ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 20,219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,211.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.99% ทำให้ในเดือนนี้มีดุลการค้าเกินดุล 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกไทยมูลค่า 39,925.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังหดตัว 1.16% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 40,120.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.77% ส่งผลให้มียอดขาดดุลการค้ารวม 195.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าการส่งออกไทยจะยังขยายตัวติดลบ แต่มีทิศทางฟื้นตัวขึ้นจากช่วงก่อนหน้า จากการที่ทิศทางการค้าโลกปรับตัวดีขึ้น และกำลังฟื้นตัวจากหลายประเทศที่สามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองเร็วขึ้น
“องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 5.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% มีปัจจัยสำคัญจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในสหรัฐฯ และส่งต่อไปยังเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กลับมาแตะเหนือระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย หดตัว 35.5% ซึ่งถือเป็นการหดตัว 11 เดือนต่อเนื่อง ส่วนอาหารทะเลแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และอาหารแปรรูป หดตัว 10.9% โดยหดตัวต่อเนื่องมาแล้ว 7 เดือน ฯลฯ
ทั้งนี้ พบว่าหน่วยงานภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ และสินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น รถยนต์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า สถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่
- สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะยางพารา, ผักและผลไม้, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร
- สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน, เตาอบไมโครเวฟ, เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน, ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง, เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
- สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังคงมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และจีน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ตลาด CLMV หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงตลาดอาเซียนที่ประเทศส่วนใหญ่ยังมีอัตราการแพร่ระบาดสูง เป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้า
ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป เอเชียใต้ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีหลังพลิกกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ทำให้ภาพรวมการส่งออกในรายตลาดยังคงสดใส
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม