จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 23,036 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากตัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกของไทยในเดือนดังกล่าวขยายตัวได้ 14.8%
โดยเหตุผลสำคัญของการขยายตัวดังกล่าว เกิดจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เติบโตดีและการอ่อนค่าของเงินบาทช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันสินค้าไทย
ทั้งนี้ การส่งออกไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวได้ 15.5% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ํามัน ทองคํา และยุทธปัจจัย ขยายตัว 20.4% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)
จุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกยังมีทิศทางที่ดีตลอดทั้งปี ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องจนถึงไตรมาสที่ 4 บ่งชี้จากองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ออกแถลงปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปี 2564 จากเดิมเติบโต 8% เป็นเติบโต 10.8%
นอกจากนี้ สถาบัน IHS Markit ได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) เดือนกันยายน 2564 ที่ยังอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 และดัชนีย่อยคําสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (New Export Order) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเช่นกันเป็นเดือนที่ 13 สะท้อนมุมมองบวกของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ขยายตัวดีในเดือนกันยายน ได้แก่
- สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะข้าว ผลิตภัณฑ์มันสําปะหลัง ยางพารา น้ํามันปาล์ม น้ําตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทํางานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์
- สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์
- สินค้าขั้นกลางหรือสินค้าวัตถุดิบ เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ
- สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคํา) ยังขยายตัวได้ดี
ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังตลาดส่งออกสําคัญส่วนใหญ่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากประเทศคู่ค้า สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาทั่วโลกที่คลี่คลายลง และการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น
ในภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวได้ 18.1% แยกเป็นการเติบโตในตลาดสหรัฐฯ 20.2% จีน 23.3% ญี่ปุ่น 13.2% อาเซียน 25.7% CLMV 8.2% และสหภาพยุโรป 12.6% ขณะที่ตลาดรองมีการขยายตัว 21.8% แยกเป็นการเติบโตในตลาดเอเชียใต้ 69% ทวีปออสเตรเลีย 3% ตะวันออกกลาง 17.4% ทวีปแอฟริกา 30.2% ลาตินอเมริกา 10.1% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS 42.5%
จุรินทร์กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออก อาทิ การนําสินค้าไทยไปขายบนแพลตฟอร์มของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สุขภาพ ความงาม และไลฟ์สไตล์ การเร่งรัดการส่งออกข้าวไปยังตลาดแอฟริกาใต้ จีน เยเมน และอิรัก พร้อมแผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดอินโดนีเซีย บังกลาเทศ และจีน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP