×

ส่งออกไทยติดลบ 9 เดือนติด! หดตัว 6.4% ในเดือนมิถุนายน ด้านพาณิชย์-สรท. มองเดือนกรกฎาคมมีโอกาสพลิกบวกได้

26.07.2023
  • LOADING...

วันนี้ (26 กรกฎาคม) กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 24,826.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 848,927 ล้านบาท) ติดลบ 6.4% นับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ทำให้การส่งออกของไทยครึ่งแรกของปี 2566 หดตัว 5.4% และทำให้ดุลการค้าตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายนติดลบหรือขาดดุล 6,307.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยยังติดลบในเดือนที่ผ่านมา กีรติระบุว่า มาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังคงซบเซาจากแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้การผลิตและการบริโภคยังคงตึงตัว

 

โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดจีนก็ค่อนข้างช้ากว่าที่คาด นอกจากนี้คู่ค้าส่วนใหญ่ชะลอการสั่งซื้อสินค้าจากผลกระทบของการหดตัวทางด้านอุปสงค์ มีการเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่งผลให้คำสั่งซื้อและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงมีปัจจัยบวกจากค่าเงินบาทอ่อนค่า ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระยะนี้ และกระแสความมั่นคงทางอาหารทำให้สินค้าบางรายการยังขยายตัวดี ได้แก่ ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง, ผักกระป๋องและผักแปรรูป, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, ไข่ไก่, ซาร์ดีนกระป๋อง และน้ำตาลทราย เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลวันนี้ (26 กรกฎาคม) แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ต้นปี (YTD) เงินบาทอ่อนค่า 0.47% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 

 

นอกจากนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ยังระบุอีกว่า แม้ส่งออกของไทยจะติดลบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังติดลบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน เป็นต้น 

 

พาณิชย์มองแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป

 

กระทรวงพาณิชย์ยังประเมินว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าจะยังมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ จากการบริโภคและการลงทุนที่ยังอ่อนแอ เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางจากอุปสงค์ภายในและตลาดแรงงานที่อ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดเยอรมนี ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ที่มีระดับค่าครองชีพสูง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

 

ขณะที่การถอนตัวจากข้อตกลง Black Sea Grain Initiative ของรัสเซีย และปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ สร้างความกังวลต่อการตึงตัวของอุปทานอาหารโลก ซึ่งอาจกระทบต่อเงินเฟ้อและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า

 

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนการส่งออกจากการเร่งเปิดตลาดศักยภาพ เพื่อกระจาย
ความเสี่ยงและลดผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา และแอฟริกา

 

นอกจากนี้เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลต่อการขาดแคลนอาหารทั่วโลกอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านราคาเป็นสำคัญ

 

ลุ้นเดือนหน้าส่งออกไทยพลิกบวก

 

ขณะที่ ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สทร.) กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่ 24,826 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นไปตามที่คาดไว้ แม้ว่าจะติดลบ แต่ก็สูงกว่าเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยหากยังสามารถรักษาระดับ 24,000 ล้านดอลลาร์ได้ต่อไป เดือนกรกฎาคมน่าจะเป็นเดือนแรกของปีนี้ที่จะเห็นตัวเลขกลับมาพลิกบวกได้ แต่น่าจะเป็นบวกอ่อนๆ เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ราว 23,600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

 

นอกจากนี้หากในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปีนี้ส่งออกได้เฉลี่ย 24,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนได้ต่อไป การส่งออกทั้งปีก็จะเท่ากับปีที่แล้วคือไม่ขยายตัว หรืออาจพลิกเป็นบวกได้ ทำให้ สทร. คงเป้าส่งออกทั้งปี 2566 ไว้ที่ติดลบ 0.5% ถึงขยายตัว 1%

 

สอดคล้องกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ยังมองว่า การส่งออกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปมีโอกาสเห็นตัวเลขพลิกกลับมาเป็นบวกได้ เนื่องจากปัจจัยด้านฐานสูงในปีก่อนเริ่มจางหายไป นอกจากนี้ความต้องการสินค้าไทยยังคาดว่าจะปรับตัวขึ้นด้วย ท่ามกลางมาตรการเร่งผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่แข่งขันได้

 

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการส่งออกครึ่งปีแรกมียอดเฉลี่ยต่อเดือน 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะหากเทียบช่วงเกิดโควิด ขณะนั้นยอดเฉลี่ย 20,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าแนวโน้มส่งออกครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 24,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ก็จะทำให้ส่งออกได้ตามเป้าหมายที่ 1-2%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X