ไม่ต้องรอให้คนชาติไหนมาคอนเฟิร์มก็รู้ว่า ‘เมืองไทยมีดี’ โดยเฉพาะ ‘งานคราฟต์’ พูดได้เต็มปากว่าไทยคือหนึ่งในตองอูของอาเซียน ศิลปหัตถกรรมไทยชาติไหนเห็นก็ยกนิ้วให้ งานแฟชั่นดีไซน์ก็ไม่น้อยหน้า พาดีไซเนอร์ไทยไปสร้างชื่อบนเวทีโลกมานักต่อนัก
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยกำลังติดปัญหา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics เผยว่า ปี 2565 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจสูงถึง 4.17 แสนล้านบาท และเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) มีการจ้างงานที่สูงถึง 4 แสนตำแหน่ง หรือ 10% ของแรงงานในภาคการผลิต
ทว่าปัจจุบันไทยกำลังถูกลดบทบาทเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2566 ปรับตัวลง 5.9% เหลือเพียง 3.92 แสนล้านบาท แม้ว่าปี 2567 การหดตัวจะลดลงเพียงแค่ 1.42% ที่มูลค่า 3.86 แสนล้านบาท แต่รอยร้าวจากข้อจำกัดของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยที่ยังรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer: OEM) แบรนด์แฟชั่นไฮสตรีท รวมถึงผู้ผลิตที่ยังไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value-Added) ผ่านแบรนด์สินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยน่าเป็นห่วง
พลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยมีตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ถ้าจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยและธุรกิจแฟชั่นให้เดินหน้าต่อไป ต้องพัฒนาทั้งองคาพยพ”
และการเกิดขึ้นของสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย (Federation of Thai Fashion Designers: FTFD) อาจเป็น Game Change พลิกเกมธุรกิจแฟชั่นไทย ปลุกอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยได้จริง
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา THE STANDARD มีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาและเปิดตัว ‘สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย’ (Federation of Thai Fashion Designers: FTFD) ซึ่งจัดขึ้นภายในงาน ‘Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน’ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ โดยมีพระปณิธานว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและจะพัฒนาวงการแฟชั่นไทย
รู้จักสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย
สมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย (Federation of Thai Fashion Designers: FTFD) เกิดขึ้นจากแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงงานที่ต่างประเทศและทรงผลักดันแบรนด์ไทยไปต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน จึงมีพระประสงค์นำเอาความรู้ที่ทรงงานในต่างประเทศมาแบ่งปันดีไซเนอร์คนไทย ขณะเดียวกันก็ทรงเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมีศักยภาพ แต่ยังใช้ศักยภาพไม่เต็มที่บนเวทีสากล จึงควรที่จะผนึกกำลังและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดีไซเนอร์ไทย ที่นอกจากจะนำความรู้มาผลักดันแบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังมีหน้าที่นำความรู้ที่มีไปช่วยต่อยอดให้กับชุมชนต่างๆ ให้หมู่บ้านงานหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์ต่างๆ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยแบบคู่ขนานกัน
พลพัฒน์กล่าวถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของสมาคมฯ ว่า สมาคมฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืนผ่านการให้ความรู้และทักษะ เพื่อยกระดับคุณภาพวงการแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ พร้อมผลักดันให้ตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็ง มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันกับตลาดสากล
“หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับภาครัฐ สื่อมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดและการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ตลอดจนเป็นหน่วยงานกลางในการสร้างเครือข่ายหรือคอมมูนิตี้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทำให้ระบบโครงสร้างของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
พลพัฒน์ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากจะพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นผ่านพันธกิจและบทบาทต่างๆ แล้ว สมาคมฯ จะต้องทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมผ่านการฝึกอบรมและให้ความรู้ทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้ประกอบการที่มีแบรนด์อยู่แล้ว ให้มีทักษะและมีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีจุดแข็งทางการตลาด สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการมีส่วนร่วมถ่ายทอด พัฒนาความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และสาธารณชนในกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ รวมไปถึงบ่มเพาะนิสิตนักศึกษาที่มีภาควิชาเกี่ยวกับแฟชั่นเข้ามามีส่วนร่วมผ่านโครงการประกวดต่างๆ เพื่อให้มีโอกาสสัมผัสกับโลกธุรกิจจริงๆ อาทิ Incubation Center
“แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบ แต่การทำธุรกิจแฟชั่นต้องอาศัยหลายตัวแปรในการต่อยอดแบรนด์อย่างยั่งยืน”
ข้อจำกัดที่ทำให้แบรนด์ไทยไปไม่ถึงดวงดาว
พลพัฒน์มองว่าเมืองไทยมีเพชรเม็ดงามมากมายแต่กระจัดกระจายไปทั่ว
“ที่ผ่านมา Snowball Effect มันไม่เกิดขึ้น เราไม่สามารถทำให้สิ่งเล็กๆ เหล่านั้นสร้างอิมแพ็กต์ขนาดใหญ่ได้ เพราะมันไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน แต่ตอนนี้ต้องทำให้เกิด Synergy Effect โดยสมาคมฯ จะเป็นตัวกลางใน Ecosystem ของวงการแฟชั่นในเมืองไทย อาทิ เตรียมความพร้อมให้แบรนด์ก่อนจะไปเข้าหาโรงงาน ในทางกลับกันก็ต้องคุยกับโรงงานว่าถ้าตลาดต้องการแบบนี้เขามีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรบ้าง จริงๆ แล้วการทำ Business Matching ในวงการแฟชั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่มันไม่ประสบความสำเร็จเพราะต่างคนต่างพูดคนละภาษา แต่วันนี้ทุกคนต้องประนีประนอม เพื่อให้อุตสาหกรรมแฟชั่นก้าวเดินต่อไปด้วยกัน”
พร้อมแค่ไหน? ที่จะผลักดันการออกแบบแฟชั่นไทยสู่สากล
กุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue Thailand พูดในฐานะสื่อมวลชนถึงบทบาทในการผลักดันวงการแฟชั่นไทยไปสู่ระดับสากล แม้ที่ผ่านมาสื่อจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการเป็นกระบอกเสียง เพื่อนำเสนองานฝีมือของคนไทยไปยังสายตาชาวโลก แต่ก็ยังขาดตัวกลางสำคัญที่จะคอยเชื่อมต่อทุกภาคส่วน เชื่อว่าสมาคมฯ จะทำให้การร่วมมือมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวมากขึ้น
“ก่อนหน้านี้เมื่อมีหน่วยงานต่างประเทศติดต่อมา ประเทศไทยยังไม่มีเจ้าภาพหรือตัวกลางที่จะเชื่อมต่อทุกภาคส่วน แต่เชื่อว่าเมื่อมีการก่อตั้งสมาคมฯ จะทำให้ประเทศไทยมีเสาหลัก มีตัวกลางเข้ามาเป็นสื่อกลางในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยไปสู่หนทางที่ดีที่สุดสำหรับดีไซเนอร์ไทย นอกจากนี้การมี Incubation Center ก็เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาแทนที่จะลองผิดลองถูกเอง เพราะธุรกิจแฟชั่นไม่ใช่ธุรกิจที่ง่าย ต้องมีคนคอยแนะนำและจูงมือไปตลอดทาง”
ในมุมของ โสภาวดี เพชรชาติ Marketing Director Club 21 Thailand Co., Ltd. มองว่า แบรนด์ไทยมีความโดดเด่นไม่แพ้แบรนด์ไหนในโลก แต่ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้แบรนด์อยู่รอด เพราะคุณภาพดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องสามารถขายได้ด้วย
“การมีสมาคมฯ ที่มีตัวแทนผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีประสบการณ์ในการทำการตลาดจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ได้อย่างดี ที่ผ่านมา Club 21 เป็นเหมือนสะพานที่เชื่อมแบรนด์ไปหาลูกค้าเข้าด้วยกัน Club 21 ก็เริ่มมีการทำงานร่วมกับแบรนด์ไทย โดยจะคัดเลือกแบรนด์ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ คือ เรื่องราว (Story), การสร้างแบรนด์ (Branding) และคุณภาพที่ดี เพราะส่วนตัวเชื่อว่าแบรนด์ไทยไม่แพ้ใคร แต่จะทำอย่างไรเพื่อทำให้ผ้าไทยเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ใส่ได้และชาวต่างชาติก็ชื่นชอบ สามารถทำให้เป็นเหมือนผลงานศิลปะบนตัวผู้สวมใส่”
ฐากูร พานิชกุล ดีไซเนอร์ไทยผู้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สมาชิกของ Council of Fashion Designers of America หรือ CFDA เจ้าของรางวัลจาก CFDA/Vogue Fashion Fund และได้รับการเสนอชื่อจาก CFDA ให้เข้าชิงรางวัล Swarovski Award for Best Emerging Womenswear Designer ในปี 2006 แบ่งปันประสบการณ์ในฐานะแบรนด์ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CFDA ตั้งแต่ตอนก่อตั้งแบรนด์ THAKOON ในปี 2005 การเป็นสมาชิก CFDA ช่วยต่อยอดการเติบโตของแบรนด์อย่างมาก โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งในกลุ่มดีไซเนอร์ ผู้ผลิต การทำการตลาด และการทำสื่อ ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการก่อตั้งสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย โดยเฉพาะ Incubation Center หรือศูนย์บ่มเพาะดีไซเนอร์ จะช่วยต่อยอดให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่มีเวทีในการแสดงออกและเปิดประสบการณ์
“ผมว่าผลงานของดีไซเนอร์วันนี้ต่างจากในอดีต มีการออกแบบที่ทันสมัยขึ้นทั้งแพทเทิร์นและลวดลาย มีการนำแฟชั่นแบบสตรีทเข้ามาผสมผสาน การจับคู่วัสดุหรือเนื้อผ้าที่ใช้ รวมถึงการเลือกใช้สีสัน ที่ช่วยยกระดับผ้าไทยที่มีความโดดเด่นในเรื่องงานฝีมือให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่สามารถต่อยอดและพัฒนางานฝีมือต่อไป”
ตีโจทย์การทำงานใหม่
พลพัฒน์ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจคือ ที่ผ่านมาจุดแข็งที่คนไทยเห็นเป็นสิ่งที่เรากำลังพูดเองเออเองกันอยู่หรือเปล่า?
“เราไม่รู้หรอกว่าโลกต้องการสิ่งนี้จากเราหรือไม่ นี่อาจเป็นจุดบอดที่เรามองไม่เห็น ทำไมเราไม่ศึกษาและวิจัยก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ต่างชาติมองเห็นและพร้อมที่จะควักเงินจ่าย สิ่งที่สมาคมฯ จะทำต่อจากนี้คือตีโจทย์ใหม่การทำงานใหม่ หาให้เจอก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรจะผลักดันจริงๆ อาจจะเชิญสื่อธุรกิจทางแฟชั่นมาวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศไทย เพื่อปั้นแบรนด์ไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม”
รวมไปถึงการจับมือกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อพาแบรนด์ไทยไปสู่สายตาชาวโลก พลพัฒน์บอกว่านอกจากจะทำงานร่วมกับครีเอทีฟ เอเจนซี หรือ TCDC จะข้ามไปยังอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรี
“สิ่งที่จะนำพาเสื้อผ้าของคนไทยไปสู่ตลาดสากลและเกิดอิมแพ็กต์ที่สุดอาจไม่ใช่การเข้าไปตั้งขายในห้างเสมอไป แต่เปลี่ยนไปพรีเซนต์บนตัวศิลปิน ดารา หรือไอดอล จะเห็นว่าตอนนี้แบรนด์ระดับโลกเลือกคนไทยไปเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เยอะมาก ทำไมเราไม่ใช้ศักยภาพของสิ่งที่เรามีมาช่วยขับเคลื่อนแบรนด์ไทย”
ใครมีสิทธิ์เป็นสมาชิกสมาคมฯ เป็นแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย พลพัฒน์ บอกว่า “ผู้จะมีสิทธิ์ในการสมัครสมาชิกจะต้องมีการออกแบบและผลิตสินค้าหรือมีการผลิตสินค้าภายใต้การควบคุมของแบรนด์ตนเองและจัดจำหน่าย มีคุณภาพของผลงานที่อยู่ระดับสากล ภายในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง มีการออกคอลเลกชั่นต่อเนื่อง มีผลงานไม่ต่ำกว่า 5 คอลเลกชั่น และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ต้องเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือ มีการจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง”
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกฯ นอกจากจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของแบรนด์ให้แข่งขันกับตลาดได้ ยังได้มีองค์ความรู้มากมายที่สอดคล้องไปกับทำธุรกิจแฟชั่น เหนือสิ่งอื่นใดพลพัฒน์ มองว่า “การจับมือไปกันเป็นกลุ่มมันก็ดีกว่าอยู่แล้วในเชิงของการเจรจาต่อรอง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งเรื่องความรู้และด้านธุรกิจ ท้ายที่สุดมันก่อให้เกิดผลดีกับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยและเศรษฐกิจไทยอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน”