การส่งออกไทยเดือนมิถุนายน 2564 ทำนิวไฮอีกรอบ โดยเติบโตได้ถึง 43.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวแล้ว 15.53% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมกว่า 4 ล้านล้านบาท
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาการส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 23,699 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.82%YoY ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี และหากตัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกของไทยในเดือนดังกล่าวขยายตัวได้ 41.56%
รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ตลาดของการส่งออกไทยในเดือนที่ผ่านมา ทั้งในกลุ่มตลาดหลัก ประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และ CLMV รวมถึงกลุ่มตลาดรอง ได้แก่ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา รัสเซีย และออสเตรเลีย มีการเติบโตดีขึ้นทั้งหมด โดยตลาดหลักขยายตัวถึง 41.2% ส่วนตลาดรองขยายตัวได้ 49.5%
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกในเดือนที่ผ่านมา ประกอบด้วย ผลไม้ ขยายตัวได้ 185.1% อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัวได้ 90.48% รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายตัวได้ 78.5% เครื่องจักรกล ขยายตัวได้ 73.13% และเคมีภัณฑ์ ขยายตัวได้ 59.82% สำหรับผลไม้ที่ขยายตัวสูงคือ ทุเรียน ที่ขยายตัวถึง 172% และมังคุด ที่ขยายตัว 488.26%
“หากดูแยกตามหมวดสินค้า พบว่ากลุ่มสินค้าเกษตรมีการขยายตัวที่ 59.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึง 71,473.5 ล้านบาท” จุรินทร์กล่าว
สำหรับแผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเดินหน้าต่อในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อส่งเสริมการส่งออกไทย กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีที่เหลือได้เตรียมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกเอาไว้ถึง 130 กิจกรรม
นอกจากนี้ จะเร่งรัดเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะตลาดประเทศซาอุดีอาระเบียที่ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกไก่สดแช่แข็งสูง ขณะที่ตลาดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจะเน้นสินค้าประเภทอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารกระป๋อง และชิ้นส่วนยานยนต์
ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีนสู่ภาคการผลิตเพื่อป้องกันไม่ให้สายการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต้องสะดุดจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
“ในเดือนกรกฎาคมนี้เราเริ่มพบปัญหาในภาคการผลิต จากการที่บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวมแทนที่จะปิดเฉพาะโซนที่มีปัญหา หรือถ้ามีการปิดทั้งโรงงาน ส่วนไหนที่แก้ไขปัญหาจบแล้วก็ควรจะเปิดให้ดำเนินการผลิตต่อไป เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตหยุดชะงักและกระทบกับการส่งออก ซึ่งผมจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป” จุรินทร์กล่าว
จุรินทร์กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งประเด็นที่พาณิชย์อยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือภาคเอกชน คือกรณีที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้นในช่วงที่กำลังทำตัวเลขส่งออก ซึ่งเรื่องนี้ได้ประสานไปยังกระทรวงแรงงานให้ช่วยเร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานที่หมดอายุ ด้วยการตั้งศูนย์ One Stop Service แล้ว