×

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยจะลุกลามไปได้ไกลแค่ไหน?

13.01.2023
  • LOADING...
ปัญหาหนี้

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกิดไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ส่งผลให้พื้นที่ป่าเสียหายกว่า 3,400 ไร่ หรือ 10% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด ไฟไหม้ผืนหญ้า ป่าสน และต้นเฟิร์น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ โดยเฉพาะป่าสนที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานหลายปี สาเหตุของไฟป่ายังไม่แน่ชัด แต่ไฟลุกลามเร็วเพราะป่ามีสภาพแห้งแล้งและมีลมพัดแรง 

 

จะว่าไปแล้ว ‘หนี้ครัวเรือน’ ก็มีลักษณะคล้ายกับไฟป่าที่อาจลุกลามและสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อย จากข้อมูลล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 อยู่ที่ 86.8% มองเผินๆ เหมือนสัดส่วนจะปรับลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 88.1% ตามหนี้ที่เติบโตช้าลง และ GDP ในรูปตัวเงินที่เพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แต่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงจนน่ากังวล 

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ Bank of International Settlement (BIS) เราพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 (88.1%) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ 48.5% และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ 71.5% อีกด้วย 

 

อีกสัญญาณที่น่ากลัวคือ ในช่วงการระบาดของโควิด หนี้ครัวเรือนไทย ‘ขึ้นเร็ว แต่ลงช้า’ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยปรับเพิ่มขึ้นจาก 79.9% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 88.1% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นถึง 8.2% เทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.8% หรือประเทศพัฒนาแล้วที่ลดลง 2.1% (รูปที่ 1) 

 

การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอาจตีความได้ว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สูงเกินไป ไม่สมส่วนกับรายได้ หรือหนี้อาจไม่ได้ขับเคลื่อนการใช้จ่ายลงทุน จึงไม่มีอานิสงส์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร เป็นไปได้ว่าหนี้ครัวเรือนอาจสูงเกินจุดที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับระบบเศรษฐกิจไปแล้ว 

 

รูปที่ 1 ดร.สมประวิน

หนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป

มองไปข้างหน้า EIC คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะลดลงต่อ ตามแนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนที่จะชะลอลงอีก และมูลค่า GDP ที่จะเติบโตตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนน่าจะลดลงมาอยู่ประมาณที่ 86-87% ณ สิ้นปี 2565  

 

แต่ถ้ามองไปไกลกว่านั้น หนี้ครัวเรือนไทยอาจลดลงต่อได้อีกไม่มาก ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ค้างอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากครัวเรือนไทยจำนวนมากยังมีฐานะการเงินที่ ‘เปราะบาง’ ต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดย EIC พบว่า ครัวเรือนเปราะบางหรือครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้และทรัพย์สินในปี 2021 มีจำนวนถึง 2.1 ล้านครัวเรือน ปรับเพิ่มขึ้นถึง 24% จากปี 2019  

 

งานศึกษายังพบว่า ในช่วงปี 2013-2021 รายได้ของครัวเรือนเปราะบางมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับรายได้ของครัวเรือนทั่วไปที่สูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนเปราะบางมีโอกาสเผชิญกับ ‘ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย’ มากกว่าครัวเรือนทั่วไปถึง 30% เมื่อรายได้ไม่พอรายจ่าย ครัวเรือนเปราะบางจึงต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลให้หนี้ของครัวเรือนเปราะบางเพิ่มขึ้นจาก 2.5 เท่าของรายได้ทั้งปีในปี 2013 มาอยู่ที่ 3 เท่าในปี 2021  หากครัวเรือนยังเปราะบางและยังแก้ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายไม่ตก หนี้ครัวเรือนก็คงจะอยู่ในระดับสูงต่อไป

 

ที่น่ากังวลไปกว่านั้นคือ ครัวเรือนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจที่ผันผวน (Volatility) ไม่แน่นอน (Uncertainty) ซับซ้อน (Complexity) และคลุมเครือ (Ambiguity) ขึ้น ครัวเรือนไทยจึงมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายมากขึ้นและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ในกรณีเลวร้าย ครัวเรือนอาจผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง กลายเป็น ‘เชื้อเพลิง’ ของวิกฤตเศรษฐกิจ คล้ายกับความแห้งแล้งที่เป็นเชื้อเพลิงของไฟป่า

 

ในบทความฉบับที่แล้ว เราพูดคุยกันว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจเป็นชนวนไปสู่สถานการณ์เลวร้าย 2 รูปแบบ นั่นคือ ระบบการเงินล้มเหลวและการคลังล้มเหลว 

 

สถานการณ์ที่ 1 ระบบการเงินล้มเหลว ในภาวะที่ครัวเรือนมีหนี้สูง จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ครัวเรือนอาจผิดนัดชำระหนี้หรือขอปรับโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินจึงต้องกันสำรองเพิ่มเติมและเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ การปรับนโยบายสินเชื่อทำให้ครัวเรือนอื่นมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อน้อยลง ครัวเรือนอื่นจึงอาจขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ตามไปด้วย กลายเป็นวงจรลบที่ขยายผลจากการผิดนัดชำระหนี้ของครัวเรือนหนึ่งไปสู่อีกครัวเรือนหนึ่ง และย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินในท้ายที่สุด 

 

เมื่อสถาบันการเงินอ่อนแอลง คนในระบบเศรษฐกิจอาจสูญเสียความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินของระบบด้อยลง ในกรณีเลวร้าย ระบบสถาบันการเงินอาจหยุดชะงักหรือล้มเหลวได้ 

 

สถานการณ์ที่ 2 การคลังล้มเหลว ในภาวะวิกฤต หากครัวเรือนประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายจนเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ภาครัฐจะดำเนินนโยบายอุดหนุนสภาพคล่องให้กับครัวเรือนหรือใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้หากการผิดนัดชำระหนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ภาครัฐและธนาคารกลางจะเข้าแทรกแซงเพื่อรองรับผลกระทบนั้น อาจกล่าวได้ว่า ภาระหนี้ของภาคครัวเรือนจะ ‘เปลี่ยนมือ’ มาเป็นของภาครัฐ

 

ภาระอุดหนุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นภาระทางการคลังมูลค่ามหาศาล ภาครัฐจำเป็นต้องกู้ยืม (จากการออกพันธบัตรหรือขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน) เมื่อมีหนี้ ภาครัฐจะขาดกำลังในการดำเนินนโยบาย ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงเปราะบางขึ้น และถ้าภาระทางการคลังบวกกับภาระหนี้สินมากจนเกินรับไหว ระบบการคลังก็อาจล้มเหลวได้เช่นกัน

 

สถานการณ์เลวร้ายทั้งสองมีโอกาสเกิดขึ้นมากแค่ไหน? ถ้าเกิดแล้วเศรษฐกิจไทยจะเสียหายเพียงใด? เรามาหาคำตอบด้วยกันในบทความฉบับนี้ครับ

 

ระบบการเงินล้มเหลวเป็นไปได้ยาก เพราะสถาบันการเงินไทยมี ‘แนวกันไฟ’

มีโอกาสแค่ไหนที่ระบบการเงินจะล้มเหลว? สถาบันการเงินส่วนใหญ่ของไทยเป็น ‘สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน’ โดยมีสัดส่วนของสินทรัพย์อยู่ที่ 69% ของสินทรัพย์รวมของสถาบันการเงินทุกประเภท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 หากจำแนกประเภทของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินจะพบว่า ธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนของสินทรัพย์อยู่ที่ 67% ของสินทรัพย์รวมของสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน บทความฉบับนี้จึงศึกษาธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก 

 

จากการแถลงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2565 ธปท. ประเมินว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง 3 มิติ นั่นคือ

 

  1. อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงถึง 19.2%
  2. มีเงินสำรองสูงถึง 1.7 เท่าของหนี้เสีย 
  3. มีสินทรัพย์สภาพคล่องรองรับอยู่ถึง 1.9 เท่าของกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต 

 

ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยจึงมีความพร้อมรับมือกับการผิดนัดชำระหนี้ และน่าจะสร้างความเชื่อมั่นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่อง ความเข้มแข็งทั้งสามมิติจึงเปรียบเสมือน ‘แนวกันไฟ’ ไม่ให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนลุกลามไปกระทบการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินหรือการเข้าถึงสภาพคล่องของคนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ 

 

นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มี ‘ความสำคัญเชิงระบบ’ เพราะเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) อย่างเข้มงวด และพร้อมเข้าแทรกแซงเพื่อให้ D-SIBs ดำเนินกิจการต่อได้ในภาวะวิกฤต 

 

การคลังล้มเหลวก็เป็นไปได้ยาก เพราะไฟป่าอาจปะทุ แต่จะเผาไหม้อยู่ภายในพื้นที่จำกัด

ปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 60.4% แม้จะต่ำกว่าเพดานหนี้สาธารณะตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่ 70% แต่สัดส่วนปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 41.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 ถึงเกือบ 20% (รูปที่ 2) คำถามที่สำคัญคือ หลังจากก่อหนี้สาธารณะไว้เป็นมูลค่ามากแล้ว การก่อหนี้เพิ่มเพื่อชดเชยขาดดุลการคลังจากการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังมากแค่ไหน? 

 

รูปที่ 2 ดร.สมประวิน

ข้อมูลชี้ว่า หนี้สาธารณะเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้ว่า หนี้ในประเทศคิดเป็น 98.3% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ความเสี่ยงจึงมาจากหนี้ในประเทศเป็นสำคัญ

 

การผิดนัดชำระหนี้ในประเทศมีความเสี่ยงแค่ไหน? ข้อมูลหนี้ในประเทศจาก ธปท. ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน ระบุว่า 

 

  1. หนี้ในประเทศเกือบ 80% เป็นพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรระยะยาว (อายุ 5 ปีขึ้นไป) ถึง 59.3% ขณะที่เป็นพันธบัตรระยะสั้น (มีอายุไม่เกิน 1 ปี) เพียง 5.8%
  2. สถาบันการเงินทั้งที่รับฝากและไม่รับฝากเงินถือครองพันธบัตรรัฐบาลคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 2 ใน 3 ของยอดคงค้าง ตามมาด้วยรัฐบาลกลางและนักลงทุนที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 12.4 และ 10.4% ตามลำดับ ในขณะที่ครัวเรือนถือครองแค่ 5.7% 

 

ข้อมูลช่วยเราตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อ

 

คำถามที่ 1 แนวกันไฟของภาครัฐคืออะไร

โอกาสที่ภาครัฐจะผิดนัดชำระหนี้ขึ้นกับสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือน สถานะทางการคลัง รวมถึงอายุของพันธบัตร เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรระยะยาว ภาครัฐจึงมีเวลาบริหารจัดการเงินคงคลังและเงินกู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ขนาดใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง อายุของพันธบัตรจึงเป็นแนวกันไฟชุดแรกของภาครัฐ

 

คำถามที่ 2 สถานการณ์เลวร้ายเป็นอย่างไร 

ในกรณีที่แนวกันไฟเอาไม่อยู่ หากมีสัญญาณว่าภาครัฐอาจจะผิดนัดชำระหนี้หรือจะขอปรับโครงสร้างหนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกคือ ‘อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะปรับสูงขึ้น’ เนื่องจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) จะปรับลดอันดับหรือประเมินแนวโน้มสถานะทางการเงินของภาครัฐให้เป็นลบ การปรับลดอันดับจะทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในภาครัฐ จึงเทขายพันธบัตร หรือถ้าจะซื้อพันธบัตรใหม่ก็จะเรียกส่วนอัตราผลตอบแทนสูงเพื่อชดเชยความเสี่ยง 

 

นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือครองพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจอยู่ประมาณ 10.4% อาจจะเทขายพันธบัตร ส่งผลให้ราคาปรับลดลง เมื่อนั้นสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นนักลงทุนสถาบัน จะขายตามเพื่อจำกัดการขาดทุน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยิ่งปรับสูงขึ้นไปอีก ความต้องการซื้อพันธบัตรที่ลดลง ประกอบกับต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น กลายเป็นข้อจำกัดในการกู้ยืมเพื่อชดเชยขาดดุลการคลัง เพิ่มโอกาสที่ภาครัฐจะผิดนัดชำระหนี้ตามที่นักลงทุนกังวล

 

Kaminsky and Schmukler (2545) ศึกษาการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล เมื่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับอันดับหรือแนวโน้มสถานะการเงินของภาครัฐ โดยเลือกศึกษากลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในช่วงปี 2533-2543 จึงรวมไทยที่เผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ การศึกษาควบคุมผลของปัจจัยแวดล้อมจากประเทศเศรษฐกิจใหญ่ และการปรับอันดับของระบบเศรษฐกิจที่อยู่ใกล้เคียงไว้แล้ว 

 

ผลการศึกษาพบว่า การปรับลดอันดับจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นถึง 2.1% ภายใน 10 วัน และอาจเพิ่มขึ้นไปเป็น 2.8% หากปรับลดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังค่อนข้างต่ำ แต่เมื่ออัตราผลตอบแทนปรับสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก การปรับลดอันดับจะทำให้อัตราผลตอบแทนปรับสูงขึ้นอีก และจะมีนัยต่อการระดมทุนของภาครัฐมากขึ้น 

 

คำถามที่ 3 ในสถานการณ์เลวร้าย…ใครเจ็บที่สุด 

ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นคนแรกคือ สถาบันการเงินและนักลงทุนสถาบันที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจไว้มากที่สุด แต่การผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินจนเกิดวิกฤตสถาบันการเงินหรือไม่ 

 

ข้อมูลของ ธปท. ระบุว่า ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 สถาบันการเงินที่รับฝากเงินถือครองพันธบัตรรัฐบาลคิดเป็น 5.7% ของสินทรัพย์รวม แต่ถ้าคิดต่อว่าการปรับลดอันดับภาครัฐจะส่งผลให้ต้นทุนของภาคเอกชนในการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนปรับสูงขึ้นด้วย จะคิดเป็น 8.0% จะเห็นว่า สถาบันการเงินถือครองตราสารที่ได้รับผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ของภาครัฐอยู่ค่อนข้างน้อย ดังนั้นหากภาครัฐผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินจะ ‘เจ็บ’ แต่จะ ‘ไม่เจ็บหนัก’ เปรียบเสมือนไฟป่าที่ไม่มีลมพัดสุมให้ไฟแรง

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวกันไฟ แต่โจทย์ใหญ่คือการเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน

ผมภาวนาว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะไม่เลวร้ายกลายเป็นไฟป่าที่เผาทำลาย ‘พื้นที่เศรษฐกิจไทย’ โชคดีที่ข้อมูลสะท้อนว่าระบบเศรษฐกิจไทยมี ‘แนวกันไฟ’ ป้องกันสถานการณ์เลวร้ายไม่ให้เกิดขึ้นหรือลุกลามใหญ่โต 

 

วิกฤตหนี้ครัวเรือนอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยมี ‘ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย’ เป็นเชื้อเพลิงชั้นดี พื้นที่เศรษฐกิจไทยจึงติดไฟง่าย ยิ่งถ้าคนในระบบเศรษฐกิจสูญเสียความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ปัญหาหนี้ครัวเรือนอาจขยายวงกว้างจนกลายเป็นวิกฤตได้ในเวลาอันสั้น ขณะที่ต้องฟื้นฟูเป็นเวลานาน

 

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพในระยะสั้น แต่วิกฤตหนี้ครัวเรือนอาจฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว หากสถาบันการเงินไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหากภาครัฐประสบปัญหาหนี้สาธารณะจนไม่สามารถดำเนินนโยบายเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยอาจจะสูญเสียโอกาสเติบโตและเปราะบางต่อปัจจัยลบที่อยู่แวดล้อม

 

ต้นเหตุของปัญหาหนี้ครัวเรือนคือปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย วิธีป้องกันคือ ‘การเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน’ โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือ การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้กับกิจกรรมที่ ‘สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ’ และกิจกรรมที่เพิ่มความสุขจากการบริโภค ‘อย่างสมดุล’ เพื่อให้หนี้และรายได้เติบโตไปด้วยกัน ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และภาครัฐ จะต้องทบทวนแรงจูงใจและกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อปรับสมดุลของสินเชื่อและสร้างโอกาสในการแสวงหารายได้อย่างทั่วถึง จึงจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X