×

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งขึ้นอีก 7.6 แสนล้านบาท แตะระดับ 90.6% ต่อ GDP หลัง ธปท. ปรับสูตรคำนวณให้นับรวมหนี้ กยศ. และสหกรณ์อื่นๆ ด้วย

30.06.2023
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือน

แบงก์ชาติสั่งปรับปรุงการจัดเก็บสถิติหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยนับรวมหนี้ กยศ. หนี้สหกรณ์อื่นๆ หนี้การเคหะฯ และพิโกไฟแนนซ์ ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุดกระโดดขึ้นอีก 7.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับปรุงการจัดเก็บสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ของประเทศไทยให้ครอบคลุมและครบถ้วนมากขึ้น โดยนับรวมหนี้จากผู้ให้กู้ 4 กลุ่มเพิ่มเติมจากของเดิม ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), สหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์, การเคหะแห่งชาติ และพิโกไฟแนนซ์ 

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้ประเมินแล้วว่าข้อมูลใหม่จากผู้ให้กู้เหล่านี้มีความน่าเชื่อถือของวิธีการจัดเก็บและประมวลผล มีคุณภาพ อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจได้ มีความถี่ของการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลที่สม่ำเสมอ และไม่ล่าช้าเกินไป ทำให้ ธปท. นำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ของไทยย้อนหลังไปจนถึงปี 2555

 

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เมื่อนำชุดข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่นี้มาคำนวณจะส่งผลให้ยอดหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นไตรมาส 1/66 มียอดหนี้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 7.66 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ กยศ. 4.83 แสนล้านบาท, หนี้สหกรณ์อื่นๆ 2.65 แสนล้านบาท, หนี้การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท และหนี้พิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบาท 

 

ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนหลังปรับปรุงข้อมูลมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ซึ่งสูงกว่าตัวเลขก่อนการปรับปรุงที่มียอดคงค้าง 15.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.3% ต่อ GDP หรือเพิ่มขึ้น 4.3% ต่อ GDP 

 

อย่างไรก็ดี การปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้โครงสร้างสัดส่วนหนี้ที่จำแนกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมแตกต่างไปจากเดิม โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยที่จำแนกตามวัตถุประสงค์ ณ ไตรมาส 1/66 ยังคงแบ่งได้ดังนี้ หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ 34%, หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคและหนี้ส่วนบุคคล 27%, หนี้เพื่อการประกอบอาชีพ 18%, หนี้เพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 11% และหนี้อื่นๆ 6% 

 

“หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่ ธปท. กังวลและให้ความสำคัญในภาพรวมอยู่แล้ว แต่ยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากชุดข้อมูลที่ปรับปรุงใหม่นี้เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ จึงไม่ได้ทำให้สถานการณ์น่ากังวลเพิ่มขึ้น โดยวัตถุประสงค์ที่เราปรับปรุงคือต้องการให้ข้อมูลครบถ้วนและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อที่หน่วยงานต่างๆ จะสามารถนำไปใช้พิจารณาในการกำหนดแนวนโยบายต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น” สักกะภพกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ ธปท. จะจัดงาน Media briefing เพื่ออัปเดตสถานการณ์หนี้ครัวเรือนและความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือ โดยมี สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน เป็นผู้ให้ข้อมูล ณ ธปท. สำนักงานใหญ่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising