่องอะไรแบบนี้ 
  • บางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะก็คงเห็นกันอยู่แล้วว่าเรื่องพันนี้ยังไงก็มีข่าวเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในวงการผ้าเหลือง เพราะมีมาตลอดตั้งแต่ในอดีต
  • พระสงฆ์ไทย (บางส่วน) ต้องเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ใหม่ ไม่ใช่ช่วยกันปกป้องความผิดหรือทำเป็นหลับหูหลับตา เพียงเพราะคิดว่าจะได้ไม่เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาไทยเสื่อมเสีย แต่ควรที่จะยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง และการกระทำนั้นๆ เป็นความผิดของตัวบุคคลไม่ใช่ตัวองค์กรศาสนาทั้งหมด

จากกรณีเรื่องราวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ภาคใต้ กรณีคลิปเสียงพระชื่อดังกับสีกาที่หลุดออกมาจนเป็นข่าวครึกโครม อาจทำให้ใครหลายคนตกใจแล้วคิดว่าทำไมวงการพระถึงได้เกิดเรื่องอะไรแบบนี้ หรือบางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะก็คงเห็นกันอยู่แล้วว่าเรื่องพันนี้ยังไงก็มีข่าวเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในวงการผ้าเหลือง ตั้งแต่ในอดีตไม่ว่าจะกรณีของพระยันตระ พระนิกร หรือแม้แต่ล่าสุดที่หมอปลาไปบุกจับคาวัดกลายเป็นตำนานสายรัดแก้ปวดหัว 

 

แต่สำหรับกรณีนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจว่า มีข่าวอีกข่าวหนึ่งที่ออกมาท่ามกลางกระแสข่าวที่เป็นประเด็นร้อนคือ ดราม่าพระรูปหนึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปล่อยคลิปเสียงนี้ออกมาถูกไล่ออกจากวัด ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตทำไม? ซึ่งเราหลายคนที่ได้ฟังข่าวแล้วคงงงว่าคนเปิดโปงกลายเป็นคนโดนลงโทษ แทนที่คนที่ปรากฏในคลิปเสียงควรจะถูกสอบสวนหรือถูกตรวจสอบ 

 

ทำไมเป็นคนที่ทำถูกที่ต้องถูกลงโทษ วันนี้ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังว่าทำไมเรื่องราวถึงได้กลับตาลปัตรแบบนี้ในวงการผ้าเหลือง

 

อาบัติปาราชิก ความผิดที่ร้ายแรง

 

หากจะกล่าวถึงอาบัติหรือจะพูดง่ายๆ ข้อห้ามหรือข้อที่หากพระสงฆ์รูปใดกระทำแล้วจะมีความผิดนั้นมีรายละเอียดเยอะแยะมากมาย มีตั้งแต่ความผิดแบบเบาๆ ที่สามารถปลงอาบัติได้ ไปจนถึงความผิดที่เรียกได้ว่าหากกระทำแล้วต้องหลุดจากความเป็นสงฆ์และไม่สามารถกลับมาบวชได้อีกเลยในชีวิตนี้ ซึ่งอาบัติขั้นรุนแรงที่สุดนี้เรียกว่า ‘ปาราชิกสี่’ ประกอบไปด้วย 

 

  1. ‘เสพเมถุน’ ไม่ว่าจะกับคนหรือสัตว์

 

  1. ‘ลักทรัพย์’ ที่มีมูลค่าเกิน 5 มาสก โดยสมัยรัชกาลที่ 4 กำหนดว่าเป็นเงินสองสลึงเฟื้องกับห้ากล่ำ ซึ่งจะกระทำโดยเจตนาทำเองหรือให้ใครทำให้ก็ผิด

 

  1. ‘ฆ่าคน’ ไม่ว่าจะลงมือเองหรือจ้างวานให้ใครกระทำ

 

  1. ‘อวดอุตริมนุษยธรรม’ คือการแสดงตนว่าเป็นผู้วิเศษ 

 

แต่อย่างว่า อาบัติปาราชิกพวกนี้หลายคนที่พออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงคิดว่าหลายข้อก็เห็นกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะข้อที่ 4 อวดอุตริมนุษยธรรมแสดงตนเป็นผู้วิเศษ เราก็เห็นกันมากมาย บ้างก็อ้างตนว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ บ้างก็อ้างตนว่าสามารถเสกเป่าคาถาอาคมมนตร์วิเศษได้ หรืออ้างว่าเป็นผู้วิเศษมีบุญญาธิการมาแต่อดีตชาติปางก่อน ก็ไม่เห็นมีใครหรือพระรูปไหนโดนจับสึกหรือโดนตรวจสอบจากหน่วยงานของสงฆ์ที่อ้างว่ามีไว้เพื่อพิทักษ์ศาสนา ส่วนข้อ 3 ‘ฆ่าคน’ อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วใครทำก็คงมีหลักฐานชัดเจน 

 

แต่ข้อที่ค่อนข้างจะมีปัญหามันอยู่ที่ ข้อ 1 เสพเมถุน กับข้อ 2 ลักทรัพย์ มันดูช่างคลุมเครือ คำถามก็คือใครจะรู้ว่าทำหรือแอบทำแล้วไม่มีคนรู้ก็จบไหม แอบทำแล้วไม่มีหลักฐานก็จบไปหรือไม่

 

รักษาภาพลักษณ์ไว้เป็นยอดดี

 

หากจะพูดถึงเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีของพระพุทธศาสนา เชื่อว่าจะต้องมีการพูดถึงความสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของของพระสงฆ์ควบคู่กันไปด้วย เท่ากับว่าภาพลักษณ์ที่ดีของพระสงฆ์คือภาพลักษณ์ที่ดีของพุทธศาสนา ซึ่งภาพลักษณ์นี้ถูกเน้นย้ำมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีความพยายามจะปฏิรูปพุทธศาสนาไทยให้มีความบริสุทธิ์ โดยการหวนคืนกลับไปหาความถูกต้องจากตัวบทคัมภีร์ต้นฉบับอย่างพระไตรปิฎก และมีความพยายามที่จะจัดการและกำจัด รวมถึงแบ่งแยกกลุ่มพระสงฆ์ที่คิดว่าไม่ถูกไม่ต้องออก เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเน้นย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของพระสงฆ์ไทย เพื่อรักษาภาพลักษณ์พุทธศาสนาไทย และชุดความคิดนี้ก็ถูกผลิตซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ดังนั้นภาพลักษณ์ที่ดีของพระสงฆ์ไทยตามอุดมคติพระสงฆ์ที่ดีดังที่พุทธศาสนาไทยต้องการนำเสนอคือ นิ่ง สงบ สำรวม สันโดษ ไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับเรื่องราวใดๆ ในทางโลกที่ทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเงิน การเมือง หรืออะไรก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นกิเลส เพราะถ้าทำให้ภาพลักษณ์ตนเองเสื่อมเสียก็เท่ากับทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาเสื่อมเสียไปด้วย เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ไทยจึงมีคติร่วมกันอย่างหนึ่งว่า ‘อย่าได้กระทำการใดๆ เพื่อให้คนรู้ว่าพระสงฆ์มีอะไรที่เสื่อมเสีย’

 

ดังที่กล่าวไปแล้ว จึงทำให้พระสงฆ์ไทยบางส่วนมีความตรรกะไม่อยู่กับร่องกับรอยอยู่อย่างหนึ่งคือ จะเน้นรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้มากกว่าเปิดโปร่งความไม่ดีของพระ (บางรูป) คือผิดก็เงียบๆ จัดการกันเงียบๆ เดี๋ยวคนรู้คนเห็นก็จะทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาเสียหายไปเปล่าๆ จะทำให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตทำไม แล้วใครที่เป็นคนทำ ใครที่เป็นคนเปิดโปงก็จะถูกกระทำ ถูกประณามว่าเป็นคนที่ทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาเสื่อมเสีย ทั้งที่เอาจริงๆ แล้ว เขาคนนั้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง 

 

ไม่มี ไม่หนี ไม่สึก

 

ที่สำคัญอาจจะต้องถึงกับหลับหูหลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นมองไม่เห็น ทั้งที่รู้อยู่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแต่หากไม่มีหลักฐานหลุดออกมาเป็นชิ้นเป็นอันจนจับได้แบบคาหนังคาเขา ดังกรณีคลิปเสียงพระดังภาคใต้ที่ปรากฏ หรือกรณีที่หมอปลาบุกวัดเข้าไปจับพระค้นหาสีกาคากุฏิ จนกลายเป็นมีมสายรัดผมแก้ปวดหัว ซึ่งเอาจริงๆ ผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามอะไรเท่าไรกับการกระทำของหมอปลาที่ถืออำนาจเหมือนศาลเตี้ยบุกค้นวัด ค้นบุกกุฏิอะไรแบบนั้น (ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าหากไม่ทำแบบนี้ก็คงจับไม่ได้ก็ตาม) ดังนั้นหากไม่มีหลักฐานก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และก็จะมีคติร่วมกันอยู่อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าใครกระทำการใดๆ แล้วทำให้เกิดหลักฐานมัดตัวจนไม่สามารถที่จะช่วยได้ ก็จำเป็นต้องรับผิดชอบความผิดของตนเองนั้นไป และอย่าได้สาวไส้ให้กากิน 

 

บ้างก็ถือคติตามสำนวนไทยที่ว่า ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ก็คือ รู้ๆ กันอยู่ก็หลับหูหลับตาไป จะเปิดจะโปงกันทำไม หรือถ้าเกิดอะไรก็ให้เรื่องมันจบกันแค่นั้น อย่าได้ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต จนทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ‘หลักฐาน’ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

ดังนั้น ‘ไม่มี’ คือไม่มีหลักฐานก็จบ พอไม่มีหลักฐานก็ไม่สึก ทำไมต้องสึก อยากให้สึกหาหลักฐานมา แต่ก็เหมือนที่บอก ถ้าทำให้เกิดหลักฐานก็ต้องจบด้วยตัวของตัวเอง ‘อย่าสาวไส้’ 

 

นี่คือคติร่วมกันที่มีและเกิดขึ้นจริงๆ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของวงการสงฆ์และรักษาภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนาไทย ไม่ให้ประชาชนรู้สึกเสื่อมศรัทธา (ไปมากกว่านี้) ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ การที่คนหรือใครจะเสื่อมศรัทธาต่อศาสนา ไม่ได้เพียงแค่อยู่ที่ภาพลักษณ์ของพระ แต่มันอยู่ที่การปรับตัวของพุทธศาสนาด้วย ว่าคำสอนของตนเองยังสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้คนในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ดังนั้นการที่บอกรักษาภาพลักษณ์คือสิ่งสำคัญของการรักษาพุทธศาสนา มันคือการรักษาพุทธศาสนาในทางที่ผิด 

 

สรุป

 

พระสงฆ์ไทย (บางส่วน) ต้องเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ใหม่ ไม่ใช่ช่วยกันปกป้องความผิด หรือทำเป็นหลับหูหลับตา เพียงเพราะคิดว่าจะได้ไม่เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาไทยเสื่อมเสีย แต่ควรที่จะยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง และการกระทำนั้นๆ เป็นความผิดของตัวบุคคลไม่ใช่ตัวองค์กรศาสนาทั้งหมด

 

อย่าได้เอาภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนามาเหมารวมกับภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เพียงหนึ่งรูป พระสงฆ์คือคน คือปุถุชนที่ยังมีความโลภ โกรธ หลง ก็มีดีบ้างไม่ดีบ้างเป็นเรื่องสามัญปกติ ผิดก็ว่ากันตามผิด จะช่วยกันปกปิดเพียงเพราะอ้างว่าช่วยกันรักษาภาพลักษณ์พระพุทธศาสนาทำไม เพราะจะทำให้ศาสนาอยู่ยั้งยืนยงได้โดยไม่เสื่อมสลายไปตามความเชื่อที่เชื่อกัน  

 

ดังนั้นศาสนาและคำสอนของศาสนาจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้คนในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่การแช่แข็งคำสอน โลกมันเปลี่ยนไป ศาสนาก็ควรต้องเปลี่ยนตาม แล้วคนผิดก็คือคนผิด ไม่ใช่ไปเอาผิดกับคนที่ทำถูก แค่นี้พุทธศาสนาก็อยู่ไปได้อีกยาว ไม่มีวันเสื่อมสลายอย่างที่เชื่อกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising