×

พาเศรษฐกิจไทยกลับไปโตเกินศักยภาพ! ถอดบทเรียนจากรายงาน 5 ฉบับของ World Bank

30.04.2025
  • LOADING...

ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตของ GDP ไทยชะลอตัวลง ‘ทุกครั้ง’ หลังเผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19

 

ปัจจุบัน ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินว่า การเติบโตตามศักยภาพของไทย (Potential Growth) คาดว่าจะอยู่ที่ราว 2.7% เท่านั้น และด้วยอัตราการเติบโตในระดับนี้อาจทำให้การบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) ภายในปี 2037 หรือภายในระยะเวลาราว 9 ปีข้างหน้าได้ ‘เป็นเรื่องท้าทาย’ สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยอาจต้องการการปฏิรูปอย่างจริงจัง

 

ไทยจะสามารถยกระดับศักยภาพได้อย่างไร เพื่อส่งเสริมให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศดีขึ้น ร่วมถอดบทเรียนจากรายงาน 5 ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก

 

ตามข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) แสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ปี 2008 ปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011 และวิกฤตการระบาดของโควิด  อัตราการเติบโตของไทยจะค่อยๆ จะค่อยๆ ชะลอลง

 

 

โดยทศวรรษก่อนวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997 เศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ย 9.8% (ปี1987-1966) ทศวรรษก่อนวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์เมื่อปี 2008 เศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ย 5.18% (ปี 1998-2007) และทศวรรษก่อนวิกฤตการระบาดของโควิด  เศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ย 3.35% (ปี 2009-2018)

 

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า หลังโควิด-19 เศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะชะลอตัวมากกว่าทุกครั้ง และยังฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศในภูมิภาค โดยตามข้อมูลจากรายงาน Thailand Economic Monitor ของธนาคารโลกฉบับล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนประมาณ 8-14% ของ GDP 

 

 

เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของ Real GDP ระหว่างปี 2019-2024 พบว่า เวียดนามเป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด โดยมีอัตราการเติบโตระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ราว 28.8% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย (18%) มาเลเซีย (15.7%) ฟิลิปปินส์ (14.7%) ขณะที่ไทยฟื้นตัวราว 2.4% เท่านั้น ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

 

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียนเป็นผลมาจาก ไทยมีเศรษฐกิจที่เปิดมากกว่าและพึ่งพาภาคต่างประเทศ (External Sector) เช่น ส่งออกและท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวของไทยยังไม่กลับสู่ระดับก่อนการระบาด

 

นอกจากนี้ไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการขาขึ้นวงจรอิเล็กทรอนิกส์โลกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะจากส่วนประกอบที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างเช่น เซมิคอนดักเตอร์

 

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยจ่อลด อุปสรรคก้าวเป็นประเทศรายได้สูง

 

เมื่อมองไประยะข้างหน้า การคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) ยังชี้ว่า หากรัฐไม่มีการปฏิรูปนโยบายอย่างเร่งด่วน อัตราการเติบโตของประเทศจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการเติบโตตามีศักยภาพจะลดลงประมาณ 0.5% จากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2011–2021 เหลือเพียง 2.7% ในช่วงปี 2022 – 2023 ด้วยอัตราการเติบโตในระดับนี้ ประเทศไทยอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2037 ได้ หรือระยะเวลาราว 9 ปีข้างหน้า

 

 

ไทยสามารถทำอะไรได้บ้าง? เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ ผ่านรายงาน 5 ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก

 

1. เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ทอัพ

 

ตามข้อมูลจาก World Bank ที่ระบุว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ครองสัดส่วนราว 99.5% ของธุรกิจไทย และสร้าง GDP ได้ราว 35.3% สะท้อนให้เห็นว่า SMEs ไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ต่อการยกระดับศักยภาพโดยรวมของประเทศ

 

โดยการจะบรรลุเป้าหมายด้านรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพได้นั้น ไทยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในการเพิ่มผลิตภาพของภาคเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่ม SME ผ่านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้มากขึ้นจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนความพยายามนี้ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคที่มีการแข่งขันสูง หากไม่มีการส่งเสริมต่างๆ อย่างเพียงพอ ไทยก็อาจต้องเผชิญกับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูง ท่ามกลางประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่พยายามเร่งพัฒนาตนเองเพื่อก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม

 

World Bank ยังชี้ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมได้ อย่างไรก็ตาม FDI ในไทยยังคงต่ำกว่าประเทศเทียบเคียงอื่นๆ โดยตั้งแต่อดีตจนถึง 2022 อัตราการลงทุนของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่เทียบทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สถานการณ์นี้สะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่ากฎระเบียบในการเข้าสู่ตลาดของไทยอาจขาดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับบางประเทศในกลุ่มเดียวกัน

 

โดยไทยสามารถดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs และสตาร์ทอัพได้ ตัวอย่างเช่น

  • ปรับปรุงให้กฎระเบียบการด้านลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น
  • ปรับปรุงระบบการศึกษาให้ผลิตแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง
  • ปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs
  • ปรับปรุงกฎระเบียบปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินทุนที่มีความเสี่ยง เช่น ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital)

 

 

2. ปลดล็อกศักยภาพหัวเมืองหลัก: เครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทย

 

แม้กรุงเทพฯ จะยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ แต่หัวเมืองหลักและเมืองรองของไทยมีการเติบโตของ GDP ต่อหัวสูงกว่ากรุงเทพฯ เกือบ 15 เท่า  ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเติบโตเต็มที่แล้ว และสะท้อนศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ถูกนำมาใช้เต็มที่

 

แต่ปัญหาใหญ่คือ เมืองไทยต่างๆ ของไทยโตแบบไร้ทิศทาง การรวมศูนย์อำนาจทำให้เมืองเหล่านี้ไม่สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ ดึงดูดการลงทุน และสร้างงานได้ เพราะเมืองขาด สามสิ่งสำคัญ: อำนาจ เงิน และศักยภาพ หากเปรียบประเทศไทยเป็นรถยนต์ ทุกวันนี้เรามีเพียงเครื่องยนต์หนึ่งถึงสองสูบ แต่หากพัฒนาหัวเมืองหลักให้เป็นศูนย์กลางการเติบโตใหม่ (New Growth Poles) ประเทศไทยจะขับเคลื่อนได้ด้วยเครื่องยนต์ห้าสูบ หรือมากกว่า โดย ปลดล็อกศักยภาพของเมืองหลักสำคัญ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ตนครสวรรค์ และ ระยอง เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน เมืองยังเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมเศรษฐกิจสูงและปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก หากไม่สามารถปลดล็อกศักยภาพเมือง การลงทุนเพื่อผลักดันให้เมืองเป็นคาร์บอนต่ำก็จะยากตามไปด้วย

 

รายงานของธนาคารโลกเสนอ 2 เครื่องมือที่หลายประเทศใช้แล้วได้ผล ได้แก่ 1. การให้เมืองมีเสรีภาพในการระดมทุนเอง เช่น การออกพันธบัตรเมือง 2. เปิดโอกาสการร่วมทุนกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างรายได้

 

สองแนวทางนี้สามารถช่วยให้เมืองมีพลังในการลงทุนและยกระดับตนเองได้อย่างยั่งยืน

 

 

3. การตั้งราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) คือโอกาสของเศรษฐกิจไทย

 

ในโลกยุคใหม่ ประเทศและบริษัทที่เร่งลดคาร์บอนก่อน จะเป็นผู้นำในเวทีเศรษฐกิจโลก ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งได้เปรียบในตลาดที่ผู้บริโภค นักลงทุน และคู่ค้าให้ความสำคัญกับการปล่อยคาร์บอนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว คือ “การตั้งราคาคาร์บอน” ไม่ว่าจะในรูปแบบภาษีคาร์บอน หรือระบบซื้อขายสิทธิปล่อยคาร์บอน (ETS) เพราะเป็นวิธีที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่เรื่อง “ฟรี” อีกต่อไป แต่ต้องมีต้นทุนที่สะท้อนผลกระทบจริง ทั้งต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

 

รายได้จากการจัดเก็บภาษีหรือระบบ ETS เหล่านี้ ยังสามารถนำกลับมาใช้เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด การพัฒนาทักษะแรงงาน และการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

 

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีโอกาสพัฒนา ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ เพื่อเปิดช่องให้กิจกรรมเล็กๆ ที่กระจายตัว เช่น มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก หรือการ เปลี่ยนรถสันดาป เป็นรถไฟฟ้า สามารถมัดรวมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (bundling) เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตที่ขายได้ในตลาดต่างประเทศ ลดต้นทุนต่อหน่วย และทำให้โครงการเล็กๆ เหล่านี้น่าสนใจทางการเงินมากขึ้น

 

หากเราออกแบบระบบให้ดี คาร์บอนจะไม่ใช่แค่ต้นทุน แต่คือโอกาส ที่จะสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ให้กับประเทศ

 

แบบจำลองของ World Bank แสดงให้เห็นว่า ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการกำหนดราคาคาร์บอนได้มากขึ้น เพื่อป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น 

 

โดยแบบจำลองใช้รายได้จากการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อลดการจัดเก็บภาษีจากการจ้างงานและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนที่จะนำไปสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ GDP อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกรณีฐาน

 

ขณะที่การเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าจะช่วยลดต้นทุนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกกว่าเทคโนโลยีการผลิตพลังงานอื่นๆ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยเพิ่มการลงทุน ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และในที่สุด การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศอาจช่วยปรับดุลการค้าของประเทศไทย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปได้

 

นอกจากนี้เครดิตการลดการปล่อยก๊าซในระดับโครงการอาจเป็นแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต

 

 

4. เตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัย-ภัยแล้ง ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

 

ไทยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก สะท้อนจากดัชนีการบริหารความเสี่ยง (INFORM Index) โดยเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 680 ราย ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคน และสร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 12.6% ของ GDP

 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากการขาดแคลนปริมาณน้ำฝน การลดลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำผิวดินและใต้ผิวดิน รวมทั้งการจัดการที่ดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

รายงานของ World Bank ยังระบุว่า ต้นทุนด้านเศรษฐกิจมหภาคจากปัญหาอุทกภัยจะเพิ่มขึ้น อุทกภัยในรอบ 50 ปี (เช่น กรณีอุทกภัยในปี 2554) โดยในปี 2573 จะส่งผลต่อความสูญเสียด้านการผลิตมากกว่า 10% ของ GDP

 

โดยหากปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นในวงกว้างธุรกิจจำนวนมากจะต้องลดการผลิตลงในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัยและช่วงของการฟื้นฟู ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาอุทกภัยอาจถูกบีบให้ลดการผลิตลงเนื่องจากปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน แต่หากไม่มีการปรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว ความสูญเสียด้านการผลิตอาจกลายเป็น 15% ของ GDP

 

 

5. นโยบายการคลังเพื่ออนาคตที่เท่าเทียม

 

นโยบายการคลังไม่ใช่แค่เครื่องมือเฉพาะกิจยามวิกฤต แต่คือกลไกหลักในการดูแลประชาชนและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจระยะยาว ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับทิศทางการคลังให้ทันกับโจทย์ของอนาคต

 

ปัจจุบันไทยยังใช้จ่ายด้านสังคมในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ขณะที่การจัดเก็บรายได้ภาครัฐยังต่ำกว่าศักยภาพมาก ส่งผลให้รัฐมีพื้นที่ทางการคลังจำกัด ทั้งที่ภาระการใช้จ่ายในอนาคตกลับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ความท้าทายใหญ่ของระบบการคลังไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่:

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องลงทุนทั้งในด้านการลดคาร์บอน (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation)
  • สังคมสูงวัย ที่จะเพิ่มภาระบำนาญและงบด้านสุขภาพในระยะยาว อีกทั้งยังอาจลดศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ
  • ความจำเป็นในการลงทุน ด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภัยพิบัติและภาวะอากาศสุดขั้ว

 

รายงานล่าสุดของธนาคารโลกชี้ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่าย ให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่แม้จะบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็ตาม รายงานยังเน้นว่า ไทยจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ภาครัฐ เพื่อรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่กำลังเพิ่มขึ้น และรักษาวินัยการคลังในระยะยาว

 

หากมีการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง เช่น การขยายฐานภาษี การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การลดสิทธิประโยชน์ที่ไม่จำเป็น และการจัดเก็บภาษีใหม่อย่างภาษีคาร์บอน รายได้ของรัฐอาจเพิ่มขึ้นถึง 3.5% ของ GDP ซึ่งจะเพียงพอต่อการลงทุนที่จำเป็น โดยไม่ทำให้ระดับหนี้สาธารณะพุ่งสูงเกินควบคุม

 

ในขณะเดียวกัน หากมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐควรออกแบบ มาตรการคืนภาษี (VAT Rebate) เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ลดภาระค่าครองชีพ และทำให้ระบบภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น

 

นอกจากนี้นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเห็นได้จากมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคมของประเทศไทยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ได้ช่วยชดเชยการสูญเสียรายได้และบรรเทาปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีมาตรการดังกล่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำอาจแย่ลงมากกว่าที่คาดไว้

 

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายด้านสังคมของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนยากจนน้อยเกินไป 

 

ธนาคารโลกจึงแนะนำให้ไทยเพิ่มรายได้จากภาษี ส่งเสริมการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพื้นที่ทางการคลัง แม้ว่าการจัดเก็บรายได้ภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังคงต่ำกว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่ไปกับการลดความยากจน เช่น การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้ร่วมกัน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ก็ยังควรมีมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การปรับลดแรงจูงใจทางภาษีที่ไม่จำเป็น การขยายการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่ง การปรับปรุงการปฏิบัติตามภาษี และการนำภาษีคาร์บอนมาใช้ เป็นต้น

 

“นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยต้องจัดทัพใหม่ด้านการคลัง เพื่อสร้างอนาคตที่เท่าเทียม ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกด้าน”

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising