×

วิเคราะห์ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยหลังโหวตเลือกนายกฯ รอบแรก ห่วงเกมการเมืองลากยาวกระทบการเติบโต ต่างชาติหอบเงินหนี-ชะลอแผนลงทุน

14.07.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • ผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกเริ่มสะท้อนให้เห็นฉากทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าของไทยมากขึ้น แม้ว่าความไม่แน่นอนต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง
  • ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจทำให้ไทยไร้งบลงทุนใหม่หลายไตรมาสติดต่อกัน และต้องฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เดี่ยวในการขับเคลื่อน GDP 
  • ความไม่แน่นอนและเกมการเมืองที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน เสี่ยงทำให้นักลงทุนต่างชาติหอบเงินหนีไปประเทศอื่น ปิดตำนานฉายา ‘เทฟลอนไทยแลนด์’ 
  • ภาคเอกชนวอนทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ เร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้ได้โดยเร็วที่สุด ก่อนภาคธุรกิจและนักลงทุนหมดความเชื่อมั่น เชื่อการชุมนุมยังไม่กระทบภาพรวมของเศรษฐกิจ

แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยยังคงเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน ภายหลังจากผลการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลจะต้องยืดเยื้อออกไปอีก 

 

สถานการณ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลของไทยที่ยังไม่มีความชัดเจน ได้สร้างความกังวลต่อการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและการจัดทำงบประมาณปี 2567 ขณะเดียวกันยังส่งผลในเชิงจิตวิทยาต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

เจาะฉากทัศน์เศรษฐกิจหลังโหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research ระบุว่า ผลโหวตนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้สะท้อนว่า ฉากทัศน์ หรือ Scenario ที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลคงมีโอกาสเกิดได้ยากขึ้น จากการที่ ส.ว. ได้ส่งสัญญาณปิดสวิตช์ตัวเอง ทำให้ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ถัดมาคือ การสลับให้พรรคเพื่อไทยเสนอแคนดิเดตของตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล กับอีกหนึ่งฉากทัศน์คือพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปตั้งรัฐบาลกับกลุ่มรัฐบาลเดิม โดยมีก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

 

พิพัฒน์ประเมินว่า ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทยและยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล การขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงมาตลอด เช่น นโยบายภาษีและสวัสดิการต่างๆ จะถูกผลักดันได้ยากขึ้น เพราะพรรคก้าวไกลไม่ได้นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูว่าตำแหน่งรัฐมนตรีคลังและกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญจะถูกจัดสรรอย่างไรระหว่างสองพรรค

 

“ถ้าการตั้งรัฐบาลใหม่ออกมาในรูปแบบนี้ นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ อาจถูกเจือจาง หรือ Dilute ลงมา โดยโฟกัสอาจจะไปอยู่ที่การผลักดันวาระทางการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่หลัง ส.ว. หมดวาระในปีหน้า แต่ในกรณีที่เพื่อไทยข้ามขั้ว นโยบายแบบก้าวไกลก็จบ ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น นโยบายทางเศรษฐกิจอาจออกมาคล้ายรัฐบาลเดิม หรือเป็นแนวทางของเพื่อไทยแบบชัดเจน” พิพัฒน์กล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ฉากทัศน์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ยังมีโอกาสน้อย คือ มีการยื้อเวลาจัดตั้งรัฐบาลไปเรื่อยๆ จนกว่า ส.ว. จะหมดอายุ หรือเกิดความวุ่นวาย มีการประท้วงที่รุนแรง ซึ่งในกรณีที่ 2 เหตุการณ์ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

 

ไร้งบลงทุนใหม่ 3 ไตรมาสติดต่อกัน

 

พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ไม่ว่าบทสรุปของการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาเป็นฉากทัศน์ใด สิ่งที่เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญคือ ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจกินเวลาถึงช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้ากว่าจะแล้วเสร็จ ทำให้แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากงบลงทุนใหม่ๆ และการกระตุ้นทางการคลังจะหายไปเป็นเวลาหลายเดือน

 

“โดยปกติแล้วการจัดทำงบจะเริ่มในเดือนมิถุนายน และใช้เวลา 2 เดือนครึ่งในการผ่านกฎหมายก่อนจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคม แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้รัฐบาลใหม่ และคาดว่ากว่าจะจัดตั้งได้คงเป็นช่วงปลายเดือนกันยายน จากนั้นรัฐบาลใหม่ต้องใช้เวลาเพื่อรีวิวงบใหม่ทั้งหมด ทำให้อย่างเร็วที่สุดการจัดทำงบประมาณจะแล้วเสร็จคงเป็นไตรมาสแรกของปีหน้าหรืออาจลากไปถึงไตรมาสที่ 2” พิพัฒน์กล่าว

 

ผู้บริหาร KKP Research ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลคือการที่เศรษฐกิจไทยต้องขับเคลื่อนไปโดยไม่มี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ถึง 3 ไตรมาส เพราะแม้ว่ารัฐธรรมนูธจะกำหนดให้สามารถใช้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของปีก่อนไปได้พรางก่อน ทำให้การเบิกจ่ายงบประจำ เช่น เงินเดือนข้าราชการยังทำได้ แต่การอนุมัติงบลงทุนใหม่ๆ หรือการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่สามารถทำได้

 

“การกระตุ้นทางการคลังคงไม่ต้องหวังเลยในปีนี้ อย่างไรก็ดี เรายังมองว่าการท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้ แต่ในระยะยาวเมื่อการท่องเที่ยวกลับไปสู่จุดเดิมแล้ว เราต้องคิดเช่นกันว่าจะสร้างเครื่องยนต์ใหม่ๆ มาช่วยขับเคลื่อน GDP ได้อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่ เพราะหากเราไม่ทำอะไร เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ แห้งเหี่ยว แม้แต่การโตที่ระดับ 3% ยังอาจเป็นเรื่องยาก” พิพัฒน์กล่าว

 

เทฟลอนเริ่มลอก

 

พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยในเวลานี้ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดทุนและตลาดพันธบัตร รวมถึงการลงทุนทางตรง (FDI) ซึ่งส่วนหนึ่งเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้ และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่กลับเข้ามาซื้อใหม่

 

“กลุ่มนักลงทุนที่มีประสบการณ์กับตลาดไทยจะคุ้นเคยกับความวุ่นวายทางการเมือง แต่คนที่ยังไม่ชินอาจมองว่ามีความซับซ้อนเกินไป ซึ่งหากเทียบสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่เราเคยได้รับฉายาว่าเป็นเทฟลอนไทยแลนด์ คือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังโตได้ ต้องบอกว่าขณะนี้มันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เราไม่ได้น่าดึงดูดเหมือนเก่า นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้น หากการเมืองไทยยืดเยื้อ เขาจะเลือกไปที่อื่นแทน” พิพัฒน์กล่าว

 

ห่วงการเมืองทำไทยเสียโอกาส

 

ขณะที่ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากความไม่แน่นอนของการเมืองในระยะสั้นว่า อาจทำให้ไทยเสียโอกาส โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่กำลังพิจารณาว่าจะตั้งฐานการลงทุนที่ใด

 

ขณะเดียวกันต้องติดตามว่าปัจจัยการเมืองจะลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4 หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เพราะไตรมาส 4 เป็นไฮซีซันของการท่องเที่ยวและการบริโภค รวมทั้งการใช้จ่ายงบประมาณที่ทำได้ไม่เต็มที่

 

ในมุมของธุรกิจควรให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. การตุนสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดให้พร้อม เพื่อรับมือกับช่วงเวลาของความไม่แน่นอน
  2. อย่ามองเพียงแค่ปัญหาระยะสั้น แต่ควรมองว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงที่เป็นนโยบายหลักของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย 

 

“สำหรับ SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งการเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดรับกับต้นทุนที่สูงขึ้นและเตรียมความพร้อมเรื่องของเครื่องจักร เพื่อชดเชยต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปเราจะสามารถเติบโตได้กับเศรษฐกิจยุคใหม่” อมรเทพกล่าว

 

เตือนตั้งรัฐบาลช้ากระทบความเชื่อมั่น

 

ในวันเดียวกัน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ความเห็นว่า จากผลการลงคะแนนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา หอการค้าไทยเชื่อว่า กระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยในทางรัฐสภาได้พยายามเดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว

 

ทั้งนี้แม้ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถผ่านการลงคะแนนได้ในครั้งแรก แต่ก็ยังมีไทม์ไลน์ครั้งที่ 2-3 ตามที่มีกำหนดออกมาเบื้องต้นในวันที่ 19 และ 20 กรกฎาคม โดยหลังจากนี้ทั้ง 8 พรรคร่วมคงจะกลับไปทำความเข้าใจและเจรจาพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกันใหม่อีกครั้ง และคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด 

 

สำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนภายใต้กฎหมายที่สามารถทำได้ และวันนี้เห็นแล้วว่าทุกฝ่ายต่างยอมรับและเคารพในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเชื่อว่าในระยะสั้นการชุมนุมจะอยู่บนพื้นฐานของความเรียบร้อย ไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่าสามารถเติบโตได้ทั้งปี 3-3.5%

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินสถานการณ์ แต่หอการค้าฯ ยังคงเชื่อว่า หลังจากนี้จะมีกระบวนการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน ในที่สุดทุกฝ่ายจะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ และสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด 

 

“หากได้รัฐบาลล่าช้าออกไป การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการประกาศนโยบายต่อรัฐสภา อาจเกิดขึ้นช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และกว่าจะจัดทำงบประมาณแล้วเสร็จอาจได้เริ่มใช้งบประมาณประเทศในไตรมาส 2 ปี 2567 ซึ่งจะล่าช้าและกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศ 

 

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเอกชนจึงอยากให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่รวดเร็วที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” สนั่นกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X