ส.อ.ท. เผย ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลังเศรษฐกิจโลกชะลอ หวังรัฐเจรจาสหรัฐฯ ปิดดีลราบรื่น ชี้ ‘ภาษีทรัมป์’ ไม่เพียงฉุดส่งออก แต่ยังทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น พร้อมเข้มงวดตรวจสอบสินค้าสวมสิทธิ แนะตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา SME งัดศักยภาพการแข่งขัน ด้าน ‘ประธานสมาพันธ์ SME’ เผย มหกรรมศูนย์เหรียญ สินค้าสวมสิทธิ กลืนกินอธิปไตยทางเศรษฐกิจ
อภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ระดับ 89.9 ปรับตัวลดลง จาก 91.8 ในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้จำนวนวันทำงานลดลง
อภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ประกอบกับมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กระทบการส่งออก เช่น อัตราภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มสินค้า (Sectoral Tariff) 25% ในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์, เหล็กและอะลูมิเนียม รวมทั้งการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) ในสินค้าแผงโซลาร์เซลล์ 375% (เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568) รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์แนวดิ่ง และกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์
“สินค้านำเข้าจากจีนและปัญหาการสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 20.07%YoY (ณ ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2568) กระทบภาคการผลิตในประเทศอย่างมาก”
อีกปัจจัยคือการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2568 การส่งออกลดลง -9.36%YoY จากมาตรการขึ้นภาษีรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายนยังคงมีปัจจัยบวกจากการชะลอการบังคับใช้ Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน (สิ้นสุดช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2568) โดยยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้า Baseline Tariff 10% กับทุกประเทศ ส่งผลให้เกิดการเร่งนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
ทั้งนี้ จากการที่สหรัฐ ประกาศภาษี ขณะนี้หลายประเทศมีการเจรจา เช่น อังกฤษที่ผลการเจรจาดี บวกกับการที่จีนหารือที่สวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้มีการผ่อนผันและต่างถอยคนละก้าว ดังนั้นคาดว่าท้ายที่สุดสหรัฐน่าจะปรับลดให้ไทยอยู่ที่เฉลี่ย 10%
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุล่าสุด สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงลึกของเศรษฐกิจไทยปีนี้ เริ่มจากวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ต่างฝ่ายต่างกักตุนสินค้า เร่งส่งออก เพราะกลัวมาตรการภาษี เมื่อรวมเหตุการณ์ต่างๆ ที่ถาโถมถือเป็นความท้าทายของไทย รวมถึงแผ่นดินไหวที่ไม่คาดคิด มีข่าวด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยทั้งหมดนี้ส่งผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจที่ลดลง แต่ไทยยังมีโอกาสในส่วนของปัจจัยภายในประเทศ
“ปัญหาสินค้าราคาถูกยังทะลัก มากไปกว่านั้นคือถูกสวมสิทธิ ตอนนี้เราต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่รัฐบาลและเอกชน ส.อ.ท. พูดทุกครั้งว่าต้องสนับสนุนสินค้า Made in Thailand การใช้ของที่ผลิตในไทยจะช่วยคนไทยโดยตรง ถ้าวันนี้ยังใช้สินค้าราคาถูก ต้องตัดใจช่วยกัน และขอให้รัฐตั้งศูนย์ให้คำปรึกษา SME ดึงศักยภาพยกระดับแข่งขันด้วย”
มหกรรมศูนย์เหรียญ สินค้าต่างชาติสวมสิทธิกลืนกินธุรกิจ SME
ด้าน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์ SME ไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขณะนี้ไทยเจอปัญหาที่น่าหนักใจมากที่สุดนั่นคือ
- ‘มหกรรมศูนย์เหรียญ’ ซึ่งสูญเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจประเทศไปมาก
“ธุรกิจไทยถูกครอบงำกลืนกิน 3 ธุรกิจ SME คือ โรงงานศูนย์เหรียญ ท่องเที่ยวศูนย์เหรียญ (ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร และทัวร์) โลจิสติกส์ศูนย์เหรียญ ซึ่งไร้การจ้างงานคนไทย”
- เกษตรยึดต้นน้ำยันปลายน้ำ สูญเสียความมั่นคงทางอาหาร กลไกราคา กลไกตลาดผูกขาดในอนาคต สวนที่เห็นชัดคือทุเรียน จากล้ง เหมาสวน สู่นอมินีซื้อสวนควบคุมความมั่นคงทางอาหารไทย
- ค้าปลีกหลีกทาง ‘พี่ใหญ่ทั้งใน-นอกประเทศ’ SME ถูกถล่มกลืนหาย
- การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและ SME GP จากบริษัทนอมินีทุนต่างชาติ
- แพลตฟอร์ม ‘หวังแต่พึ่งพาเจ้า’ ไม่สร้างสมดุลทางการค้าออนไลน์ ตลาดสมัยใหม่ของคนไทย อาทิ e-Commerce จองที่พักโรงแรมท่องเที่ยว รวมทั้ง Software, Program และ Application ต่างๆ
- สินค้าไร้มาตรฐาน ไร้ภาษี และละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
- สร้างเครือข่ายเศรษฐกิจนอกระบบจากทุนต่างชาติ จากทุนเทาต่างชาติร่วมกับผู้ประกอบการไทยบางราย และเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานบางราย
ส่วนการเจรจาภาษีทรัมป์เชื่อว่าสหรัฐฯ น่าจะจัดลำดับการเจรจาตามความสำคัญและการเตรียมพร้อมข้อมูล เพื่อสร้างเงื่อนไขการต่อรองฉากทัศน์ต่างๆ ที่จะต้องบริหารจัดการ ‘ดึงเพื่อกดดัน’ สร้างสภาวะสุญญากาศให้เป็นฝ่ายรีบเร่งการเจรจาและสามารถให้เงื่อนไขที่โอนอ่อนตามในท้ายที่สุด
”ผมมองว่าการเจรจาที่ล่าช้าออกไปอาจส่งผลบวกกับไทยในด้านสถานการณ์ที่รอดูท่าทีทิศทางของคู่เจรจาประเทศต่างๆ การแลกเปลี่ยนเงื่อนไข และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยก่อน และไทยมีเวลาในการเตรียมข้อมูลและข้อเสนอการคาดการณ์ ประเมินเงื่อนไขที่จะมาจากสหรัฐฯ”
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย
ทั้งนี้ หากบริหารปัจจัยความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ดีพอ จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย GDP ต่ำกว่า 2% ฉะนั้นรัฐบาลต้องเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และ SME ต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและภาครัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุน SME ในทุกด้าน
เพราะปีนี้ภาษีทรัมป์ไม่เพียงฉุดส่งออก แต่ทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าไทยมากขึ้น อาจกระทบให้ผู้ประกอบการไทยต้องปิดกิจการหรือมีการเลิกจ้างแรงงานเพิ่ม เพราะสินค้าส่งออก SME ไทย ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักเกินกว่า 10% ท้ายที่สุดข้าวของแพงกระทบคนไทยมากขึ้นไปอีก
“ผมห่วงการค้าปลีก ร้านขายของชำ ร้านโชห่วย SME มี 410,000 ราย กว่า 99% คือขนาดย่อย ซึ่งหาก SME กระทบ การจ้างงานจะกระทบไปด้วย ยังไม่รวมธุรกิจเหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรและส่วนประกอบ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ที่อาจกระทบถึง 3,700 SME” แสงชัยกล่าว
ภาพ: Create Image / Getty Images, Adventtr / Getty Images, RP Pro / Getty Images