ไทยฮอนด้าลงนามร่วมมาตรการส่งเสริม EV (Electric Vehicle) รับสิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษีตามมูลค่า 1% และเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน กลายเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารายที่ 10 ที่ลงนามในข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากับกรมสรรพสามิต โดยหวังว่าราคาที่ลดลงและสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคจะทำให้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
วันนี้ (25 ตุลาคม) เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ Honda
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ก็จริง แต่เมืองไทยพร้อมหรือยังสำหรับรถที่จะใช้แบตเตอรี่ 100%
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
โดยไทยฮอนด้าจะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษีสรรพสามิตอัตราภาษีตามมูลค่า 1% และเงินอุดหนุนจำนวน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับการนำเข้ารถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) ในปี 2565-2566 และผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในปี 2565-2568
โดยรถจักรยานยนต์ BEV ที่เข้าร่วมมาตรการต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- ต้องเป็นแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออน
- มีความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 KWh ขึ้นไป หรือมีระยะทางที่วิ่งได้ตั้งแต่ 75 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตามมาตรฐาน World Motorcycle Test Cycle ตั้งแต่ Class 1 ขึ้นไป
- ต้องใช้ยางล้อที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก. 2720-2560 (UN Reg.75) หรือที่สูงกว่า (UN Reg.75)
- ต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม เลขที่ มอก. 2952-2561 (UN Reg.136) หรือที่สูงกว่า
ทั้งนี้ ไทยฮอนด้ามีความประสงค์ผลิตรถจักรยานยนต์ BEV ในประเทศ และขอรับสิทธิจำนวน 1 รุ่น คือ รุ่น BENLY e ในอีก 6 เดือนต่อจากนี้ ขั้นต้นคาดว่าจะมีการผลิตประมาณ 200 คัน
จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้วจำนวน 10 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์จำนวน 7 ราย และรถจักรยานยนต์จำนวน 3 ราย
โดยคาดว่าจะมียอดจองและยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการภายในสิ้นปี 2565 รวมกันทั้งสิ้นกว่า 25,000 คัน และจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรม/ผู้นำเข้ารถยนต์ที่สนใจทยอยเข้าร่วมลงนามเพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV มีราคาลดลงและสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
“มาตรการนี้จะส่งผลดีทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญและจะขับเคลื่อนอย่างจริงจังต่อจากนี้” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้าย