ส่งออกไทย เดือนตุลาคม ขยายตัว 14.6% สูงสุดรอบ 3 เดือน ส่วนมูลค่าอยู่ที่ 2.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 19 เดือน เหตุวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฟื้น-การผลิตทั่วโลกดีขึ้น ลุ้นทั้งปีโต 4%
วันนี้ (6 พฤศจิกายน) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเผยว่า การส่งออกในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 27,222.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 896,735 ล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 19 เดือน ขยายตัว 14.6% และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
ปัจจัยบวกสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงถึง 77.5% มูลค่า 2,179.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 44.9% มูลค่า 500.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 43.0% มูลค่า 1,032.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 27.2% มูลค่า 1,325.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“หลายประเทศยังเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” พูนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยขยายตัวของความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก รวมถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในคู่ค้าหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 250,149.2 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8,854,630 ล้านบาท) ซึ่งขยายตัว 4.9%
ด้านภาพรวมการนำเข้าไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่า 257,149.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,199,289 ล้านบาท) และสำหรับเดือนตุลาคมการนำเข้ามีมูลค่า 28,016.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 934,700 ล้านบาท) ขยายตัว 15.9%
สำหรับดุลการค้าเดือนตุลาคมประเทศไทยขาดดุล 794.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 37,965 ล้านบาท)โดยภาพรวมการค้าไทย 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 344,659 ล้านบาท)
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
แนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (Working Target) ตามที่ได้ตั้งไว้ที่ราว 2%
โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ
อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ ฯลฯ
รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
ลุ้นส่งออกทั้งปีโต 4%
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เผยว่า จากความสามารถในการส่งออกไทยในเดือนนี้ชี้ให้เห็นว่า หากสามารถทำยอดส่งออกใน 2 เดือนที่เหลือให้ได้ราว 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปก็จะสามารถทำให้ไทยส่งออกทั้งปีโต 4% ได้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดการส่งออก โดยเฉพาะหากค่าเงินบาทสามารถคงระดับอยู่ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐได้ไปจนถึงสิ้นปี จะเป็นผลหนุนให้การส่งออกไทยโต 4% ได้ และค่าระวางเรือที่อยู่ในปัจจุบันก็อยู่ในระดับปกติ ซึ่งหนุนให้เร่งส่งออกได้
พูนพงษ์เผย ‘ไม่กังวล’ นโยบายทรัมป์
พูนพงษ์กล่าวถึงนโยบายการขึ้นภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุว่า ไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะคาดว่าจะใช้นโยบายภาษีนี้กับทุกประเทศไม่ได้เพียงแค่ประเทศไทย พร้อมทั้งคาดว่า มาตรการที่ใช้กับไทยจะแตกต่างกับประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลเยอะๆ เช่น เม็กซิโกและจีน จึงยังต้องจัดตามมาตรการดังกล่าวต่อไป
พร้อมทั้งเปิดเผยว่า รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เตรียมเดินทางไปเจรจานโยบายกับผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯ ในปีหน้า
ทั้งนี้ การส่งออกที่ไทยไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่อันดับ 14 โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.8% ขณะที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยเป็นอันดับที่ 12 โดยไทยเกินดุลประมาณ 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ: Romanchini / Shutterstock