×

ตั้งแต่โควิด เศรษฐกิจไทยไม่เคยโตแตะ 3% มานาน 6 ปีแล้ว ล่าสุด GDP ปี 2567 ขยายตัว 2.5%

17.02.2025
  • LOADING...
แผนภูมิแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 เทียบกับประเทศในอาเซียน

นับตั้งแต่หลังโควิด เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถโตเกิน 3% ได้สักที โดย GDP ปี 2567 ขยายตัวได้เพียง 2.5%YoY ต่ำกว่าคาดและต่ำที่สุดในอาเซียน ด้านสภาพัฒน์คาด ปี 2568 โต 2.8% (ค่ากลาง) สะท้อนเป้าหมายของรัฐบาลที่ 3.5% ยังค่อนข้างท้าทาย ด้านนักเศรษฐศาสตร์เป็นห่วงการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว 

 

วันนี้ (18 พฤศจิกายน) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไทย ปี 2567 ขยายตัว 2.5% จากปีก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากปี 2566 ที่ขยายตัว 2.0%

 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมายังต่ำกว่าการคาดการณ์ของสภาพัฒน์เองที่ 2.6% (คาดการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567) และต่ำสุดในประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่มีการเปิดเผยตัวเลข GDP อย่างเป็นทางการ โดยในปี 2567 เวียดนามเป็นประเทศที่มีการขยายตัวสูงสุดที่ 7.1% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 5.6% มาเลเซีย 5.1% อินโดนีเซีย 5% สิงคโปร์ 4% และไทยที่ 2.5%

 

แม้จะมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐท่ามกลางการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม ดนุชาระบุว่าสาเหตุที่ GDP ปี 2567 โตต่ำกว่าคาดเป็นผลมาจาก GDP ไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 3.2% เท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครองสัดส่วนใน GDP สูง ‘ขยายตัวต่ำกว่าคาด’ โดยขยายตัวเพียง 0.2% เท่านั้น รวมไปถึงการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวถึง 2.1%

 

สอดคล้องกับ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคาร CIMB Thai ที่ระบุว่า GDP ไตรมาสที่ 4 ต่ำกว่าประมาณการของ CIMB ที่ให้ไว้ที่ 3.7% โดยมีสาเหตุมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะจากยอดขายรถยนต์ที่ติดลบมาต่อเนื่อง ซึ่งคิดเป็น 4% ของการบริโภคทั้งหมด 

 

ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบ ทั้งการลงทุนภาคการก่อสร้างและการลงทุนเครื่องจักร โดยติดลบติดต่อกันหลายไตรมาส

 

“การลงทุนภาคเอกชนตอนนี้ลงมาค่อนข้างจะลึก เราจึงกังวลว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้มันอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีและอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นได้ โดยหากย้อนกลับไปดูการลงทุนภาคเอกชนเมื่อไตรมาส 3 พบว่าเป็นบวกแบบ QoQ แต่การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 กลับมานิ่งอีกแล้ว (Flat) เหมือนฟื้นแล้วฟุบ ซึ่งอาจทำให้เรายังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนทั้ง 4 ไตรมาสของปี 2567 พบว่าหดตัวไปแล้ว 3 ใน 4 ดังนี้

 

  • การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัว 4.6%YoY
  • การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 2 ปี 2567 หดตัว 6.8%YoY
  • การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 3 ปี 2567 หดตัว 2.5%YoY
  • การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2567 หดตัว 2.1%YoY

 

 

เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 3% มา 6 ปีติด

 

เมื่อย้อนดูการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี (GDP Full Year Growth) พบว่า ตั้งแต่เจอโควิดเมื่อปี 2562 เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถกลับไปโตเกิน 3% ได้สักที หรือโตต่ำกว่า 3% เป็นปีที่ 6 แล้ว สะท้อนว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยกำลังลดลง และการเติบโตที่ไม่เกิน 3% อาจเป็น New Normal ของเศรษฐกิจไทยแล้ว ดังนี้

 

  • ปี 2561: 4.2%
  • ปี 2562: 2.1% *(เกิดโควิด)
  • ปี 2563: -6.2%
  • ปี 2564: +1.5%
  • ปี 2565: +2.5%
  • ปี 2566: +2%
  • ปี 2567: +2.5%

 

สอดคล้องกับการศึกษาของธนาคารโลก (World Bank) ที่คาดว่าอัตราการเติบโตตามศักยภาพของไทยจะลดลงจากค่าเฉลี่ย 3.2% ในช่วงปี 2554-2564 เหลือ 2.7% ในช่วงปี 2565-2573 ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศรายได้สูง

 

“การปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเป็นสิ่ง ‘จำเป็น’ เพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาว” ธนาคารโลกกล่าว

 

เปิดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% (โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.8%) โดยประมาณการดังกล่าวได้คำนวณผลที่คาดว่าจะมาจากโครงการแจกเงินหมื่นระยะที่ 2 และ 3 รวมไปถึงความเสี่ยงที่การค้าโลกจะผันผวน เนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ เข้าไปแล้ว

 

โดยข้อจำกัดและความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีดังนี้

 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก

 

ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค การปรับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ และความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

 

  1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง 

 

ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนแม้จะลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อครัวเรือนและสินเชื่อภาคธุรกิจ SMEs ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการให้สินเชื่อ

 

  1. ความเสี่ยงจากความผันผวนในการเกษตร ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ

 

ผลผลิตเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น จะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง

 

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนปี 2568 มีดังนี้

 

  1. การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2568

 

  1. การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนและการขยายตัวต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน

 

  1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวไทย

 

  1. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า ตามแรงส่งของการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่อยู่ในเกณฑ์สูงนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2567

 

ดนุชากล่าวอีกว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันใน GDP ไทยขยายตัว 3-3.5% ในปี 2567 นับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น ทั้งการดึงดูดการลงทุน การใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคต่างๆ การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจริงโดยเฉพาะในฝั่งของเอกชน และการกระจายเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐ เป็นต้น

 

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่ำ มีน้ำหนักต่อ กนง. หรือไม่?

 

สำหรับน้ำหนักของตัวเลข GDP นี้ต่อการตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดร.อมรเทพ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงก่อนที่ GDP จะออกเราก็มองว่ามีความเป็นไปได้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยในรอบวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้อยู่แล้วท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้าย

 

“โดยตอนนี้เราก็เริ่มมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นแล้วว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ไม่ทั่วถึงจะไถลลงหนักขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการเปิดประตูสำหรับการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อทำให้การฟื้นตัวเกิดความสมดุลมากขึ้นท่ามกลางเงินเฟ้อที่ต่ำและสภาพคล่องในตลาดที่ตึงตัว” 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.อมรเทพ ยังตั้งข้อสังเกตว่า ในมุมของแบงก์ชาติอาจมองว่าสงครามการค้ายังมีทิศทางไม่ชัดเจน จึงอาจจะอยากจะเก็บกระสุนเอาไว้ก่อน

 

กระนั้น ดร.อมรเทพ ก็กล่าวอีกว่า กนง. อาจต้องส่งสัญญาณว่าจะใช้กระสุนบ้าง ไม่เช่นนั้นคนอาจกังวลว่าเศรษฐกิจจะถลำลงลึกไปมากกว่านี้

ภาพ: antoniodibacco / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising