×

วงการบันเทิงไทยกับโควิด-19 ผลกระทบ ความตื่นตัว และการตั้งคำถามต่อการควบคุมไวรัส

17.03.2020
  • LOADING...

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยของเราจะยังไม่ได้ข้ามไปสู่ระดับ 3 ตามที่รัฐบาลไทยได้บอกไว้ แต่ดูเหมือนว่าเจ้าไวรัสตัวนี้จะค่อยๆ ไต่ระดับในการสร้างความโกลาหลให้กับวงการบันเทิงไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพียงเพราะแค่มีเคสของ แมทธิว ดีน และภรรยา ลิเดีย ศรัณย์รัชต์ ที่ตรวจพบเชื้อในร่างกาย แต่เรายังหมายถึงภูมิทัศน์รวมๆ ของวงการบันเทิงที่ค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งการปิดสถานบันเทิง การเลื่อนฉายภาพยนตร์ และล่าสุดโรงภาพยนตร์บางแห่งก็ได้ปิดโรงภาพยนตร์ชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลกระทบโดยตรงจากการเฝ้าระวังโรค ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียเกิดขึ้น และมีหลายๆ ปัจจัยที่น่าสนใจที่ทำให้เรื่องโควิด-19 เป็นเรื่องของทุกคนอย่างชัดเจน สร้างความตื่นรู้ให้สังคมในวงกว้างได้เช่นกัน

 

Photo: Instagram @lydiasarunrat

 

แมทธิว-ลิเดีย เคสแรกของโควิด-19

การตรวจพบเชื้อโควิด-19 ของแมทธิวและลิเดีย นับเป็นเคสแรกของวงการบันเทิงไทยที่มีการพบว่าติดเชื้อดังกล่าว โดยในทีแรกแมทธิวได้ออกมาประกาศผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวของเขาเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากไปร่วมงานที่เวทีมวยในศึกสำคัญที่มีผู้ชมจำนวนมากในสนาม กลายเป็นข่าวที่ทุกคนจับตามอง โดยในกรณีนี้ สังคมได้รับรู้ว่าโควิด-19 สามารถแพร่ติดต่อกันได้อย่างรุนแรงแล้ว และไม่ใช่เพียงแค่แมทธิวเพียงคนเดียว เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็พบว่ามีผู้ร่วมชมมวยในวันนั้นตรวจพบเชื้ออีกหลายคน

 

การที่แมทธิวออกมาแถลงการณ์ด้วยตัวเองว่าพบเชื้อโควิด-19 ดูเหมือนจะเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมที่เขาพึงกระทำ และสร้างการรับรู้ให้กับคนใกล้ชิดได้สำรวจสุขภาพ และระมัดระวังตัวให้มากขึ้น ที่ THE STANDARD POP เคยนำเสนอไปแล้วเกี่ยวกับระยะเวลา 14 วัน แมทธิว ดีน ทำกิจกรรมที่ไหน เจอเพื่อนร่วมวงการคนใดบ้าง โดยเฉพาะภรรยาของเขา ลิเดีย ที่หลังจากเคสของสามีอีกเพียง 3 วัน เธอก็ตรวจพบเชื้อดังกล่าว ในขณะที่เธอเองยังออกมาแถลงอีกว่าลูกๆ ทั้งสองของเธอนั้นปลอดภัยดี

 

นอกเหนือจากการที่พวกเขาเป็นคนบันเทิงที่ลุกขึ้นมาแถลงการณ์การติดเชื้อของตัวเองเพื่อเฝ้าระวังคนอื่นๆ แล้ว เรื่องนี้ยังเป็นการตั้งคำถามกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอีกว่า เหตุใดตัวเลขของผู้ติดเชื้อถึงไม่ตรงตามที่แถลง และมีคนอีกจำนวนมากน้อยแค่ไหนที่ยังไม่ได้เข้าการรับตรวจ พวกเขาอาจไม่รู้ตัวเหมือนเคสของแมทธิวที่เขารีบจัดการตัวเองในทันที และความรู้ความเข้าใจของคนในสังคมที่มีต่อโรคนี้นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งล้วนนับเป็นโจทย์ยากที่ภาครัฐเองต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนทุกคน

 

Photo: Instagram @chermarn

 

ความตื่นรู้ที่เกิดขึ้นในวงกว้าง

ในวันแรกที่นักแสดง-พิธีกร แมทธิว ดีน ออกมาแถลงเรื่องโควิด-19 ของตัวเองผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว และเขายังได้บอกกับทุกๆ คนที่ได้ร่วมงานกับเขาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนหน้า ซึ่งตรงนี้นับเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้บุคลากรในวงการบันเทิงคนอื่นๆ เริ่มตื่นตัว เพราะในระยะเวลาก่อนหน้านั้น แมทธิวเองก็เดินทางไปพบผู้คนจำนวนมาก แต่ด้วยความรู้ความเข้าใจเรื่องโควิด-19 ยังไม่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นในวันแรกที่โควิด-19 เข้ามาในวงการบันเทิง เราจึงได้เห็นกรณีของนักแสดงอย่าง หนูเล็ก-ภัทรวดี ปิ่นทอง ที่ถ่ายคลิประบายความกลัวทั้งน้ำตาของเธอออกมาในวันนั้น ก่อนที่ก่อหวอดเป็นเรื่องดราม่าระหว่างเธอกับผู้ชมและบุคคลร่วมวงการว่ามันเป็นเรื่องที่ ‘too panic’ หรือตื่นตระหนกไปหรือไม่ 

 

แต่ทั้งนี้เราเข้าใจได้จริงๆ ว่า ทำไมหนูเล็กถึงรู้สึกหวาดกลัว หนึ่ง เธออาจจะกังวลเรื่องลูกน้อยของเธอที่ยังเด็กและอาจติดเชื้อได้ และ สอง ความเข้าใจในเรื่องโควิด-19 ยังไม่ชัดเจนมากพอใน ณ เวลานั้นที่จะทำให้คนไม่รู้สึกตระหนกขนาดนี้ได้ โดยในปัจจุบันมีศิลปิน-นักแสดงหลายๆ คนที่ออกไปตรวจเชื้อโควิด-19 กันมากมาย และอยู่ในช่วงระยะการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังอาการกันด้วย ทั้ง ดีเจนุ้ย ธนวัฒน์, แมน พัฒนพล, ใบเตย สุธีร์วัน, พลอย เฌอมาลย์, แต้ว ณฐพร ฯลฯ แต่เคสที่น่าสนใจที่สุดคงจะเป็นนักแสดง ณัฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ใกล้ชิดกับแมทธิวในช่วงระยะเวลานั้น เขาเลือกที่จะกักบริเวณตัวเองอยู่แต่ในบ้านทันที เพื่อระแวดระวังว่า 14 วันหลังจากนั้น เขาจะไม่ออกอาการ ซึ่งก็เป็นความสบายใจหนึ่งที่เขาเลือกที่จะรับผิดชอบต่อสังคม

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

#YESICAN สืบเนื่องจากโพสที่แล้ว

A post shared by Niti Chaichitathorn (@theniti) on

 

เมื่อคนบันเทิงลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน

ไม่ว่าจะด้วยความตื่นตระหนก ความหวาดกลัว หรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 นี้ สิ่งหนึ่งที่เราพอมองเห็นคือการที่คนบันเทิงกลุ่มหนึ่ง ต่างลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันในเรื่องง่ายๆ เช่น การเปิดพื้นที่อินสตาแกรมส่วนตัว หรือพื้นที่โซเชียลมีเดียส่วนตัวของพวกเขา ให้ทุกคนได้เข้าไปพูดคุย หรือ ‘ฝากร้าน’ ซึ่งถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พอช่วยเหลือกันได้ เช่นในอินสตาแกรมของ ป๋อมแป๋ม-นิติ ชัยชิตาทร หรือ มายด์-ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล แม้ว่าเราจะไม่สามารถตอบได้จริงๆ ว่ากิจกรรมนี้มีส่วนช่วยภาคเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุด นี่อาจเป็นวิธีการติดต่อสื่อสารที่ช่วยเหลือกันได้ ในช่วงที่ทุกคนต้องมี Social Distancing ต่อกัน

 

และนอกจากนี้ยังมีแคมเปญที่ชื่อว่า #YESICAN ที่เหล่านักแสดงในวงการบันเทิงไทยร่วมมือกันแชร์คลิปวิดีโอเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ให้แฟนๆ ผู้ติดตามพวกเขาในทุกๆ ช่องทางได้ร่วมกันชม โดยเป็นคลิปวิดีโอสัมภาษณ์คุณหมอเกี่ยวกับการระบาดของโรค เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

อยากให้ได้ดู 6 นาทีนี้รู้เรื่อง! ดูแลตัวเองกันนะคะ 💪🏻#yesican

A post shared by arachaporn’s (@goyyog) on

 

ผลกระทบ ความรับผิดชอบ และนโยบายการทำงาน

ล่าสุดวันนี้ (17 มีนาคม) ทางรัฐบาลได้มีการประกาศมาตรการในการควบคุมภาวะโควิด-19 ด้วยการประกาศปิดสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเวลา 14 วันหลังจากนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะโรงภาพยนตร์ หรือเหล่าศิลปินที่ต้องแสดงโชว์ตามสถานบันเทิงต่างๆ ซึ่งนี่เป็นผลกระทบที่เห็นได้ชัดที่สุดถึงการสูญเสียรายได้ แต่ก็เพื่อความปลอดภัยและการไม่ ‘แพร่’ เชื้อในสถานที่ที่ค่อนข้างเบียดเสียด

 

 

ก่อนหน้านี้ทางค่ายนาดาวบางกอก หรือ What The Duck เองก็ได้มีการร่อนจดหมายเปิดผนึกไปถึงแฟนๆ ของศิลปินถึงนโยบายของการไปตามชมงานของศิลปินว่าควรมีระยะห่าง ไม่เข้าใกล้ชิดจนเกินไป และสวมหน้ากากอนามัยขณะชมโชว์ ส่วนทางด้านนาดาวบางกอก ก็เลือกที่จะไม่ส่งศิลปินในค่ายไปร่วมงานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่นเดียวกับสังกัดช่อง One31 ที่เลือกให้ศิลปินและนักแสดงในค่ายหยุดภารกิจการเดินสายทำงานทันที

 

นอกจากนี้มีงานบันเทิงอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องเลื่อนไป ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต หรือภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เองก็ด้วย สามารถย้อนไปอ่านได้ที่นี่ อัปเดตวิกฤต #โควิด19 หนังไทยและคอนเสิร์ตไหนเลื่อนไปแล้วบ้าง

 

 

หันกระบอกเสียงส่งคำถามไปถึงรัฐ

นอกเหนือจากเรื่องภาคบุคคลแล้ว ยังมีนักแสดงหลายต่อหลายคนที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสถานการณ์ดังกล่าวต่อภาครัฐ ทั้งการรับมือ แนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงการตั้งคำถามแทนสังคมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เช่น ในกรณีของ บอม-ธนิน มนูญศิลป์ นักแสดงที่มีการทำงานร่วมกับแมทธิวในช่วงหนึ่ง ทันทีที่แมทธิวออกมาแถลงเรื่องการติดเชื้อของเขา บอมเองก็เป็นนักแสดงคนแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาเฝ้าระวัง และออกไปตรวจเชื้อทันที

 

 

 

 

แม้ว่าผลจะออกมาเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) แต่เขาก็ยังเฝ้าระวังกักตัวเองอีก 14 วัน ก่อนที่เขาจะทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว ตั้งคำถามกับ ‘ราคา’ ของการตรวจเชื้อที่ค่อนข้างแพงว่า “วันนี้ผมไปตรวจโควิด-19 มา คุณหมอบอกว่าผลการตรวจจะได้พรุ่งนี้ประมาณเที่ยง แต่ที่ตกใจคือค่าตรวจ 7,500 บาท ผมไม่มีปัญหาหรอก แต่แอบคิดว่ามันแพงไป ทุกคนคิดว่าอย่างไรครับ” หรือการออกมาตั้งคำถามของ ต้นหอม ศกุนตลา ที่ถามไปถึงนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเพื่อประชาชนทุกคน

 

 

 

 

Photo: Instagram @bomb_tanin

 

ซึ่งนี่เป็นหนึ่งปัญหาที่สังคมเองก็ตั้งคำถาม แต่เนื่องด้วยบุคลากรและวิธีการตรวจเชื้อที่เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน นี่อาจเป็นราคาที่รัฐต้องเข้ามามีบทบาทหรือไม่ โดยล่าสุดได้มีข้อสรุปแล้วว่า หากตรวจพบเจอเชื้อโควิด-19 ประชาชนจะได้รับการดูแลและการรักษาฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามคำบอกเล่าของศูนย์ป้องกันโควิดที่ทางรัฐบาลจัดตั้งขึ้น

 

ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายขึ้นอย่างไร เราขอให้คุณดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ หมั่นล้างมือให้สะอาด ติดตามข่าวสาร และหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมาก และเราขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันให้ได้ในเร็ววัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X