×

กูรูชี้อย่าเพิ่งรีบดีใจ ‘ส่งออก’ ไทยโตแรง เหตุหลายประเทศขยายตัวได้มากกว่า ห่วงครึ่งปีหลังสะดุดจากปัญหาโควิด แนะเร่งทำ Bubble and Seal

23.07.2021
  • LOADING...
Thai Export

ช่วงเช้าที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกไทยประจำเดือนมิถุนายน 2564 โดยพบว่าการส่งออกสามารถเติบโตได้ถึง 43.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกก็สามารถเติบโตได้ถึง 15% ทำให้หลายฝ่ายมองว่าภาคส่งออกจะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวที่ช่วยพยุงให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้อยู่ 

 

แต่อนาคตการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีจะยังสดใสอยู่หรือไม่ และมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ภาคการส่งออกจะต้องเผชิญ THE STANDARD WEALTH ได้ชวนนักเศรษฐศาสตร์จากสองสำนักดังมาร่วมวิเคราะห์ให้ฟัง

 

โดย นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ประเมินว่า แม้ตัวเลขการส่งออกของเดือนล่าสุดจะถือเป็นข่าวดีของเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อมองลึกลงไปจะเห็นว่าการเติบโตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเป็นช่วงที่ฐานต่ำหมดไปแล้ว ตัวเลขการส่งออกไทยจะเติบโตในอัตราที่ช้าลง

 

ขณะเดียวกัน มองว่าการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงสำคัญที่รออยู่ คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตจนทำให้การส่งออกไทยสะดุดได้

 

“ตอนนี้เราจะเริ่มเห็นข่าวว่ามีโรงงานบางแห่งที่ต้องปิดไป หรือต้องหยุดสายการผลิตลงชั่วคราวเพราะมีการพบผู้ติดเชื้อ เรื่องนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงมากๆ และเราต้องเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้น เนื่องจากการส่งออกในเวลานี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 56% ของจีดีพี หากมีการสะดุดหรือต้องชะงักไปก็ย่อมส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด” นริศระบุ

 

นริศกล่าวว่า ข้อมูลของ ttb Analytics พบว่า จากจำนวนโรงงานในประเทศไทยทั้งหมด 51,000 โรงงาน มีอยู่ 36,000 โรงงานหรือเกือบ 70% ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงสีแดงเข้ม ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีอัตราการจ้างงานรวมกันอยู่ราว 1.7 ล้านคน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวหากพบการระบาด

 

“ข้อเสนอแนะของเราในตอนนี้คือ นิคมอุตสาหกรรมและโรงงานต่างๆ ควรจะเร่งทำ Bubble and Seal เพื่อลดความเสี่ยงโดยเร็ว พร้อมๆ กับเร่งใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากสายการผลิต ขณะเดียวกันภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรม โดยเรายังเชื่อว่าหากภาคการผลิตได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ภาพรวมการส่งออกไทยในปีนี้จะยังขยายตัวได้ 9.6%” นริศกล่าว

 

ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขการส่งออกไทยเติบโตได้ดีในปีนี้เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าและฐานการเติบโตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา

 

“ผมมองว่าตัวเลขส่งออกล่าสุดแม้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่ใช่เรื่องที่เราควรรีบภูมิใจ เพราะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเห็นว่าเรายังทำได้ไม่ดีเท่าเขา โดยทั้งปีนี้ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 15.5% ขณะที่ประเทศในเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่งออกเขาน่าจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 20%” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพเชื่อว่า ในช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกไทยจะขยายตัวในระดับที่ลดลงจากฐานในปีก่อนที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่เริ่มรุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรปไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่ออุปสงค์ต่อสินค้าไทย เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับที่สูงแล้ว

 

“สิ่งที่เรามองว่าน่ากังวลมากกว่าคือการระบาดในประเทศไทยเองที่ยังรุนแรง และอาจลุกลามไปสู่กลุ่มโรงงานหากควบคุมไม่ดี ทำให้โรงงานอาจต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ลดกำลังการผลิตหรือลดจำนวนชั่วโมงทำงานของแรงงานลง ซึ่งจะทำให้เราผลิตสินค้าเพื่อส่งออกได้ลดลง แม้ว่าตอนนี้เรายังประเมินว่าการระบาดในประเทศจะกระทบกับภาคบริการและท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ภาคอุตสาหกรรมเองก็มีความเสี่ยงเช่นกัน” อมรเทพกล่าว

 

อมรเทพกล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งทำในเวลานี้เพื่อรักษาโมเมนตัมของการส่งออกไทยไม่ให้สะดุดคือ เร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับแรงงานในโรงงาน พร้อมกับทำ Bubble and Seal แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงก็ตาม

 

“เรื่อง Bubble and Seal เราเชื่อว่าโรงงานขนาดใหญ่ เช่น ในกลุ่มยานยนต์ พร้อมจะทำเพื่อดูแลกำลังการผลิตของเขาอยู่แล้ว แต่กลุ่มที่เราเป็นห่วงว่าอาจจะทำได้ไม่เต็มที่คือ กลุ่มโรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารแปรรูป สิ่งทอ” อมรเทพกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising