แม้ว่าเศรษฐกิจโลกท้าทายจากหลายปัจจัย เศรษฐกิจภายในของไทยชะลอ แต่การส่งออกของไทยปีนี้ก็ถือว่ายังฟอร์มดี! โดย สนค. เผยล่าสุด เดือนกันยายนโตอีก 1.1% บวกต่อเนื่อง 3 เดือนติด เพราะสินค้าเกษตรโต และตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ รวมทั้งสหภาพยุโรป อุปสงค์ฟื้นตัว บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ส่งผลให้ปีนี้ไทยมีแนวโน้มโตทะลุเป้าที่ 2% อาจทุบนิวไฮ
วันที่ 28 ตุลาคม พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 25,983.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.1% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยเติบโตในทุกหมวดสินค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว…
- ส่งออกไทยขยายตัว 7% ในเดือนสิงหาคม คาดบาทแข็งเริ่มเห็นผลกระทบช่วงปลายปีนี้
- ไขคำตอบ ทำไมเสน่ห์และความสามารถในการแข่งขันไทยค่อยๆ เลือนหาย…
- ราคาข้าวไทยพุ่ง All Time High เสี่ยงฉุดไทยพ่ายเวียดนาม
อีกทั้งสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องตามวัฏจักร ประกอบกับสินค้ามีคุณภาพและราคาที่แข่งขันได้ ขณะที่เศรษฐกิจในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่คลี่คลาย จึงส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น
“การปรับตัวลดลงของค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าสำคัญยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ที่สำคัญการเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกไทยอีกด้วย” พูนพงษ์กล่าว
พูนพงษ์ระบุอีกว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2567 ขยายตัว 3.9% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย อีกทั้งยังขยายตัว 4.2 % เมื่อการนำเข้ามีมูลค่า 229,132.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขยายตัว 5.5% ขณะที่ดุลการค้า 9 เดือนแรกขาดดุล 5,956.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หากดูมูลค่าภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกมีมูลค่า 7,957,895 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 8,264,589 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 10.2% และดุลการค้า 9 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 306,694 ล้านบาท
“ต้องบอกว่าการส่งออกเดือนกันยายนขยายตัวจากสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัว 3.5%” พูนพงษ์กล่าว
โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ทั้งยางพารา, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง, ไก่แปรรูป รวมถึงไขมันและน้ำมันจากพืชหรือสัตว์
ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด, ผลไม้แช่เย็น, ผลไม้แช่แข็ง, ผลไม้อบแห้ง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, น้ำตาลทราย, ไก่สด, ไก่แช่เย็น, ไก่แช่แข็ง, ผักกระป๋อง และผักแปรรูป
ทั้งนี้ 9 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรวมโต 5.4%
ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 2.0% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งอุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์ รวมถึงเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังขยายตัว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร ที่อุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง
พูนพงษ์ระบุอีกว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 3 เดือน คือ ตุลาคม-ธันวาคมนี้ คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องแม้เผชิญกับความท้าทายหลายปัจจัย ทั้งการเลือกตั้งในสหรัฐฯ, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, การแข็งค่าของเงินบาท, ปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และการเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจกระทบการส่งออกข้าวไทย
“แต่หาก 3 เดือนสุดท้ายสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 22,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะทำได้ 2% และมูลค่าทั้งปีจะอยู่ที่ 290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิตินิวไฮมูลค่าการส่งออกอีกครั้ง หลังจากเคยทำไว้แล้วเมื่อปี 2566 อยู่ที่ 287,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” พูนพงษ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังต้องประเมินเป้าหมายการส่งออกปี 2567 อีกครั้งโดยอยู่ระหว่างการนัดหมายหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินแนวโน้มและสถานการณ์ต่างๆ
ด้าน ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า “ช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการรับออร์เดอร์ ผลิต และส่งมอบ หากตัวเลขการส่งออกทำได้เฉลี่ยเท่ากับปีที่แล้ว การส่งออกปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 2% แน่นอน และตัวเลขการส่งออกก็จะทำนิวไฮ โดยจะนิวไฮทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ภายใต้สมมติฐานเงินบาทที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็จะทำตัวเลขทั้งปีอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท”
ส่วนปัญหาการส่งออกชัยชาญมองว่า ค่าเงินบาทที่อยู่ที่ 33.5-33.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐยังบริหารจัดการได้ และถ้าหากอยู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือเกิน 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการส่งออก อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ไปจนถึงปีหน้า (2568) ต้องเฝ้าติดตามผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพ: Narumon Bowonkitwanchai / Getty Images