×

ปลายอุโมงค์ยังไร้แสง! เศรษฐกิจไทยเสียหายแค่ไหน หากถดถอยซ้ำซ้อน กลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่ GDP ส่อติดลบ 2 ปี

09.08.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะ ‘ถดถอยซ้ำซ้อน’ จากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังคุมไม่อยู่จนต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ยาวนานขึ้นหรืออาจต้องเข้มข้นมากขึ้น
  • ปีนี้มีความเสี่ยงสูงที่ ‘จีดีพี’ จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สอง กลายเป็นไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องกันถึงสองปี ส่งผลให้แผลเป็นเศรษฐกิจลุกขึ้น ความเชื่อมั่นลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงการลงทุนภาคเอกชน
  • เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ มีความเสี่ยงที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออาจปรับลด Outlook เศรษฐกิจไทยลงมา
  • การจะดึงให้ไทยหลุดพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ได้ ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดโดยทำพร้อมกับการปูพรมฉีดวัคซีน และการนำเข้าวัคซีนต้องเปิดทางให้ทุกฝ่ายที่มีศักยภาพในการนำเข้า สามารถนำเข้ามาได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

แม้รัฐบาลจะใช้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ และ ‘เคอร์ฟิว’ มาแล้วร่วม 1 เดือน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ยังคงแตะระดับ 2 หมื่นรายต่อวันอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่า ‘ภาครัฐ’ ยังไม่สามารถ ‘ควบคุม’ การแพร่ระบาดได้อย่างอยู่หมัด ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง หรืออาจต้อง ‘ยกระดับ’ การล็อกดาวน์ให้เข้มข้นมากขึ้น 

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยคงจะเลวร้ายลงต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับภาวะ ‘ถดถอยซ้ำซ้อน’ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้น GDP ในปีนี้ ‘หดตัว’ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำภาพที่ชัดเจนว่าวิกฤตในครั้งนี้ เรายังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย

 

คำถามคือ การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยซ้ำซ้อน แถมยังอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ GDP หดตัวติดต่อกันถึง 2 ปี ประเด็นเหล่านี้จะส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง แล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อจะดึงให้ไทยหลุดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้เร็วที่สุด

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

 

EIC มองเศรษฐกิจไทยถดถอยซ้ำซ้อน ทำแผลเป็นลึกขึ้น จำนวนบริษัทผีดิบพุ่ง

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากที่เผชิญภาวะดังกล่าวมาแล้วในช่วงไตรมาส 3 ปี 2019 ถึงไตรมาส 2 ปี 2020 

 

การเข้าสู่ภาวะถดถอยในรอบใหม่นี้จึงถือเป็น Double-dip Recession (ภาวะถดถอยซ้ำซ้อน) ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้คน การจ้างงาน และการใช้จ่ายที่ค่อนข้างมาก

 

อย่างไรก็ตาม EIC ยังไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยปัจจุบัน EIC ยังคาดการณ์ว่าทั้งปี GDP น่าจะขยายตัวได้ราว 0.9% แต่หากการระบาดต้องใช้การควบคุมนานกว่าที่คาด หรือรุนแรงจนทำให้เกิด Supply Disruption ต่อห่วงโซ่การผลิตของภาคส่งออกหรือภาครัฐใส่เม็ดเงินน้อยกว่าสมมติฐาน ก็มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาด หรืออาจต่ำกว่าศูนย์ได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ยังเชื่อว่าภาครัฐมีวงเงินใช้จ่ายเพียงพอ ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะออกมาตรการเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบในปีนี้ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วและประสิทธิภาพของมาตรการที่ออกมาด้วย 

 

“ถ้าเศรษฐกิจไทยในปีนี้หดตัวจริง จะทำให้เราอยู่ในกลุ่มประเทศส่วนน้อยที่หดตัว 2 ปีซ้อน เนื่องจากเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีแนวโน้มขยายตัวในปีนี้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำ โดยจากข้อมูลของ Bloomberg Consensus Forecast พบว่า มีเพียงเวเนซุเอลาและเลบานอนเท่านั้นที่นักวิเคราะห์ประเมินว่า เศรษฐกิจจะหดตัว 2 ปีติดต่อกัน”

 

ยรรยง กล่าวด้วยว่า ถ้าในปีนี้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สองจะทำให้แผลเป็นทางเศรษฐกิจลึกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจที่การปิดกิจการและจำนวนบริษัทผีดิบ (Zombie Firm หรือบริษัทที่มีผลิตภาพต่ำ ขาดความสามารถในการทำกำไร) จะมีเพิ่มขึ้น การเปิดกิจการใหม่จะลดลง ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น และภาระหนี้ของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs จะปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจต้องใช้เวลามากขึ้นประมาณครึ่งหลังของปี 2023 กว่าจะกลับไปมีระดับ GDP เท่ากับปี 2019 และยังจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลางด้วย

 

ส่วนความเสี่ยงที่ว่าหากเศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงต่อเนื่องจะทำให้บริษัทจัดอันดับเรตติ้งต่างๆ ปรับเรตติ้ง หรือปรับมุมมอง (Outlook) ทางเศรษฐกิจของเราลงหรือไม่นั้น ยรรยงกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ยังต้องติดตามดูว่าถ้าเศรษฐกิจไทยหดตัว 2 ปีต่อกันจริง ปัจจัยลบระยะสั้นเหล่านี้จะส่งผลให้ความเสี่ยงเชิงโครงสร้างเพิ่มขึ้นแค่ไหน 

 

ในกรณีแรกแม้เศรษฐกิจไทยจะติดลบปีนี้ แต่เราคุมการระบาดจากการฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ในไตรมาสแรกของปีจนเศรษฐกิจกลับมาได้ ก็เชื่อว่าความเสี่ยงของการปรับลดเรตติ้งจะลดลงด้วย

 

แต่หากเป็นกรณีที่เรายังไม่สามารถควบคุมโรคได้ หรือมีการระบาดระลอกใหม่จากสายพันธ์ใหม่ๆ อีกในปีหน้า บวกกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองปะทุขึ้นรุนแรงอีกครั้ง ก็อาจทำให้เศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่อง รายได้ภาครัฐลดลง และ Cushion ด้านต่างๆ ปรับน้อยลงอีก ในกรณีนี้ก็อาจทำให้มีโอกาสที่บริษัทเครดิตเรตติ้งอาจปรับลด Outlook หรือเรตติ้งของไทยได้เช่นกัน

 

ยรรยงกล่าวด้วยว่า หากดู Credit Default Swap (CDS) ของไทยในช่วงหลัง พบว่าก็ยังทรงตัว ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่าตลาดยังไม่ได้กังวลสถานการณ์ในไทยว่าจะปรับเลวร้ายจนถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร 

 

KKP Research ห่วงต้นทุน ‘รีสตาร์ท’ แพงขึ้นหาก ‘GDP’ ติดลบ 2 ปีซ้อน จี้ปูพรมฉีดวัคซีน ดึงไทยหลุดบ่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

ด้าน พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ซึ่งจะมาจาก 2 ปัจจัย คือ
1. การล็อกดาวน์นานกว่าที่ประเมินไว้
2. การติดเชื้อเริ่มลามเข้าสู่ภาคการผลิต จนทำให้การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ชะงักลง

 

“ตอนนี้เรามองว่าจะล็อกดาวน์นาน 3 เดือน แต่ถ้าเคสผู้ป่วยใหม่ยังขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะยาวกว่านี้ และที่ต้องจับตาคือ จะนำไปสู่การล็อกดาวน์ที่เข้มข้นเหมือนกับในต่างประเทศหรือไม่ รวมทั้งจะมีการระบาดไปสู่คลัสเตอร์การผลิตจนส่งผลกระทบแค่ไหน ซึ่งเวลานี้เรามองว่าหากภาคการผลิตต้องปิดลง 20% ของกำลังการผลิตทั้งหมดนาน 1 เดือน ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวราว 0.8%”

 

เขากล่าวด้วยว่า ถ้าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังคงตัวลงต่อเนื่อง ก็จะถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ GDP ติดลบ 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เพราะจะทำให้ต้นทุนการรีสตาร์ทเศรษฐกิจสูงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพไปอีกระยะ

 

“อย่าลืมว่าอะไรที่หยุดไปนานๆ แล้วจะกลับมาใหม่มันไม่ง่าย จะมีต้นทุนที่สูงมาก เช่น โรงแรมถ้าปิด 3 เดือน การเรียกพนักงานที่เป็นงานกลับมาใหม่ก็อาจไม่ยากนัก แต่ถ้าต้องปิดไปนานถึง 2 ปีถามว่าพนักงานเหล่านั้นเขาไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ เราก็ต้องมาเสียเวลาเทรนด์งานกันใหม่อีก เศรษฐกิจก็เหมือนกันที่คนกังวล คือการที่เราเติบโตต่ำกว่าศักยภาพนานๆ มันมีต้นทุนในการดึงกลับค่อนข้างสูง กลายเป็นว่าเราเองก็อาจจะเติบโตต่ำกว่าศักยภาพไปอีกระยะด้วย”

 

นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจเติบโตช้าหรือไม่เติบโตเลยจะทำให้เส้นความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น เพราะปกติแล้วการขยายตัวของเศรษฐกิจจะทำให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศโดยรวมดีขึ้น 

 

ซึ่งสถานการณ์ที่เราเจอวันนี้ คือเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่ธุรกิจขนาดใหญ่หรือคนรวยไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะถ้าดูกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเห็นว่ายังขยายตัวได้ดี ดังนั้นตัวเลขเศรษฐกิจที่หดตัวในระดับ 6.1% เมื่อปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ารายได้ของคนจำนวนมากติดลบ และติดลบเยอะด้วย 

 

พิพัฒน์กล่าวว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้เร็วขึ้น ต้องทำใน 3 เรื่องหลัก คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เปิดเมืองได้เร็วขึ้น ซึ่งในระหว่างนี้อาจจำเป็นต้องล็อกดาวน์เพื่อหยุดเชื้อ และทำควบคู่กันกับการปูพรมฉีดวัคซีน ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นทางออกที่ยังยืนสุดเหมือนกับที่อังกฤษทำ และดีกว่าการเปิดๆ ปิดๆ เมือง เพราะถ้าเราทำแบบนี้ต่อไปอีก 1 ปี อย่างไรเศรษฐกิจก็พัง

 

“ในระหว่างที่ปิดเมืองรัฐต้องเยียวยาอย่างเต็มที่ ต้องทำให้คนมีกิน เพราะไม่เช่นนั้นผู้คนก็จะไม่ล็อกดาวน์ตัวเอง ก็ในเมื่อเขาไม่มีกินก็ต้องดิ้นรนออกไปทำงานหารายได้ ดังนั้นหากรัฐต้องเยียวยาเต็มที่เพื่อให้เขาล็อกดาวน์ตัวเอง”

 

พิพัฒน์ยังกล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% อีก 2 เสียงเสนอให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% โดยมีหนึ่งเสียงที่ลาประชุมว่า มติดังกล่าวสะท้อนว่าประตูการลดดอกเบี้ยยังไม่ได้ถูกปิดลง และโดยส่วนตัวก็คิดว่าการลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยเศรษฐกิจได้บ้างแม้จะไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

 

เขากล่าวว่า จริงอยู่ประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนที่พอมีศักยภาพในการลงทุน กล้าที่ลงทุนโดยมีต้นทุนที่ต่ำลง หรือช่วยให้เขาอยากลงทุนเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมา กนง. มักบอกเสมอว่าอยากเก็บกระสุนเอาไว้ใช้ยามจำเป็น ตอนนี้คิดว่าเป็นสถานการณ์ที่จำเป็นแล้ว

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย 

 

ห่วง ‘GDP’ โตต่ำนาน กดดันบริษัทจัดเรตติ้งปรับลด Outlook เศรษฐกิจไทย

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยังไม่มองถึงขั้นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายตัวต่ำกว่า 1% ถ้ายังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด และต้องล็อกดาวน์ยาวถึงไตรมาส 4 ทำให้การเปิดประเทศต้องล่าช้าออกไป

 

“ที่เรายังไม่มองถึงขั้นติดลบ เพราะเชื่อว่าภาคการส่งออกน่าจะเข้ามาช่วยประคองไว้ แต่ถ้าการระบาดลามไปสู่ภาคการผลิตจนทำให้โรงงานหลายๆ แห่งต้องปิดชั่วคราวเพราะคนงานติดเชื้อ กรณีนี้ก็น่าห่วงเช่นกัน เพราะแม้ต่างประเทศเขาฟื้นมีดีมานด์ แต่เราผลิตไม่ได้ ก็คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเราเหมือนกัน”

 

อย่างไรก็ตามแม้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะมองว่าเศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวได้อยู่ แต่การที่ขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่องก็มีความเสี่ยงที่ไทยอาจเผชิญกับการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับเรตติ้งต่างๆ ได้เช่นกัน ซึ่งการปรับลดที่ว่านี้อาจจะไม่ถึงขั้นถูกหั่นเรตติ้งลง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปรับลดมุมมอง (Outlook) ทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) 

 

ส.อ.ท. ห่วงความน่าเชื่อถือถูกบั่นทอน หาก ‘GDP’ ยังหดตัวต่อเนื่อง

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ถ้า GDP ของไทยในปีนี้ไม่เติบโตเลยจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศลำบากมากขึ้น เพราะความน่าสนใจในการลงทุนจะลดลง ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

 

“ปีที่แล้วเศรษฐกิจหลายประเทศติดลบเหมือนกันหมด แบบนี้ยังไม่เป็นไร แต่ปีนี้หากเราติดลบอยู่คนเดียวก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของเราถูกบั่นทอนลงด้วย ความน่าสนใจในการลงทุนก็ลดลงตามไปด้วย”

 

เขากล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงสุดในเวลานี้ คือการระบาดของโรคโควิดลามไปยังภาคการผลิต ซึ่งเวลานี้ก็เริ่มเห็นบ้างแล้ว หากมีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการผลิต ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคการส่งออกของไทย ก็มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบเป็นปีที่สองติดต่อกัน

 

ทั้งนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือติดลบ 1.5% ถึง 0% หรือไม่เติบโตเลย

 

สุพันธุ์กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยเร่งออกจากวิกฤติครั้งนี้ได้ คือการเปิดทางให้ภาคเอกชนสามารถจัดหาและนำเข้าวัคซีนได้เองโดยไม่ต้องรอพึ่ง G to G เพราะเวลานี้เรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม ดังนั้นถ้าหาวัคซีนจากที่ไหนได้ก็ควรต้องเร่งนำเข้ามา

 

“เรากำลังอยู่ในภาวะสงคราม จะมัวแต่ให้เป็น G to G แล้วปล่อยให้คนตายได้อย่างไร ต้องรีบแก้สถานการณ์ อย่ามัวแต่อิงระบบสากล ต้องทำให้ประเทศรอด และวัคซีนก็ไม่จำเป็นต้องมีแค่ 4-5 ยี่ห้อ อันไหนที่ WHO รับรองแล้ว เราก็ควรรีบรับรองด้วย ไม่ต้องรอหลักฐานเอกสาร เรื่องวัคซีนในต่างประเทศมีคนกลางที่คอยหาซื้อให้ได้อยู่แล้ว”

 

นอกจากนี้สุพันธุ์ยังกล่าวถึงการอ่อนค่าของเงินบาทด้วยว่า กำลังซ้ำเติมภาคธุรกิจไทย เพราะเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วทำให้บางธุรกิจปรับตัวไม่ทัน สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ คือค่าเงินบาทที่สอดคล้องกับภูมิภาคและไม่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X