×

หนี้ครัวเรือนไทยลด 4 ไตรมาสติดแล้ว เหลือ 88% ต่อ GDP ใน 4Q68 แต่ยังสูงในระดับฉุดรั้งเศรษฐกิจ

02.04.2025
  • LOADING...
หนี้ครัวเรือนไทย ลด 4 ไตรมาสติดแล้ว

หนี้ครัวเรือนไทยลดลง 4 ไตรมาสติด เหลือ 88% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2567 โดยเหตุผลหลักมาจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคง ‘หดตัว’ ขณะที่ SCB EIC มองระดับหนี้ครัวเรือนไทยยัง ‘สูง’ และยังคงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือนล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2567 หรือ ณ สิ้นปี 2567 อยู่ที่ 16,421,666 ล้านบาท (16.4 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP อยู่ที่ 88%  ลดลงต่อเนื่องไตรมาส 4 โดยระดับดังกล่าวถือว่า ต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 88.5% ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบปีต่อปี (YoY) หนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นปี 2567 จำนวน 16,421,666 ล้านบาท ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ 0.18%  จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากสินเชื่อส่วนใหญ่ลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์หดตัวมากที่สุด 9.58%  ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 2.32% และเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น บัตรเครดิต ขยายตัว 2.6%

 

ด้านดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในแนวโน้ม (Trend) ‘ขาลง’ เห็นได้จากการลดลงมา 4 ไตรมาสติดต่อกันแล้ว ซึ่งมาจากการหดตัวของสินเชื่อเป็นหลัก

 

หนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ในระดับ ‘อุปสรรคเศรษฐกิจ’

 

ยรรยงยังมองว่า ระดับหนี้ครัวเรือนปัจจุบันยังคงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยก็สูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) อยู่แล้ว 

 

“นอกจากนี้ เราจะสังเกตได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช่วงหลังโควิดก็ช้าอยู่แล้ว ขณะที่ครัวเรือนจำนวนไม่น้อยก็มีภาระหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้เราเห็นว่าสัดส่วนหนี้ NPL และ SM รวมไปถึงหนี้ที่กำลังปรับโครงสร้างมีสัดส่วนค่อนข้างสูงขึ้นทำให้ครัวเรือนจำนวนมากต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นจึงจะส่งผลกระทบไปที่การบริโภคและการลงทุนอีกที กล่าวคือภาคเอกชนก็จะลงทุนลดลง ตามการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว” ยรรยงกล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ Thailand’s Economic and Consumer Finance Outlook ที่จัดขึ้นโดย ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) เมื่อวันที่ 1 เมษายน

 

โดยยรรยง ยังย้ำว่า ไทยควรจะต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของประชาชนเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ต่อไป ควบคู่ไปกับเพิ่มรายได้ให้กับภาคครัวเรือน

 

Fitch Ratings ชี้ หนี้ครัวเรือนสูงเป็นข้อจำกัดธุรกิจสินเชื่ออุปโภคบริโภค

 

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนที่สูงน่าจะเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมสินเชื่ออุปโภคบริโภคในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ของอุตสาหกรรม ‘ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง’ กระนั้น ฟิทช์ยังคงมองว่า ผลกระทบต่อบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับโดยฟิทช์นั้นยังอยู่ในระดับที่จัดการได้

 

ด้านพชร ศรายุทธ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) คาดว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานโดยทั่วไปสำหรับอุตสาหกรรมสินเชื่ออุปโภคบริโภคของประเทศไทยในปี 2568 น่าจะยังทรงตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่แรงกดดันด้านค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญ และต้นทุนทางการเงินน่าจะ ‘ผ่อนคลาย’ ลงได้

 

สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งยังคงมีความได้เปรียบในการรักษาความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการทำกำไรได้ต่อเนื่องตลอดวัฏจักรธุรกิจ

 

พชรยังระบุ แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน แต่การเติบโตของรายได้ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ที่จะช่วยลดระดับหนี้สินครัวเรือนได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising